สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ปี 2017 คนจบปริญญาตรี ตกงานมากที่สุด

UploadImage



แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการผลักดันให้คนในประเทศมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ทุกรัฐบาลต่างให้การสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มที่ กระทรวงศึกษาธิการเองก็เป็นหนึ่งในกระทรวงที่ได้รับงบประมาณในแต่ละปีมากที่สุด แต่ดูเหมือนการศึกษาที่สูงขึ้นจะไม่ช่วยอะไร เมื่อสถิติล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รายงานว่าคนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี มีอัตราการว่างงานสูงกว่าคนที่จบการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่า ถือเป็นเรื่องน่าแปลก และชวนให้ตั้งคำถามว่าในขณะที่อัตราการเกิดที่ลดลง และระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้น กลับไม่ช่วยให้อัตราการว่างงานของคนในประเทศลดลงเสียอย่างนั้น และสิ่งเหล่านี้กำลังจะบอกเราว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่?
 

สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยถึงจำนวนผู้ว่างงานในเดือนมกราคม 2016 มีประมาณ 347,000 คน และกลายเป็น 449,000 คน ในเดือนมกราคม 2017 นั้นหมายถึงมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 คน ในระยะเวลาเพียง 1 ปี เป็นการเพิ่มขึ้นของคนว่างงานที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุด ขณะที่คนในภาคอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงที่สุด และคนหันหลังเลิกทำการเกษตรกันมากที่สุด ทำให้ภาคการเกษตรมีจำนวนคนทำงานน้อยลงมากที่สุด


 
UploadImage



แต่สิ่งที่เราจะโฟกัส และให้ความสนใจกัน คือ อัตราว่างงานเปรียบเทียบกันระหว่างระดับการศึกษา จากสถิติเดียวกันนี้เองเราพบว่า ยิ่งระดับการศึกษาสูงขึ้นเท่าไหร่ การว่างงานก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น ในจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด ประมาณ 449,000 คน เราพบว่า เป็นคนที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุด ประมาณ 160,000 คน ลดหลั่นกันลงไป


อย่างไรก็ตาม ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ THE MOMENTUM ว่าอัตราการว่างงานที่ประมาณ 100,000 คนนั้น แท้จริงแล้วอาจไม่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติการว่างงานในประเทศได้จริงๆ ในเมื่อคนรุ่นใหม่หันมาสนใจการทำงานอิสระ และการเป็นเจ้าของกิจการกันมากกว่าการทำงานประจำ




 
“ตัวเลข 100,000 คนนั้นหมายถึงคนที่พยายามหางานทำแต่ไม่มีงานทำหรือเปล่า หรือบางส่วนอาจจะไม่ได้หางานทำ เพราะทำงานอิสระ หรือรับจ้างหลายงาน และตัวเลข 100,000 คนอาจยังไม่ได้ชี้ชัดรุนแรงมากนักว่า ประเทศไทยประสบปัญหาคนหางานทำไม่ได้”
 



ในขณะที่คนจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเองแท้จริงแล้วอาจไม่ได้ว่างงานจริงๆ แต่เป็นการว่างงานจากการต้องยอมทำงานที่ไม่ตรงกับระดับการศึกษา ด้วยไม่มีทางเลือกในการหางาน และตลาดไม่ได้ต้องการคนที่มีทักษะแบบเก่า เนื่องจากการศึกษาที่พัฒนาได้ช้าของประเทศ ทำให้บางหลักสูตรที่ผลิตคนออกมาจำนวนมากนั้นเป็นหลักสูตรที่ล่าหลังไปแล้ว



 
“คนที่จบออกมาจะรู้ตัวว่า ทักษะและความรู้ที่ตัวเองมีไม่สามารถนำไปใช้กับงานในยุคใหม่ได้ และตรงนี้แหละครับที่เป็นโจทย์ที่สำคัญมากที่สุดในระบบการศึกษาไทยว่าจะทำอย่างไรให้บัณฑิตมีความคล่องตัว มีทัศนคติที่จะปรับตัวเอง”
 



ด้วยเหตุนี้เองทำให้เราเห็นว่าประเด็นสำคัญของปัญหาเหล่านี้อาจไม่ใช่ที่ระดับการศึกษา แต่เป็นที่หลักสูตรที่ผลิตคนตามความต้องการของตลาดในอดีตต่างหาก การเลือกเรียนระดับอุดมศึกษาในปัจจุบัน และอนาคตจึงมองเพียงแค่สถาบันการศึกษาเหมือนอย่างในอดีตไม่ได้อีกแล้ว ในเมื่อสาขาที่เรียน และการส่งเสริมให้นักศึกษาของสถาบันสามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี และความเปลี่ยนแปลงของโลกต่างหากที่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด





ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
THE MOMENTUM