สอบเข้ามหาวิทยาลัย

มาฝึกอ่านคำยาก พร้อมรู้ที่มาของ "วันภาษาไทยแห่งชาติ" กันเถอะ!

"ภาษาไทย" คือภาษาประจำชาติของเรา โดยพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1826 มี พยัญชนะ 44 ตัว (21 เสียง), สระ 21 รูป (32 เสียง), วรรณยุกต์ 5 เสียง (สามัญ เอก โท ตรี จัตวา) โดยไดัดแปลงมาจากบาลี-สันสกฤต และ เขมร โดยมีการปรับเปลี่ยนปรับปรุงการใช้ภาษามาโดยตลอด

ทำไมต้องเป็นวันที่ 29 กรกฎาคม?


เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน และทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย ดังตอนหนึ่งที่ว่า
 

"เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก "


ด้วยพะราชดำรัสของพระองค์ ทำให้รัฐบาลได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันสำคัญตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา
 

ภาษาไทย สำคัญกับใคร?


ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด และมีความสำคัญกับทุกคน เพราะพวกเราทุกคนคือผู้ใช้ภาษาไทย โดยภาษาของเราก็มีระดับภาษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกใช้คำและระดับภาษาก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมเช่นกัน (เพราะเราก็ไม่สามารถใช้ภาษาที่พูดกับเพื่อน ไปพูดกับคุณครูหรืออาจารย์ได้) ในส่วนของภาษาวิบัติหรือภาษาที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ก็ไม่สามารถใช้ได้ในทุกครั้งและทุกงาน ก็ต้องเลือกใช้จากกาละเทศะด้วยเช่นกัน

แต่ทั้งนี้ คนที่ให้ความสำคัญกับการสื่อสารมากที่สุดคงหนีไม่พ้น "นักสื่อสาร" ทั้งผู้ประกาศข่าว, ผู้สื่อข่าว, ผู้จัดรายการ, พิธีกร ที่ต้องพูดให้ถูกอักขระ ชัดถ้อยชัดคำ และสื่อสารให้เข้าใจไม่กำกวม.. ใครที่อยากเป็นอาชีพเหล่านี้ก็ต้องพยายามใรการฝึกพูดและออกเสียงมากกว่าคนอื่นเช่นกัน 

กลุ่มคณะและสาขาวิชาที่เหมาะสมคือทางด้าน : คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาสื่อสารมวลชน
 

คำไทยสุดฮิต.. ที่นิยมใช้ในปีที่ผ่านมา

อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่าภาษามีหลายระดับและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งมีคำใหม่เกิดขึ้นทุกวัน และคำเดิมที่มีความหมายที่เกิดขึ้นใหม่ เราลองมาดูผลการสำรวจจากกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สวนดุสิตโพล ดีกว่าว่าในรอบปีที่ผ่านมามีคำฮิตอะไรเกิดขึ้นบ้าง? 



ลำดับที่ 1 ร้อยละ 39.44 ตอบว่า 'ลำไย' หมายถึง รำคาญ
ลำดับที่ 2 ร้อยละ 36.86 'ตะมุตะมิ' หมายถึง น่ารักน่าเอ็นดู
ลำดับที่ 3 ร้อยละ 36.23 ระบุว่า 'นก' หมายถึง อ่อยเขาแต่เขาไม่เอา
ลำดับที่ 4 ร้อยละ 34.67 คำว่า 'จุงเบย' น่ารักแสดงความแอ๊บแบ๊ว
ลำดับที่ 5 ร้อยละ 34 'เท/โดนเท' หมายถึง โดนทิ้ง
ลำดับที่ 6 ร้อยละ 33.61 'อิอิ' คือ เสียงหัวเราะ
ลำดับที่ 7 ร้อยละ 30.12 'เปย์/ สายเปย์' หมายถึง ชอบจ่ายให้
ลำดับที่ 8 ร้อยละ 27.28 'เตง/ตะเอง /ตัลเอง' คือ ตัวเอง
ลำดับที่ 9 ร้อยละ 26.06 บอกว่า 'มุ้งมิ้ง' น่ารัก

ฝึกความพูดคล่อง ด้วยการอ่านคำยาก

อย่างกล่าวข้างต้น การเรียนด้านสื่อสารมวลชน การพูดคือสิ่งสำคัญ เพราะต้องพูดให้ถูกอักขระ ชัดถ้อยชัดคำ และสื่อสารให้เข้าใจไม่กำกวม โดยเฉพาะภาษาไทยที่มีทั้งพ้องรูปและพ้องเสียง และคำที่สามารถทำให้ลิ้นพันกันได้อย่างง่ายดายแล้วนั้น หากเราไม่ฝึกดีๆ ก็อาจจะพลาดได้..

เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาตินี้ Admission Premium เลยขอยกบทความที่รวมคำอ่านยากมาให้น้องๆ ได้ฝึกพูดกัน.. ลองดูกันสักหน่อยสิว่าเราจะพูดได้่อขนดไหนกัน ?

“ ข่าวด่วนจากระนองระยองยะลาที่จังหวัดระนองระยองยะลา ได้มียักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็กเพราะยักษ์เล็กจะกินข้าวกับผัดฟักแต่ฟักผัดเป็นของยักษ์ใหญ่ระนองระยองยะลาจึงได้แต่หวาดวิตกว่ายักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็กจะเข้าทำร้ายส่งทหารถือปืนไปโบกตึกเพราะปูนโบกตึกที่ทหารถือปืนแบกมานั้นอาเฮียหลีพาอาหลีเฮียไปดูผีและยานัตถุ์หมอมีแก้ฝีแก้หิด ยานัตถุ์หมอชิดแก้หิดแก้ฝี จึงกินมันติดเหงือกกินเผือกติดฟัน จึงพาบริษัทกำจัดจำกัดมหาชนให้มากำจัด โดยวิธีที่จะทำคือ ชามเขียวคว่ำเช้าชามขาวคว่ำค่ำ เพื่อเมื่อเช้ากินผัดฟักเย็นกินฟักผัด แล้วจึงบอกให้พ่อบอกกับแม่ว่าให้พี่ซึ่งเป็นน้องของคุณย่าให้หาปู่ที่เป็นทวดของคุณลุงลูกแม่ยายของอาที่อยู่ระนองระยองยะลามาช่วยด่วน "


ใครพูดไม่ผิดบ้าง.. มาแชร์กันหน่อยสิ ;)
 
ที่มา : กระทรวงวัฒนธรรม, Kapook.com, https://www.facebook.com/thestandardth