สอบเข้ามหาวิทยาลัย

"นักคณิตศาสตร์ประกันภัย" เรียนยาก คนเรียนน้อย แต่รายได้และความต้องการ สูงมาก!

คณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial Science) คือสาขาวิชาที่จะผลิต “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย” หรือ “Actuary” ผู้เชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์เพื่อประเมิน วิเคราะห์ และคาดการณ์ ผลกระทบทางด้านการเงินของความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆ ในธุรกิจประกันภัย และบทความนี้ เราจะมาแนะนำให้น้องๆ ที่รักในคณิตศาสตร์และกำลังมองหาอาชีพที่คนเรียนน้อย แต่ค่าตอบแทนและความต้องการในตลาดงานสูง ได้รู้จักอาชีพและศาสตร์ทางด้านนี้ จะน่าสนใจแค่ไหน ตามมาอ่านได้เลย


หน้าที่ของ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary)
นักคณิตศาสตร์ประกันภัย เป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์
 สถิติประยุกต์ เศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีการเงิน การบริหารธุรกิจ และโมเดลความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ เพื่อประยุกต์ใช้ใน การประเมิน วิเคราะห์ และคาดการณ์ ความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอน ที่จะส่งผลกระทบด้านการเงิน และตั้งราคาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับมนุษย์หรือเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วสร้างโปรแกรมเพื่อลดความเสี่ยงนั้น ให้กับองค์กรหรือธุรกิจประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ธุรกิจประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ การจัดการความเสี่ยงในด้านการเงิน การประกันต่อ และการจัดการกองทุนบำเน็จบำนาญ เป็นต้น

คุณสมบัติของการเป็น "นักคณิตศาสตร์ประกันภัย"
มีความสามารถทางคณิตศาสตร์และการประยุกต์ใช้
มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจ
มีความกระตือรือร้น มีเหตุผล
มีความสามารถในการตัดสินใจ 


อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในประเทศไทย 

จากพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2551 ที่กำหนดว่า บริษัทประกันต่างๆ จะต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเซ็นต์รับรอง และผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตวิชาชีพเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ต้องสำเร็จการศึกษาทางคณิตศาสตร์ประกันภัยตามหลักสูตรปริญญาตรีหรือสูงกว่า สามารถสอบผ่านวิชาที่คปภ. กำหนดจากสถาบันการศึกษาที่ก.พ. รับรอง และทำงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือสถิติที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นสมาชิกระดับเฟลโล (Fellow) ของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ คปภ. ประกาศกำหนด

นักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องมีการสอบวัดคุณวุฒิ เหมือนการสอบขอใบประกอบโรคศิลป์ของแพทย์หรือการสอบเนติบัณฑิตของนักกฎหมาย ซึ่งการสอบของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นมี 10 ขั้น เป็นการสอบตามมาตรฐานสากล ซึ่งทุกครั้งที่สอบผ่านจะได้รับเงินเดือนเพิ่มตามคุณวุฒิขั้นละ 5,000 บาท และผู้ที่สอบผ่านทุกขั้นจะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 6 ล้านบาท ทำให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยชั้นวิชาชีพเป็นที่ต้องการอย่างมาก และปัจจุบันย้งต้องอาศัยการจ้างงานนักคณิตศาสตร์ประกันภัยชั้นวิชาชีพต่างชาติอยู่บางส่วน เนื่องจากมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับนี้ในประเทศไทยน้อย 


นักคณิตศาสตร์ประกันภัย เงินเดือน
รายได้ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ล่าสุดในปี 2016 จาก JobsDB.com
ระดับเจ้าหน้าที่    ช่วงเงินเดือน  20,458 - 35,416 บาท
ระดับหัวหน้างาน  ช่วงเงินเดือน 50,8555 - 87,758 บาท
* ขึ้นอยู่กับความสามารถ ประสบการณ์ และระดับคุณวุฒิของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย


องค์กรที่สามารถทำงานได้
“นักคณิตศาสตร์ประกันภัย” ติดอันดับในกลุ่มอาชีพที่ดีที่สุดในยุโรปและอเมริกา เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง มีความก้าวหน้าชัดเจน เป็นที่ต้องการมากในตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ และยังเป็นอาชีพระดับหัวกะทิที่มีสถานะสูงในสายงานทางการเงิน สามารถเข้าทำงานได้ในบริษัทประกันภัย, สถาบันการเงิน, ธนาคารพาณิชย์, กองทุนประกันสังคม รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาอิสระให้กับองค์กรธุรกิจต่างๆ 

นอกจากนี้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิตามมาตรฐานสากลสามารถทำงานได้ทั่วโลก โดยจะต้องผ่านการสอบจากสมาคมด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยชั้นนำ ตามสายงานประกันภัยที่ตนเองสนใจหรือประกอบอาชีพในด้านนั้น เช่น ด้านประกันวินาศภัย หรือ ด้านประกันชีวิต ซึ่งการสอบนี้สามารถทำควบคู่ระหว่างที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือทำงานอยู่ได้

เส้นทางสู้อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย 
ควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ เนื่องจากงานที่ทำต้องเกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ รวมทั้งยังต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจเป็นอย่างดี มีความกระตือรือร้น รักความก้าวหน้า มีเหตุผล มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีทักษะการสื่อสารดี และมีความสามารถในการตัดสินใจ

 

คณิตศาสตร์ประกันภัย เรียนอะไร
การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่สายอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย คือ เลือกเรียนวิชาเอกทางด้านประกันภัย คณิตศาสตร์ หรือ สถิติ โดยมีวิชาโททางด้านบริหารธุรกิจ หรือเศรษฐศาสตร์ การเตรียมตัวที่ดีในด้านการศึกษานั้น ถือเป็นบันไดขั้นหนึ่งที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จในอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในอนาคต ซึ่งนอกจากการศึกษาในระดับปริญญาแล้ว การเตรียมตัวเพื่อเข้าสอบรับรองคุณวุฒิมาตรฐานสากลในสายงานอาชีพนี้ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง




ที่มา :
www.manager.co.th
web.ku.ac.th
jobsdb.com