สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เส้นทางกว่าจะเป็นครู



ครู อาชีพในฝันของเด็กไทย แต่เส้นทางของคนคนหนึ่งกว่าจะเติบโตและเดินทางไปสู่อาชีพครูนั้นไม่ใช้เรื่องง่าย สำหรับน้องๆ ที่กำลังสนใจอยากศึกษาในสาขา “ครุศาสตร์” หรือ “ศึกษาศาสตร์” และกำลังตัดสินใจว่าสาขานี้จะเหมาะกับเราไหม ลองอ่านบทความนี้แล้วค่อยๆ คิด พร้อมกับตอบคำถามในใจของตัวเองดู
 
ทำไมถึงอยากเป็นครู
ทุกอาชีพล้วนมีข้อดี ข้อเสียอยู่ในตัว ขอให้น้องๆ ศึกษาส่วนนี้ให้ดีว่าสามารถมีความสุขไปกับข้อดีของอาชีพครู พร้อมกันนั้นก็ใช้ชีวิตและทำงานอยู่กับอาชีพครูได้หรือไม่ หากน้องๆ อยากเป็นครู เพราะชอบทำงานกับเด็กๆ หรืออยากเป็นครู เพราะต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ก็ขอสนับสนุน และเอาใจช่วยให้น้องๆ ทำตามความฝันได้สำเร็จ แต่หากใครอยากเป็นครู เพราะคิดว่ามีวันหยุดเยอะ หรือคิดว่างานสบาย ขอให้คิดใหม่ เพราะการเป็นครูที่ดีนั้นใช้ทั้งพลังกาย พลังใจ และพลังสมอง ยิ่งกว่างานไหนๆ น้องๆ จะต้องมีการวางแผนการสอนเป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจเด็กนักเรียนในความดูแลของตัวเอง และพร้อมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นในทุกๆ วัน
 
PAT 5 บททดสอบสำคัญสำหรับคนอยากเป็นครู
PAT 5 คือวิชาวัดความถนัดทางอาชีพครู ที่น้องๆ จะใช้ยื่นคะแนนที่คณะครุศาสตร์ หรือคณะศึกษาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่เปิดรับ ข้อสอบ PAT 5 เป็นข้อสอบเฉพาะกลุ่มมากๆ ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ความรู้พื้นฐานที่จะเรียนต่อในคณะครุศาสตร์หรือคณะศึกษาศาสตร์ได้สำเร็จ เช่น ความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เป็นต้น และส่วนที่สองคือ ความถนัดในการเรียนในคณะดังกล่าวให้สำเร็จ หรือการวัดแววความเป็นครูแบบที่สมัยก่อนเรียกกันนั่นเอง




ครุศาสตร์เรียนอะไร มีสาขาอะไรบ้าง ใช้เวลากี่ปี
การเรียนครุศาสตร์ หรือ Pedagogy คือการเรียนรู้หลักการ ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องกับการสอน และการเรียนรู้ของมนุษย์ น้องๆ จะได้ทำความเข้าใจว่า มนุษย์เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างไร และทำอย่างไรเราจึงจะเป็นผู้สอนที่ดี สามารถถ่ายทอดวิชาความรู้ รวมทั้งจริยธรรมให้นักเรียนของเราเข้าใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ และเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไปในอนาคต
 
เนื่องจากมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีหลักสูตรและสาขาที่แตกต่างกัน พี่ขออนุญาตสรุปข้อมูลจากหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำมาเล่าให้น้องๆ เห็นภาพว่าเราจะเจออะไรบ้าง ในระยะเวลา 5 ปี ที่เราจะศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขานี้
 
คณะครุศาสตร์ของที่นี่แบ่งเป็น 6 ภาควิชา และมีวิชาเอกทั้งสิ้น 10 สาขาวิชา (อัพเดทล่าสุดวันที่ 4 เมษายน 2560) ได้แก่
  1. สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
  2. สาขาวิชาประถมศึกษา
  3. สาขาวิชามัธยมศึกษา
  4. สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา
  5. สาขาวิชาศิลปศึกษา
  6. สาขาวิชาดนตรีศึกษา
  7. สาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา
  8. สาขาจิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนว และการศึกษาพิเศษ
  9. สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา
  10. สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน
 
โดยทุกคนเมื่อเข้าเรียนที่นี่แล้ว ก็จะได้เรียนวิชาพื้นฐาน เช่น พื้นฐานการศึกษาและวิชาชีพครู การออกแบบและการจัดการการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร การวัดและประเมินผลทางการศึกษา และจิตวิทยาพื้นฐานการศึกษา เป็นต้น วิชาเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการวางแผนการสอน การจัดการห้องเรียน และการวัดผลเด็กนักเรียนของเรา
 
ในขณะเดียวกัน น้องๆ ก็จะได้เลือกสาขาเอกตามความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสาขาการสอนวิชาต่างๆ ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ หรือการสอนในระดับชั้นต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้น้องๆ ต้องตรวจสอบให้ดีว่าต้องยื่นผลสอบวิชาใดบ้าง สำหรับสาขานั้นๆ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีข้อกำหนดแตกต่างกัน
 
 
สาขาที่เราอาจจะไม่คุ้นเคย แต่ก็จัดอยู่ในหลักสูตรครุศาสตร์
สาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา เป็นสาขาที่เรียนวิชาทางธุรกิจและบริหาร เช่น การบัญชี การตลาด การเงิน ควบคู่ไปกับวิชาทางครุศาสตร์ พอจบไปแล้วนอกจากจะสามารถไปเป็นครูสอนเศรษฐศาสตร์ได้แล้ว ยังสามารถเปิดธุรกิจของตนเอง หรือทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องในบริษัทเอกชนได้อีกด้วย
 
สาขาจิตวิทยาการศึกษา การแนะแนว และการศึกษาพิเศษ ผู้ที่เรียนสาขานี้ จะได้เรียนเกี่ยวกับการแนะแนว การให้คำปรึกษาเด็กนักเรียนทั้งในด้านจิตวิทยาและอาชีพ ไปจนถึงการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน เอกการศึกษาพิเศษ เป็นสาขาที่เรียนรู้เกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ หรือมีความบกพร่องทางสติปัญญา เพื่อให้พวกเขาพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ
 
สาขาเทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) หรือ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เป็นสาขาที่จะสอนให้น้องๆ รู้จักใช้วิธีการสอน และสื่อต่างๆ เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งอาจรวมไปถึงการออกแบบสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ เช่น รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา เป็นต้น
 
ครุศาสตร์อุตสาหกรรม เป็นเอกที่ผสมผสานระหว่างการเรียนวิชาทางครุศาสตร์ และ วิชาทางวิชาชีพต่างๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ เพื่อให้บัณฑิตสามารถไปสอนในระดับ ปวช. ปวส. หรือวิทยาลัยทางเทคนิค เพื่อพัฒนาบุคลากรสายอาชีพที่มีความจำเป็นต่อประเทศ แต่ผู้ที่จบสาขานี้ ก็สามารถทำงานในสายอาชีพที่เรียนมา (เช่น วิศวกรรมศาสตร์) ได้เช่นกัน
 
การศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong learning) และสาขาที่ใกล้เคียงกันอย่าง สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นสาขาที่เชื่อว่า การเรียนรู้ของเราทุกคนไม่ได้สิ้นสุดกันแค่ในโรงเรียน แต่ทุกคนสามารถเรียนได้ตลอดชีวิต จากทุกสถานที่ในโลก สาขานี้จึงเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้ที่ต้องการการเรียนรู้และการอบรมอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในชุมชน หรือการฝึกอบรมในหน่วยงาน เป็นต้น
 
ปัจจุบัน คณะครุศาสตร์ส่วนใหญ่ได้ปรับหลักสูตรให้ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 5 ปี โดยปีที่ 5 จะเป็นปีสุดท้ายที่นักศึกษาทำการฝึกสอน ก่อนจะได้รับใบประกอบวิชาชีพครู แต่จะมีบางสาขา เช่น การเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 4 ปี
 
 
ถ้าไม่ได้เรียนคณะที่เกี่ยวกับ “ครู” มาแต่อยากเป็น “ครู” มากๆๆ ต้องทำอย่างไร?
ถ้าหากเราไม่ได้จบครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ มาแต่อยากเป็นครู อาจจะต้อง
  • สมัครทดสอบความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา
  • หลังจากที่ได้ใบอนุญาตสอน ก็สมัครเป็นครูตามโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนเอกชนที่ไม่ขอใบประกอบวิชาชีพ
  • เมื่อสอนครบ 1 ปี และผ่านการประเมินการสอนแล้วก็จะสามารถขึ้นทะเบียนขอใบประกอบวิชาชีพครูได้ ซึ่งใบประกอบวิชาชีพนี้ต้องต่ออายุทุก 5 ปี
 


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.hotcourses.in.th
                             site.ksp.or.th
                             www.chulatutor.com