สอบเข้ามหาวิทยาลัย

6 เหตุผล ทำไมเด็กไทย #ต้องเรียน วิชา​ภาษาไทย – สังคมฯ


     เมื่อพูดถึงวิชาภาษาไทย – สังคมฯ น้อง ๆ หลายคนอาจจะรู้สึกเบื่อขึ้นมาทันที เพราะรู้สึกเหมือนเป็นยาขม ที่ต้องอ่านเยอะ ท่องจำมาก แถมเนื้อหาก็มีมากมายจนไม่รู้ว่าหากไม่ใช้เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราจะเอาความรู้เหล่านี้ไปใช้ทำอะไร แต่อย่าเพิ่งคิดแบบนั้นครับ เพราะวันนี้พี่หมุยจะแชร์ประโยชน์ดี ๆ ที่น้อง ๆ จะ ได้จากการเรียนวิชาภาษาไทยและ

     สังคม รับรองว่าน้อง ๆ อ่านแล้วจะเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อสองวิชานี้ได้อย่างแน่นอน เรามาเริ่มกันที่วิชาภาษาไทยที่ใคร ๆ ก็คิดว่า เรียนไปทำไม ก็ใช้พูดกันอยู่ทุกวัน แต่หากลองเปิดใจจะรู้ว่ามีประโยชน์มากกว่าการท่องจำไปสอบหลายอย่างเลยครับ

1.เป็นเครื่องมือสื่อสารความคิดและความรู้สึก ภาษาไทยเป็นเครื่องมือสำคัญที่เราใช้ในการสื่อสารทั้งในรูปแบบการฟัง การพูด การอ่าน และการ เขียน หากเราใช้ภาษาไทยเพื่อสื่อสารได้อย่างถูกต้อง จะทำให้คนอื่นสามารถเข้าใจความรู้สึกนึกคิดที่เรามีได้ นอกจากนี้ การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสมกับผู้ฟังยังสามารถทำให้คนในสังคมมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ลดความขัดแย้ง และช่วยให้สังคมน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

2.ฝึกนิสัยเป็นคนช่างสังเกตและรอบคอบ การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ต้องคล่องเรื่องไวยากรณ์ หลักภาษาต่าง ๆ การเลือกใช้คำให้เหมาะกับ ระดับภาษา หรือในแต่ละสถานการณ์ เช่น “เข้มแข็ง” และ “แข็งแรง” ความหมายมันก็ไม่เหมือนกัน หรือคำว่า “หนาแน่น” และ “แน่นหนา” ที่มีความหมายคล้ายกัน แต่ใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเหล่านี้แสดง ให้เห็นว่าภาษาไทยของเรานั้นมีความละเอียดลออ เราในฐานะเจ้าของภาษาต้องใส่ใจในรายละเอียดนี้ เพื่อจะ ได้ใช้ภาษาได้ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด ทั้งหมดนี้น้อง ๆ ต้องอาศัยการใช้บ่อย ๆ แล้วเราจะหาข้อสังเกตได้นะครับ เป็นการทำความเข้าใจผ่านการใช้จริงแบบไม่ต้องท่องจำการสังเกตนี้เองที่ช่วยทำให้ไม่ได้มองภาษาแค่ผิวเผิน แต่เราต้องวิเคราะห์ ตีความ และมองลึกลงไปอย่างรอบคอบเพื่อให้ได้คำตอบนั้นมา

3.ภูมิใจในภาษาประจำชาติ  อย่างที่รู้กันดีว่า ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติเรา ถ้าได้เรียนจะรู้เลยว่า ในความยากและซับซ้อนของภาษาไทยนี้มีเอกลักษณ์และแตกต่างจากภาษาอื่น ความไพเราะของภาษาที่มีจุดเด่นที่กล่าวกันเสมอว่าเป็น ‘ภาษาดนตรี’ คือ มีเสียงวรรณยุกต์สูง-ต่ำ รวมทั้งกลวิธีการใช้ภาษาในวรรณคดีที่มีการเล่นคำ     
 
     การเล่นสัมผัส ซึ่งเป็นคุณค่าทางภาษาที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก อย่างที่องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้ ‘สุนทรภู่’ เป็น บุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนถึงความละเมียดละไมในการใช้ภาษา ความ สละสลวยในการใช้คำ โดยมีเพียงไม่กี่ภาษาในโลกที่จะมีความงดงามได้ขนาดนี้ เวลาที่เราไปต่างประเทศหรือได้ยินชาวต่างชาติพูดคำว่า “สวัสดี” กับเรา ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่า ภาษาไทยของเราเป็นที่รู้จักว่า เรามีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง เราจึงควรภูมิใจที่ได้เรียนภาษาไทยซึ่ง เป็นมรดกของชาติเรานะครับ


 
     ส่วนวิชาสังคมที่เหมือนเรียนเนื้อหากว้าง แต่เนื้อหาที่เรียนล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวและทำให้น้อง ๆ มี ความรู้อย่างครอบคลุม ความรู้ที่ได้ไม่ใช่เพียงเอาไปใช้ในการสอบเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ได้อีกหลายด้าน

1.รู้จักการปรับตัวอยู่ร่วมกันในสังคม  ในสังคมเรามีความแตกต่างในหลายด้าน ทั้งเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ค่านิยม ซึ่งหากเราขาด ทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นท่ามกลางความแตกต่างเหล่านี้ ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ ดังนั้นความรู้วิชา สังคมโดยเฉพาะสาระหน้าที่พลเมือง และศาสนา ที่สอนให้เราเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ พร้อมทั้งแนะนำ แนวทางการปรับตัวให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสันติ ถือว่าเป็นความรู้ที่มีประโยชน์อย่างมาก
นอกจากนี้ ในสาระภูมิศาสตร์ยังสอนให้เราเข้าใจธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ซึ่งจะทำให้น้อง ๆ รู้วิธีการปรับตัวให้เข้าสิ่งแวดล้อม รู้จักการหลีกเลี่ยงและรับมือ กับภัยธรรมชาติ และรู้วิธีในการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนอีกด้วย

2.รู้จักการแก้ปัญหา ในชีวิตเราทุกคนย่อมต้องเจอปัญหา ไม่ว่าจะปัญหาเล็กหรือใหญ่ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้น้อง ๆ สามารถก้าวผ่านปัญหาต่าง ๆ ไปได้ ก็คือการมีสติรู้ว่าเรากำลังมีปัญหาอะไร สาเหตุของปัญหานั้นเกิดจากอะไร และวิธีที่เราจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดนั้นต้องทำอย่างไร วิธีคิดแบบนี้น้อง ๆ คุ้น ๆ ไหมครับ ใช่แล้วครับ หลักอริยสัจ 4 ที่เราเรียนในเรื่องหลักธรรมทางพระพุทธศาสนานั่นเอง เรื่องที่เราเคยคิดว่าไกลตัว จริง ๆ แล้วเรา สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเราได้ครับ

3.ต่อยอดอนาคต ความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ที่สอนให้รู้จักการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นความรู้พื้นฐานที่น้อง ๆ สามารถนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพในอนาคต เช่น หากน้องเป็นเจ้าของ กิจการ ก็จะช่วยในการตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร ผลิตจำนวนเท่าไร ผลิตด้วยกรรมวิธีอย่างไร จึงจะเหมาะสม คุ้มค่า และได้กำไร หากน้อง ๆ เป็นพ่อค้าแม่ค้า ก็จะประเมินได้ว่าต้องตั้งราคาสินค้าราคาเท่าไรจึงจะขายได้ หรือหากน้องทำงานด้านการเงินการคลัง ก็จะรู้ว่าในภาวะเศรษฐกิจนั้น ๆ ควรจะเลือกใช้มาตรการใดมาแก้ไข หรือพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ 

         สุดท้ายนี้ พี่หมุยขอฝากถึงน้อง ๆ ทุกคนว่า การเรียนวิชาภาษาไทยและสังคมฯ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแค่น้อง ๆ เปลี่ยนจากการอ่านและท่องจำทุกบรรทัด มาเป็นการทำความเข้าใจ ขอให้น้อง ๆ ปรับ ความคิด เปลี่ยนมุมมอง แล้วจะเห็นว่าการเรียนสองวิชานี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงใบเบิกทางในการสอบเข้า มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เป็นความรู้ใกล้ตัวที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ และยังเป็นประโยชน์ในการ ประกอบอาชีพในอนาคตด้วย พี่หมุยขอให้น้อง ๆ ทุกคนเรียนภาษาไทย-สังคมฯ อย่างสนุก และใช้ความรู้ทั้ง สองวิชานี้ต่อยอดไปสู่ทุกความสำเร็จที่น้อง ๆ ใฝ่ฝันครับ