สอบเข้ามหาวิทยาลัย

อดีตเลขาธิการ สกอ. เผย มหาวิทยาลัยชั้นนำไทย อันดับโลกตก

 UploadImage
 
          เมื่อวันที่ 16 กันยายน นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เปิดเผยว่า ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ปี 2015/2016 ของ QS World University Ranking ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยไทยติดอยู่ในอันดับ ดังนี้
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับ 253 ตกจากปีที่แล้ว 243
- มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) อันดับ 295 ตกจากปีที่แล้ว 257
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) อันดับ 551-600
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อันดับ 601-650
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) อันดับ 651-700
-ส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อันดับ 701
          ส่วนมหาวิทยาลัยที่อยู่ 10 อันดับแรก ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำเดิมๆ ได้แก่ อันดับ 1 Massachusetts Institute of Technology (MIT) อันดับ 2 Harvard University อันดับ 3 University of Cambridge อันดับ 4 Stanford University อันดับ 5 California Institute of Technology (CALTECH) อันดับ 6 University of Oxford อันดับ 7 UCL (University College London) อันดับ 8 Imperial College London อันดับ 9 Eth Zurich (Swiss Federal Institute of Technology) และอันดับ 10 University of Chicago
          แต่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในปีนี้ คือมหาวิทยาลัยในเอเชียเข้าสู่อันดับโลกมากขึ้น และมหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว ก็มีอันดับที่ขยับสูงขึ้นไป เช่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ อันดับ 12 ขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่อันดับ 22 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ของสิงคโปร์ อันดับ 13 ซึ่งมหาวิทยาลัยของสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่สูงกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงของโลกอย่าง Yale, John Hopkins, Cornell, U Penn หรือแม้แต่ UC Berkley และ UCLA จะเห็นได้ว่าภาพรวมของมหาวิทยาลัยในเอเชียอยู่ในอันดับดีมาก โดยใน 100 อันดับแรกของโลก มีมหาวิทยาลัยเอเชียถึง 19 แห่ง โดย 11 แห่งมีอันดับที่สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว
          และถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยของไทยจะติดอันดับ แต่ดูเหมือนว่าหากเทียบกับปีที่ผ่านๆมายังถือว่าทำได้ไม่ดีนัก
          นายภาวิช กล่าวไว้ว่า "ขณะที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในเอเชียมีอันดับที่สูงขึ้น แต่อันดับของมหาวิทยาลัยไทยดูจะถอยลงทุกแห่ง อย่างจุฬาฯ ลดลง 10 อันดับ ส่วน มม.ลดลงเกือบ 40 อันดับ เป็นต้น ความตกต่ำของมหาวิทยาลัยไทยในการจัดอันดับครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาไทยซึ่งสำคัญที่สุดยังอ่อนแอ แสดงให้เห็นว่าทรัพยากรมนุษย์ของไทยยังสู้ชาติอื่นไม่ได้ ความรู้ยังอ่อนด้อยไม่เอื้อให้เกิดศักยภาพในการสร้างนวัตกรรม แต่กลายเป็นผู้บริโภคนวัตกรรมของประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ไทยยังภาคภูมิใจได้บ้างคือการจัดอันดับแยกเป็นสาขาวิชา โดยสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และวนศาสตร์ มก.อยู่ในอันดับที่ 39 ของโลก นับเป็นสาขาเดียวของไทยที่ติดอันดับ เพราะแม้แต่คณะแพทยศาสตร์ มม.ยังติดอันดับ 50-100 ของโลก ส่วนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ มช.อยู่อันดับ 151-200 ของโลก แสดงให้เห็นว่าสาขาเกษตรเป็นสาขาที่เข้มแข็งที่สุดของไทย"
 
 
ข่าวและภาพจาก : MatichonOnline