สอบเข้ามหาวิทยาลัย

คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. โชว์โมเดล “ตรวจเยี่ยมฟาร์มเพื่อนสร้างความมั่นใจผู้บริโภค” สู่เกษตรออร์แกนิคด้วยต้นทุนต่ำกว่าเดิม 2 เท่า รับกระแส “คลีนฟู๊ด” มาแรงทั่วโลก

UploadImage
       เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โชว์โมเดล “การตรวจเยี่ยมฟาร์มเพื่อน” กิจกรรมสร้างเครือข่ายเกษตรกรเพื่อการผันตัวของเกษตรกรไทยสู่การเป็นเกษตรอินทรีย์ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิมถึง 2 เท่า ผ่าน 6 ขั้นตอนหลัก คือ

UploadImage1) ให้ความรู้ด้านโซ่อุปทานใหม่

2) ให้ความรู้ด้านมาตรฐานการผลิต

3) ฝึกอบรมเทคนิคและการใช้อุปกรณ์เชิงปฏิบัติการ

4) จัดกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่

5) จัดกิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อน

6) เชื่อมโยงด้านการตลาดกับนักลงทุน


        โดยปัจจุบันได้ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นครปฐม เชียงใหม่ สุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียงกว่า 200 ครัวเรือน ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ พร้อมเตรียมขยายพื้นที่ดำเนินการในจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ นครนายก และสระแก้ว เป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้ เกษตรอินทรีย์ทำให้เกษตรกรสามารถป้อนวัตถุดิบที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดกับกระแสเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ (Clean Food) และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน


UploadImage
       ผศ.ดร. ดุสิต อธินุวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาการจัดการเกษตรอินทรีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เปิดเผยว่าจากนโยบายการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของภาครัฐ ที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายตลาดส่งออกให้กับผลผลิตทางการเกษตรให้กว้างยิ่งขึ้น และสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาสนใจสุขภาพ ด้วยอาหารออร์แกนิค อาหารคลีน ทำให้เกษตรกรจำนวนมากหันมาให้ความสนใจกับการทำเกษตรอินทรีย์ อย่างไรก็ตามการทำเกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบมาตรฐานในทุกขั้นตอนการผลิตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับระบบตรวจรับรองโดยบุคคลที่ 3 (Third-party certification) ที่เหมาะสมกับเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์และการส่งออก และมีค่าใช้จ่ายที่สูง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โดยสาขาการจัดการเกษตรอินทรีย์ จึงได้ดำเนินการผ่านความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย กรมพัฒนาชุมชน กรมพัฒนาที่ดิน และกรมการค้าภายใน

       ผลักดันโมเดลเครือข่ายเกษตรกรแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ด้วยโครงการ “เทคนิคการตรวจเยี่ยมฟาร์มเพื่อนในกระบวนการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม” ระบบการประกันคุณภาพสินค้าอินทรีย์และรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์  แบบมีส่วนร่วมพีจีเอส (Participatory Guarantee System, PGS) ผ่านการตรวจสอบคุณภาพระหว่างเกษตรกรในพื้นที่เพื่อให้ฟาร์มเพื่อนและตนเองเป็นไปตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลในทุกขั้นตอน ด้วยค่าต้นทุนที่ต่ำลงถึง 2 เท่า

       ผศ.ดร. ดุสิต  กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการดังกล่าวได้ดำเนินงานเป็นปีที่ 4 ล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ได้นำองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรในพื้นที่ในจังหวัดปทุมธานี นครปฐม เชียงใหม่ สุรินทร์ ลำปาง เพชรบูรณ์ และจังหวัดใกล้เคียง โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ตุลาคม 2559 – กันยายน 2560 ผ่านการเรียนรู้ใน 6 ขั้นตอนหลัก รายละเอียดดังนี้

       1) ให้ความรู้ด้านโซ่อุปทานใหม่ การสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์ ผ่านการดำเนินกิจกรรมช่วยเกษตรกรวางแผนการผลิต แนะเทคนิคการดูแลพืชผัก ผลไม้ และจัดการหลังการเก็บเกี่ยวให้อยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันสินค้าล้นตลาด รวมถึงหาช่องทางการตลาดใหม่ๆโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

       2) ให้ความรู้ด้านมาตรฐานการผลิต อาทิ งดการใช้สารเคมีทางการเกษตรการเพิ่มอุดมสมบูรณ์ของดินและจัดการฟาร์มด้วยชีววิธี เป็นต้น เพื่อให้ผลผลิตของเกษตกรทั้งที่เป็นพืชผักและสัตว์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด มีคุณภาพ และคงความเป็นเกษตรอินทรีย์ตลอดกระบวนการผลิต

       3) ฝึกอบรมเทคนิคและการใช้รายการตรวจสอบ (Checklist) เชิงปฏิบัติการการให้ความรู้ด้านเทคนิคแก่เกษตรกรในการเป็นผู้ตรวจฟาร์มเกษตรอินทรีย์ การเลือกใช้ชุดตรวจสอบสารปนเปื้อนสำเร็จรูป ในการตรวจวัดสารเคมีที่ปนเปื้อนในดินหรือผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างเหมาะสม

       4) จัดกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในการเป็นผู้ตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกรในพื้นที่ให้สามารถตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมได้ตรงตามมาตรฐาน

       5) จัดกิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรในพื้นที่ในการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมไปถึงเทคนิคการผลิตผลิตผลเกษตรอินทรีย์ อาทิ การวางแผนการผลิตร่วมกัน การหารือเรื่องช่องทางการจำหน่าย เป็นต้น

      6) เชื่อมโยงด้านการตลาดกับนักลงทุน (Trader) การจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรผู้ผลิตผลิตผลเกษตรอินทรีย์ โดยตรงลดปัญหาด้านโลจิสติกส์และพ่อค้าคนกลาง โดยได้ลงนามความร่วมมือกับท็อปส์ มาร์เกต ในการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร


UploadImage

       อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการดำเนินการใน ปีที่ผ่านมา เป็นผลให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นครปฐม เชียงใหม่ สุรินทร์ ลำปาง เพชรบูรณ์ และจังหวัดใกล้เคียงกว่า 200 ครัวเรือน พื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์กว่า 4,000 ไร่ ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพสามารถป้อนวัตถุดิบที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกกับกระแส “เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ” (Clean Food) เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อได้รับการรับรอง พีจีเอส จากราคาผลิตผลที่เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มทัพไท ราคาข้าวพีจีเอส สูงกว่าข้าวปกติตันละ 1,000-2,000 บาท ราคาสุกรมีชีวิตสูงกว่า 5-10 บาทต่อกิโลกรัมของน้ำหนักมีชีวิต คิดเป็นมูลค่ารายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย กว่า 20,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี

UploadImage

       ในขณะเดียวกันทำให้เพิ่มช่องทางตลาด สามารถกระจายผลผลิตสู่ช่องทางการค้าอื่นที่หลากหลาย พีจีเอส ไม่เพียงเป็นกระบวนการรับรองเท่านั้น ยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเกษตรกรรายย่อยด้านเศรษฐกิจ-สังคม ระบบนิเวศของชนบท ยังผลให้สุขภาพและคุณภาพชีวิตของครอบครัวดีขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ผศ.ดร. ดุสิต กล่าว ทั้งนี้ มีแผนขยายการจัดกิจกรรมให้ความรู้โมเดลดังกล่าว ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ นครนายก และสระแก้ว ตามลำดับโดยจากผลการดำเนินการที่เกิดผลต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนฐานราก และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นควรมีโครงการสนับสนุนที่ให้เกิดการขยายผลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทั้ง ในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติในพื้นที่ รวมทั้งผู้ประกอบการภาคเอกชนส่งเสริมการใช้กระบวนการ พีจีเอส ในการขับเคลื่อนเกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มกันผลิตเกษตรอินทรีย์ เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและแก้ปัญหา ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ และความยากจนของเกษตรกกรรายย่อยในที่สุด