สอบเข้ามหาวิทยาลัย

#รับน้องใหม่ หัวใจว้าวุ่น


สำรวจกิจกรรมรับน้องแต่ละมอ สร้างสรรค์ไหมไปดูกัน
หลายคนมีที่เรียนกันแล้ว เริ่มสอบสัมภาษณ์ และตรวจร่างกายกันไปแล้วด้วย ใกล้ๆ เปิดเทอมแบบนี้ก็เหลืออีกไม่กี่เรื่องที่ทำเอาน้องใหม่หัวใจว้าวุ่นไปตามๆ กัน หนึ่งในนั้นคือการรับน้อง ซึ่งในแต่ละที่ แต่ละมหาวิทยาลัย แต่ละคณะ ก็จะมีความแตกต่างกันออกไป วันนี้เราจะพาน้องๆ ไปสำรวจกิจกรรม และนโยบายของแต่ละมหาวิทยาลัยกัน ใครผ่านการรับน้องที่ไหนแบบไหนมาเล่าสู่กันฟังได้นะ


 
 
 
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไม่มีการรับน้อง มีเพียงกิจกรรม ‘รับเพื่อนใหม่’ ให้อิสระกับนักศึกษาใหม่ในการเลือกว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้ คนที่จะเข้าร่วมต้องทำการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ และรับจำนวนจำกัด (จากการสำรวจในปี 59) กิจกรรมภายในงานจะเป็นไปในเชิงสันทนาการ การพบปะเพื่อนรุ่นเดียวกัน และเพื่อนรุ่นก่อนหน้า มีกิจกรรมแนะนำสถานที่ในมหาวิทยาลัย ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติมหาวิทยาลัย และแนะนำรมรม



จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แต่ละคณะจะรับน้องโดยไม่ใช้ความรุนแรง เคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งกิจกรรมรับน้องจะต้องสามารถตรวจสอบได้ โดยประกาศผ่านที่ประชุมสภานิสิตที่มีตัวแทนนิสิตจากทุกคณะ เพื่อเป็นการตกลงร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการรับน้องใหม่ในจุฬาฯ ทุกคนจะรับรู้ถึงสิทธิของตัวเอง และสภานิสิตจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการดูแลสิทธิของนิสิต ไม่ให้เกิดการรับน้องรุนแรง เน้นไม่คุกคามสิทธิไม่ใช้กฎระเบียบอย่างเดียว การรับน้องจะไม่ใช่การสั่งและทำตาม ส่วนมหาวิทยาลัยจะไม่สั่งว่าแบบนี้ผิดจำคุก หรือตัดคะแนนวินัย แต่จะให้รุ่นพี่แต่ละคณะมีจิตสำนึกสิทธิมนุษยชนโดยไม่ต้องรอผู้ใหญ่สั่ง




มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ปีนี้จะเน้นเรื่องลดกิจกรรมที่เกินกว่าเหตุให้ลงมาอยู่ในระดับที่พอเหมาะพอสม ไม่รุนแรงเกินไป น้องต้องมีสิทธิตัดสินใจในการเข้าร่วม รุ่นพี่จะไม่บังคับน้อง มีข้อตกลงที่ผู้ปกครองสามารถเข้ามาดูกิจกรรมการรับน้องได้ จากปีที่แล้วปัญหาส่วนใหญ่คือไม่ได้จัดกิจกรรมรับน้องตามที่แจ้งกับมหาวิทยาลัย แจ้งว่าเป็นแค่ซ้อมร้องเพลง แต่ตอนที่จัดเกินกว่าเหตุ หรือจัดรับน้องนอกสถานที่ที่ไม่ได้แจ้งให้มหาลัยรับทราบ แจ้งที่หนึ่งแล้วก็จัดอีกที่หนึ่ง ทำให้การตรวจสอบของมหาลัยเข้าไม่ถึง ซึ่งในปีนี้สภานิสิตเปิดช่องทางต่างๆ ให้มาร้องเรียนได้โดยตรง




มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
เน้นความปลอดภัยและการเคารพซึ่งสิทธิ เสรีภาพของผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญอย่างมาก ทุกปีจะเพิ่มการดูแลกิจกรรมรับน้องอย่างเต็มที่และจริงจังมาโดยตลอดเพื่อให้กิจกรรมนี้ตอบสนองวัตถุประสงค์ของตัวมันเอง จุดยืนที่มีต่อการรับน้องคือนักศึกษาใหม่และเก่าทุกคน มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันผ่านกิจกรรมและมีความภูมิใจในมหาวิทยาลัยของตน




มหาวิทยาลัยบูรพา
ปีนี้ให้คำสำคัญกับหลักสิทธิเสรีภาพกับความปลอดภัยของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นน้องที่เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกิจกรรมต้องสามารถเลือกได้สมัครใจ และผู้ปกครองสามารถมั่นใจได้ว่าทุกกิจกรรมที่เข้าร่วมนั้นปลอดภัยทั้งทางร่างกายและ ในแต่ละปีการรับน้องมีการแตกต่างกันในทุกปี ทางสภานิสิตยืนยันว่า มีการพัฒนาไปในทางที่ดีหรือสร้างสรรค์มากขึ้นทุกปี เพราะได้เอาปัญหาในปีก่อนๆ มาประชุมพูดคุยเพื่อหาทางออก





มหาวิทยาลัยนเรศวร
การรับน้องของมหาวิทยาลัยนเรศวร คำนึงถึงหลักของสิทธิมนุษยชน หากนักศึกษาคนไหนไม่เต็มใจเข้าร่วมก็ไม่มีการบังคับเลย ให้เข้าร่วมตามความสมัครใจ จะไม่มีการละเมิดสิทธิของนิสิต การรับน้องจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ไปตามประเพณีที่ดี รักษาประเพณีอันดีงามของมหาวิทยาลัย และเป็นการสานสัมพันธ์ของรุ่นพี่กับรุ่นน้องให้มีความรัก ความผูกพันทั้งตัวรุ่นพี่รุ่นน้องและกับมหาวิทยาลัย (นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้มีช่องทางร้องเรียนกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม และผู้ปกครองสามารถมาสังเกตการณ์การทำกิจกรรมได้เช่นกัน)




มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในปีนี้สภานักศึกษามีแนวคิดที่ให้รุ่นพี่ใช้ บททดสอบ 4 แนวทาง (THE FOUR-WAY TEST) ของโรตารีสากล จะทดสอบตนเองก่อนที่ไปสั่งหรือทำกิจกรรมรับน้องว่าสิ่งที่กำลังจะทำให้เกิดนั้นมัน 1. เป็นความจริงหรือไม่ 2. เที่ยงธรรมต่อทุกฝ่ายหรือไม่ 3. สร้างและเสริมมิตรภาพหรือไม่ 4. เป็นผลดีแก่ทุกฝ่ายหรือไม่ หากมีกิจกรรมที่ละเมิด หรือฝืนความรู้สึกของน้องมากไป น้องก็สามารถขอเดินออกไปจากตรงนั้นได้เลย ทั้งนี้กิจกรรมรับน้องยังคงมีต่อไป แต่พยายามจะให้กิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลดน้อยลง เช่นการว้าก การทำกิจกรรมอนาจาร การทำให้น้องรู้สึกเสียขวัญกำลังใจ




มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กิจกรรมรับน้องใหม่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมุ่งเน้นเชิงสร้างสรรค์ และก่อให้เกิดภาพลักษณ์เชิงบวก แก่สาธารณชน การรับน้องที่ มข. จึงมีกิจกรรมที่จะทำให้นักศึกษาได้ใกล้ชิดกับชุมชนตามนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชาวอีสาน เริ่มจากผู้แทนนักศึกษานำพวงมาลัยกรไหว้ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมรับฟังโอวาทจากผู้ว่าฯ เมืองขอนแก่น  จากนั้นมีกิจกรรมสันทนาการจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เป็นกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ มีสโมสรนักศึกษา ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่คอยกำกับดูแลอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมให้กับนักศึกษาของแต่ละคณะ



มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ในการรับน้องแต่ละปีของมหาวิทยาลัยจะไม่แตกต่างกันมาก อาจจะต่างถ้าเป็นของแต่ละคณะ การรับน้องก็ถือเป็นกิจกรรมแรกๆ ของการเข้ามหาลัย เป็นการละลายพฤติกรรมของผู้เข้าร่วม ทำให้เกิดความรัก สามัคคีกันในหมู่คณะ และยังเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง โดยทางสภานิสิตให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของน้องเป็นหลัก ไม่บังคับ เคารพสิทธิเสรีภาพ ให้รุ่นน้องรักมหาวิทยาลัย ให้เกิดความรักสามัคคีกัน 


ขอบคุณขอมูลจาก : The MATTER
                              pantip.com/topic/33861866
                              www.facebook.com/thammasatsu/
                              thamsu.com/main
                              www.kku.ac.th