สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ประชุมชี้แจง ผอ.สพท.ตามโครงการโรงเรียนประชารัฐ

 
UploadImage

        พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้นโยบายแก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ในการประชุมชี้แจงโครงการโรงเรียนประชารัฐ และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงสานพลังประชารัฐ "ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2559 ณ โรงแรมรอแยล เบญจา โดยมี พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

        นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงานถึงการจัดประชุมในครั้งนี้ว่า จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นการรวมพลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย

        กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษาของประเทศ เล็งเห็นถึงประโยชน์ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำโครงการโรงเรียนประชารัฐ และจัดทำบันทึกข้อตกลงสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ เพื่อร่วมขับเคลื่อนและยกระดับการศึกษาให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

      โรงเรียนประชารัฐ เป็นโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจาก สพฐ. มาจากทุกตำบลในประเทศไทย ตำบลละ 1 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 7,424 โรงเรียน และได้แบ่งการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนประชารัฐเป็นระยะๆ โดยในระยะแรกได้ดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนจากหลายสังกัด จำนวน 3,322 โรงเรียน เพื่อเข้ารับการพัฒนา แบ่งเป็น

         - โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 3,093 โรงเรียน
         - โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 184 โรงเรียน
         - โรงเรียนในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 31 โรงเรียน
         - และโรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายเเดน จำนวน 14 โรงเรียน

      เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนประชารัฐ เป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้  สพฐ.จึงจัดการประชุมในครั้งนี้ เพื่อชี้แจงภาพรวมการดำเนินงานของโครงการโรงเรียนประชารัฐ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น 225 คน ประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 225 เขต

       รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้ชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้ความสำคัญกับนโยบายประชารัฐ เพราะนอกจากจะเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่กระทรวงศึกษาธิการมีส่วนเกี่ยวข้อง 2 คณะ คือ  ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ และด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำแล้ว นโยบายนี้จะช่วยให้เรามี Third Party มาช่วยกันทำงานเพื่อการศึกษา ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งที่ผ่านมามีการหารือร่วมกับภาคเอกชนมาเป็นระยะๆ โดยไม่มี Agenda (วาระประชุม) อะไรที่ปกปิดภาคเอกชนในการทำงานร่วมกันเลย ซึ่งต่อไปในการทำงานทั้งระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาก็เช่นเดียวกัน

       ทั้งนี้ ภายหลังการคัดเลือกโรงเรียนและลงนามความร่วมมือในครั้งนี้แล้ว ก็จะมีการพัฒนาเว็บไซต์ของโรงเรียนประชารัฐ และการวางแผนอุปถัมภ์โรงเรียนจากภาคเอกชน จากนั้นจะมีการอบรมผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ที่สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) จ.นครปฐม ภายในเดือนเมษายนนี้ รวมทั้งมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการในทุกเขตพื้นที่การศึกษา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา มีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นประธาน และมีรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นเลขานุการ

       ทั้งนี้ ในการจัดวางตัวบุคคลที่จะเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ ขอให้เป็นบุคคลที่จะเข้ามาทำงานนี้อย่างต่อเนื่อง มีความทุ่มเท และเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายนี้โดยละเอียดไปพร้อมๆ กัน

       โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบให้ พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอประเด็นสำคัญเชิงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รับทราบและเข้าใจทิศทางการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ คือ

      - ประเด็นปัญหาที่ผ่านมาของการศึกษาไทย ที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน 6 เรื่อง คือ 1) หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ 2) การผลิตและพัฒนาครู 3) การผลิตพัฒนากำลังคนและงานวิจัย 4) การบริหารจัดการ

5) การประเมินและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา 6) ICT เพื่อการศึกษา
     - ยุทธศาสตร์จุดเน้นการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะกรอบแนวคิดการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต และโครงการสำคัญที่ต้องขับเคลื่อน 65 โครงการ
     - นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการที่ดำเนินการต่อเนื่อง เช่น ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้, การอ่านออกเขียนได้, DLTV, DLIT, STEM Education, การยกระดับมาตรฐานทักษะภาษาอังกฤษ, การแนะแนวด้านอาชีพในโรงเรียน สพฐ.,                  โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น, การใช้เครือข่ายอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงให้โรงเรียน สพฐ., การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย ICT, การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก, การบริหารครูและบุคลากรทางการศึกษา, การปรับระบบทดสอบ, โครงการโรงเรียนประชารัฐ เป็นต้น

ข้อมูลจาก : ข่าวสำนักนายกรัฐมนตรี