สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เผยต้องการแรงงาน 5 ปีกว่า 5 ล้านคน สอศ.วิเคราะห์ข้อมูลเร่งวางแผนผลิต

UploadImage

           
เล็งเปิดสาขาใหม่สนองเอกชน

            
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับคุณภาพวิชาชีพ มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ที่ประชุมได้รับทราบตัวเลขความต้องการแรงงานในทุกระดับการศึกษาในอีก 5 ปีข้างหน้า (2558-2562) ของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มีความต้องการแรงงานจำนวน 1,238,597 คน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3,540,000 คน และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 648,000 คน รวมความต้องการแรงงานทั้งสิ้น 5,426,797 คน อย่างไรก็ตามจากข้อมูลทั้ง 3 หน่วยงานพบว่า ข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมมีความชัดเจนมากที่สุด โดยเป็นการจัดเก็บข้อมูลความต้องการของ 18 กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มเครื่องจักรกลและโลหะการ กลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ โดยประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)/ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต้องการ 333,966 คน สาขาที่ต้องการ ได้แก่ เทคนิคการผลิต 25% ไฟฟ้า 20% แมคคาทรอนิกส์ 5% ช่างกลโรงงาน 25% และเครื่องกล 25%

          เลขาธิการ กอศ.กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามเฉพาะปี 2559 พบว่าสภาอุตฯต้องการแรงงานอยู่ที่ 221,588 คน หอการค้าฯ 609,000 คน และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ 120,000 คน รวมทั้งสิ้น 950,588 คน แต่เมื่อดูภาพรวมการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชน พบว่าสามารถผลิตกำลังคนได้เพียง 430,000 คนต่อปี ดังนั้นจะยังขาดแรงงานอีกประมาณ 520,000 คน ซึ่งในส่วนที่ขาดนั้น สอศ.ต้องไปวิเคราะห์ข้อมูลของ 3 หน่วยงานว่า จะต้องไปปรับเพิ่มการผลิตกำลังคนอย่างไร ในสาขาใดบ้างและจำนวนเท่าใด ซึ่งจากหารือมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องเปิดสาขาใหม่ๆเพื่อรองรับความต้องการของภาคเอกชนด้วย โดยจะเร่งดำเนินการภายในปี 2559 แต่ก็ยอมรับว่าอาจจะยังไม่ได้ตามเป้าหมาย หลายเรื่องยังมีช่องว่างของการทำงาน ซึ่งหากจำเป็นอาจจะใช้วิธีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาในบางสาขา

         ดร.ชัยพฤกษ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับมาตรการลดภาษีให้กับสถานประกอบการที่มาร่วมจัดการศึกษาระบบทวิภาคีด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อท้วงติงว่า กระบวนการดำเนินการค่อนข้างล่าช้า และยุ่งยากขาดแรงจูงใจที่จะมาร่วมพัฒนาการศึกษา ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการขอให้มาพูดคุยกันว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ต้องแก้ไขอย่างไร เบื้องต้นมีข้อเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ในการจัดส่งเอกสารให้กับกระทรวงแรงงาน โดยขอให้ส่งเท่าที่จำเป็นเพื่อลดความซ้ำซ้อน จัดให้มีระบบวันสต๊อปเซอร์วิสรับส่งเอกสารได้เพียงจุดเดียว ขณะที่ในส่วนของ สอศ.ขอให้ดำเนินการจัดทำแผนอบรมครูสถานประกอบการเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ทำได้ปีละ 1 พันคน ไม่เช่นนั้นสถานประกอบการไม่สามารถนำไปยื่นลดหย่อนภาษีได้.


ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์