สอบเข้ามหาวิทยาลัย

12หรือ15ปีการศึกษาไทยที่รัฐควรจัด

UploadImage

12หรือ15ปีการศึกษาไทยที่รัฐควรจัด คิดให้รอบด้านก่อนรับ‘ร่างรธน.’ 

             จับตาการศึกษาไทยอาจเดินไปสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง!!.. หากร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.. (ฉบับก่อนลงประชามติ) ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้แถลงชี้แจงไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ผ่านการลงประชามติรับร่าง รัฐธรรมนูญและประกาศใช้อย่างเป็นทางการ...

             เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เขียนถึงหน้าที่ของรัฐในหมวดที่ 5 โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ในมาตรา 54 ระบุว่า “รัฐ ต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”

             ตีความว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้รัฐจัดการศึกษาแค่ 12 ปีโดยตัดส่วนของระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.4-6) รวมถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทิ้ง!! และไปเพิ่มการจัดการศึกษาในระดับอนุบาลแทน

             ทันทีที่มีการแถลงร่างรัฐธรรมนูญ ก็เกิดปรากฏการณ์เยาวชน “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” ออกมาเคลื่อนไหวทวงสิทธิการเรียนฟรีในระดับ ม.ปลาย

             ล่าสุด พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในฐานะเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Parit Chiwarak’ วิจารณ์การร่นสวัสดิการเรียนฟรี 12 ปีในร่างรัฐธรรมนูญ มาเริ่มที่อนุบาลจนถึง ม.ต้น

             “การให้ความสำคัญกับการดูแลพัฒนาการของเด็กช่วงอายุ 2-5 ปี เพื่อที่เด็กจะได้มีพื้นฐานที่เท่าเทียมกันนั้นมีความสำคัญ แต่การศึกษาในระดับชั้น ม.ปลาย และสายอาชีพก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน และควรที่จะใช้วิธีขยายระยะเวลาของสวัสดิการเรียนฟรี จาก 12 ปี เป็น 15 ปี ในรัฐธรรมนูญ และหากกลัวงบประมาณจะไม่พอ ก็ควรจะปล่อยให้รัฐบาลปกติที่เป็นตัวแทนของประชาชนตัดสินใจเองว่าจะให้ “เรียนฟรี 12 ปี” เริ่มต้นและสิ้นสุดที่ใด ไม่ใช่กงการของรัฐธรรมนูญที่จะระบุรายละเอียดขนาดนี้เลยแม้แต่น้อย”

             ไม่เว้นแม้แต่...สมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ นำโดย คมเทพ ประภายนต์ ได้ออกมาแสดงท่าทีคัดค้าน โดยระบุชัดว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อันเป็นที่ยอมรับตรงกันว่า ประเทศรัฐภาคีจะต้องยึดถือปฏิบัติร่วมกัน ข้อที่ 26 (1) ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับประถมศึกษาจะต้องเป็นภาคบังคับ การศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพจะต้องเปิดเป็นการทั่วไป และการศึกษาระดับสูงขึ้นไปจะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสำหรับทุกคนบนพื้นฐานของคุณสมบัติความเหมาะสม (2)การศึกษาจะต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพมนุษย์อย่างเต็มที่ และการเสริมสร้างความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพขั้นพื้นฐาน การศึกษาจะต้องส่งเสริมความเข้าใจ ขันติธรรม และมิตรภาพระหว่างประชาชาติ กลุ่มเชื้อชาติ หรือศาสนาทั้งมวล และจะต้องส่งเสริมกิจกรรมของสหประชาชาติ เพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ (3)ผู้ปกครองมีสิทธิเบื้องแรกที่จะเลือกประเภทการศึกษาที่จะให้แก่บุตรของตน

             สมาคมเครือข่ายฯ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สิ่งที่ขาดหายไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ คือคำว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิ” และ “การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ซึ่งเมื่อไปไล่เรียงในมาตราที่ 43 ของรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2540 และมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 จะปรากฏทั้งสองคำนี้จริง !
 
             ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพราะฉะนั้น ทุกมาตราที่บัญญัติขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องยึดถือปฏิบัติ เฉกเช่นเรื่องที่กำหนดเรื่องการจัดการศึกษาทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และฉบับ พ.ศ.2550  ที่ผ่านมาก็เพื่อเป็นกฎหมายบังคับให้รัฐต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กทุกคนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

             คำถามคือ ...เมื่อปรากฏว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตัดสิทธิเด็ก ม.ปลาย-ปวช.ออกไป และไปเน้นจัดการศึกษาเด็กอนุบาลถึงแค่การศึกษาภาคบังคับ หรือ ม.3 แทน จะถือเป็นการลิดรอนสิทธิของเด็กม.ปลาย และเด็ก ปวช.หรือไม่?

             ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อธิบายว่า ร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาให้ฟรีมีคุณภาพเป็นเวลา 12 ปี เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 เพียงแต่เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่ก่อนวัยเรียน 3 ปี ป.1-6 และระดับ ม.1-3 รวมเป็น 12 ปี แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และปี 50 ให้นับการเรียนฟรีตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
   
             ดร.ตวง บอกว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ได้ให้ความสำคัญกับเด็กวัยเรียนและระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น ที่ถือว่าเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาผู้เรียนที่สุด ซึ่งเห็นด้วยเพราะเป็นการวางรากฐานเด็กตั้งแต่พื้นฐาน เป็นสิ่งที่ทำแนวทางเดียวกันทั่วโลก สำหรับเด็ก ม.ปลาย และเด็กปวช. ในระดับนี้รัฐบาลทุกรัฐบาลมีกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้อยู่แล้ว ส่วนการเรียนฟรี 15 ปีนั้นเป็นนโยบายของพรรคการเมืองที่สามารถกำหนดให้เรียนฟรีได้มากกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้ จึงไม่เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์นักเรียนนักศึกษา แต่อย่างใด

             แต่ก็มีนักวิชาการศึกษาตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษาเป็นเรื่องสิทธิและโอกาส ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือเป็นการผลักดันให้เด็กออกจากระบบการศึกษามากกว่าสร้างโอกาส เพราะเหตุผลที่บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษามากขึ้นนั้น ไม่เป็นความจริง  ​

             ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า หากศึกษารายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเห็นได้ว่า เป็นการแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจนคือ กลุ่มเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้ปานกลาง ไปจนถึงรวย และกลุ่มเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน ซึ่งจะพบว่าเด็กกลุ่มครอบครัวรายได้ปานกลางไปจนถึงรวยจะมีโอกาสมากกว่า ขณะที่เด็กมาจากครอบครัวยากจนต้องถูกจำกัดตามการอุดหนุนของรัฐ และหากไม่มีการอุดหนุนไปจนถึง 15 ปี เด็กกลุ่มนี้ก็อาจจะเรียนจบเพียงชั้น ม.3 ทำให้พวกเขาขาดโอกาสทางอาชีพ และอนาคตมากขึ้น

             ส่วนที่บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องการส่งเสริมอุดหนุนเด็กอนุบาลมากขึ้น ความจริงในรัฐธรรมนูญเดิมก็มีการอุดหนุนให้แก่เด็กอนุบาลอยู่แล้ว และแม้ที่ผ่านมาจะมีการอุดหนุนรายหัว หรือการจัดเรียนฟรีไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ยังมีเด็กจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสนี้ได้ เพราะฉะนั้นหากลดการอุดหนุนรายหัวเหลือแค่อนุบาล-ม.3 เชื่อว่าจะมีเด็กจำนวนมากขึ้นที่ไม่ได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยในอนาคต

             รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโอกาส หรือการลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนการศึกษา ซึ่งการที่บอกว่าเป็นการช่วยเหลือเด็ก ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนว่าจะช่วยเหลือเด็กอย่างไร ดังนั้น ทุกฝ่ายควรพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะส่งผลดีต่อระบบการศึกษาจริงๆ หรือไม่ ก่อนจะมีการลงมติรับร่าง และประกาศใช้อย่างเป็นทางการ


ที่มา : คมชัดลึก