สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เกลี่ยแม่พิมพ์ชาติครั้งใหญ่ หลังพบครูขาด ครูเกิน สอนไม่ตรงสายจำนวนมาก

UploadImage 

                เมื่อวันที่ 5 เมษายน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งข้อมูลสภาพปัญหาอัตรากำลังการบรรจุครู รวมถึงปัญหาครูขาด ครูเกินในปัจจุบัน ให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใช้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาการบริหารจัดการเรื่องบุคลากรในภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาจะพบว่าไม่สามารถเกลี่ยคนข้ามเขตพื้นที่ฯได้ ทำให้การบริหารงานบุคคลของ สพฐ.มีปัญหามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสอนไม่ตรงสาขา ครูไม่ครบชั้น ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะเรามีโรงเรียนขนาดเล็กมากเกินไป ขณะที่ครูจะไปกระจุกตัวอยู่มากในโรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดใหญ่ ทั้งที่จำนวนครูของ สพฐ.ไม่ได้ขาดมากเหมือนในอดีต โดยเรามีนักเรียนทั้งระบบประมาณ 7 ล้านคน ขณะที่มีครูประมาณ 4 แสนคน คิดเป็นอัตราส่วนครู 1 คนต่อเด็ก 18 คน ซึ่งถือว่าไม่มากเกินไป
 
ตัวเลขภาพรวมของครู ทั้งอัตรากำลังที่มีอยู่กับการบรรจุจริง
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) มีอัตรากำลัง 293,045 อัตรา บรรจุจริง 302,008 อัตรา เกินอยู่ 8,963 อัตรา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) มีอัตรากำลัง 128,357 อัตรา บรรจุจริง 119,693 อัตรา ขาด 8,644 อัตรา
สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) มีอัตรากำลัง 9,717 อัตรา บรรจุจริง 4,428 อัตรา ขาด 5,529 อัตรา

เมื่อมาดูตัวเลขโรงเรียนที่มีครูขาด ครูเกิน 
สพป. ครูขาด 6,570 โรง เกิน 12,409 โรง ครูพอดี 9,009 โรง
สพม. ครูขาด 1,188 โรง ครูเกิน 955 โรง ครูพอดี 217 โรง
สศศ. ครูขาด 162 โรง ครูเกิน 10 โรง ครูพอดี 2 โรง
 
                “ส่วนตัวเลขครูสอนไม่ตรงสาขา สาขาปฐมวัย 9,750 คน ภาษาไทย 8,643 คน คณิตศาสตร์ 8,377 คน วิทยาศาสตร์ 2,437 คน ศิลปศึกษา 1,149 คน โดยโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนจำนวน 120 คนลงมา มีครู 84,941 คน มีจำนวนห้องเรียน 120,632 ห้อง ยังขาดครูอีกถึง 35,691 ห้อง ส่วนโรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป มีครูทั้งหมด 314,858 คน จำนวนห้องเรียน 224,067 ห้อง เท่ากับว่ามีครูเกินห้องเรียนถึง 90,790 ห้องเรียน จากตัวเลขจะเห็นว่า ครูของ สพฐ.ไม่ได้ขาด แต่มีปัญหาเรื่องการบริหารงานบุคคล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) นำไปใช้ในการแก้ปัญหาเกลี่ยครูลงพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมต่อไป” นายการุณกล่าว


ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์