สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ผลประชุมหารือคณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐาน และการพัฒนาผู้นำ (Human Capital Development)

          โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (Human Capital Development) ของคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (Public – Private Steering Committee) ประชุมหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน ของคณะทำงานดังกล่าว เมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2559 ที่ห้อง Platinum โดยมี นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตลอดจนคณะทำงานกลุ่มย่อยจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมประชุมหารือ
 


 

               รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ กล่าวว่า จากการที่หัวหน้าคณะรักษาความสบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเพื่อบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ขอให้คณะทำงานทั้ง 5  กลุ่มย่อย ได้ประสานงานการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ กับผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อร่วมกันวางแผนและพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งขอความร่วมมือภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการของ กศจ. ด้วย
 

             สำหรับผลการประชุมครั้งนี้ เป็นการรายงานความก้าวหน้าของคณะทำงาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้


          กลุ่มย่อยที่ 1 คณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับคุณภาพทางการจัดการศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสถานศึกษา และการเปิดเผยข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาล(Transparency, Monitoring, Evaluation, Digital Infrastructure and Media High Standard Education Accessibility)


         คณะทำงานได้นำเสนอสิ่งที่ได้ดำเนินการแล้ว คือ การดึงข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนจากระบบ DMC ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีอยู่แล้วมานำเสนอบนเว็บไซต์ และรวบรวมข้อมูลพิกัดโรงเรียนพร้อมทั้งเก็บข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของแต่ละโรงเรียน ตลอดจนสร้างเว็บไซต์โรงเรียนประชารัฐ


         ส่วนสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ การจัดทำแบบสอบถามออนไลน์เพื่อเก็บข้อมูลสิ่งที่โรงเรียนต้องการพัฒนา, กำหนด Username และ Password ให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐ และพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ สู่สาธารณชน นอกจากนี้ คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 1 มีกำหนดลงพื้นที่โรงเรียนในโครงการประชารัฐ เพื่อศึกษาแนวทางการวางโครงสร้างพื้นฐานด้วย


          กลุ่มย่อยที่ 2 คณะทำงานพัฒนาหลักสูตร ต้นแบบกระบวนการเรียนรู้ การประเมินผลกิจกรรมส่งเสริมด้านคุณธรรม จิตสาธารณะ และด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ (Curriculum, Teaching Technique and Manual, English Language Capability, Health, Heart and Ethics)

           
          ภายหลังจากการแจกแบบสอบถามไปยังโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐแล้ว ขณะนี้ได้รับแบบสอบถามกลับมากว่าร้อยละ 60 ซึ่งผลการสำรวจ
พบว่า รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด คือ รูปแบบที่ 2 : การนำการเรียนการสอนบางรายวิชาของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มาปรับใช้ (ร้อยละ 40) ในขณะที่ร้อยละ 27 ต้องการผสมผสานทั้งสามรูปแบบได้แก่ รูปแบบที่ 1 การเรียนการสอนตามแนวทางของ สพฐ., รูปแบบที่ 2:การเรียนการสอนบางรายวิชาของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ  และรูปแบบที่ 3 การเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษา

 
          อย่างไรก็ตามทั้ง 3 รูปแบบนี้จะนำมาใช้กับบางวิชาเท่านั้น เพราะทุกสถานศึกษาจะยึดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สพฐ. ซึ่งเป็นตัวกำหนดหลักสูตรรายวิชาต่าง ๆ อยู่แล้ว อีกทั้งจะเพิ่มหลักสูตรโรงเรียนคุณธรรม โดยจะทำการอบรมครูวิทยากรเป็นระยะเวลา 2 วัน จำนวน 120 -150 คนต่อ 1 รุ่น ซึ่งจะมีการจัดอบรมประมาณ 4 -5 รุ่น และครูวิทยากรเหล่านี้จะขยายผลไปยังโรงเรียนประชารัฐทั้ง 3,342 แห่งต่อไป รวมทั้งจะมีศึกษานิเทศก์ลงพื้นที่ติดตามและรายงานความก้าวหน้าของแต่ละพื้นที่

นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น จะมีการเสริมรายวิชาภาษาอังกฤษและพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในทุกชั้นปีด้วย


         กลุ่มย่อยที่ 3 คณะทำงานด้านพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ครู และการมีส่วนร่วมของชุมชน (Market Mechanism, Engagement Parents and Community, Funds, High Quality Principles and Teachers Leadership)

         
            คณะทำงานได้นำเสนอหัวข้อในการจัดอบรม เพื่อพัฒนาความสามารถของผู้บริหารและครูผู้สอน ดังนี้

- หัวข้อการอบรมผู้บริหารสถานศึกษา การบริหารสถานศึกษายุคดิจิทัล, ภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม, กลยุทธ์การตลาดสำหรับสถานศึกษา, กลยุทธ์การพัฒนาสถานศึกษา, การบริหารความเสี่ยงสำหรับสถานศึกษา, การบริหารงานคุณภาพของสถานศึกษา และกลยุทธ์การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน
- หัวข้อการอบรมครูผู้สอน 
เทคโนโลยีการศึกษา, การจัดการชั้นเรียนยุคดิจิทัล, แนะแนวและให้คำปรึกษาอย่างครูมืออาชีพ จากครูผู้สอนสู่ผู้อำนวยการเรียนรู้, การใช้ ICT ในการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน และเทคนิคการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนการสอน


           จากนี้ คณะทำงานจะส่งหัวข้อการอบรมให้ผู้เข้ารับการอบรมศึกษาก่อน และหากผู้เข้ารับการอบรมมีข้อสงสัยสามารถสอบถามผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะมีคณะทำงานตอบคำถามให้ รวมทั้งจะเร่งชี้แจงแนวทางโรงเรียนประชารัฐให้ผู้บริหารศึกษาและครูทำความเข้าใจก่อนเข้ารับการอบรม


           กลุ่มย่อยที่ 4 คณะทำงานด้านพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และการสร้างแรงจูงใจให้กับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ (Local and International Teachers, University Partnership and Incentive)

           
            คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 
มีแนวทางในการพัฒนากลไกเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการศึกษาใน แนวทาง คือ

1) การเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายและสิทธิประโยชน์ทางภาษี  เพื่อระดมการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน อาทิ การบริจาคเงินของทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา, การจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษาโครงการประชารัฐ และการระดมการสนับสนุนผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เป็นต้น
2) พัฒนาต้นแบบการศึกษาที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาโรงเรียนในโครงการประชารัฐ ด้วยการลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนเพื่อศึกษาแนวทางการนำชุมชนและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้นำโรงเรียนต้นแบบที่ดี (Best Practice) และจัดทำ Guideline ในรูปแบบของวิดีโอเพื่อเผยแพร่ ตลอดจนสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของชุมชน
3) พัฒนาความร่วมมือและกลไกการสร้างแรงจูงใจ  ระหว่างองค์กรหรือสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศด้วยการกำหนดมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจ


             กลุ่มย่อยที่ 5 คณะทำงานพัฒนาความเป็นเลิศในด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต และสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาค(Technology Mega Trends Hub R&D and Young Leadership Development)


            คณะทำงานฯ ได้เสนอแนวทางบูรณาการเชื่อมโยง LCI Program (Leadership, Change Management, Innovation) สู่ R&D Hub ที่มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อตอบปัญหาสังคมและการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อความเป็นเลิศ โดยมีแนวทางการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ (Centre of Excellence) สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้านของ Mega trends ได้แก่ Robotics, Nanotechnology, Biotechnology และ Digital Technology พร้อมทั้งสร้างนักวิจัยที่มีความรู้ใน ด้านนี้


            อีกทั้งมีแนวทางในการสร้าง National University, National Lab, Private University และ Private Lab และมีแนวคิดเสนอทางเลือกให้เด็กที่เรียนและจบการศึกษาสายวิทยาศาสตร์มีทางเลือกในสายอาชีพมากกว่าการเป็นครูหรืออาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ เช่น อาจจะส่งคนเหล่านี้มาร่วมทำการวิจัยต่อยอดกับภาคเอกชนได้


           จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะทำให้สามารถสร้างนักวิจัยที่มีความเป็นเลิศได้ และเพิ่มจำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีทักษะและความถนัดด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งทำให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ด้วย


           สำหรับแนวทางการพัฒนาความเป็นเลิศในด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต และสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาคนี้ ได้มีการเสนอให้รัฐบาลลงทุน 30% และเอกชนร่วมลงทุน 70% ซึ่งคณะทำงานฯ จะนำไปพิจารณาต่อไป
 


          นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน กล่าวว่า คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ จะรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้จัดทำรูปแบบการนำเสนอเป็นวีดิทัศน์สรุปผลการดำเนินงานทั้งหมดของคณะทำงานฯ ซึ่งประกอบด้วย ประเด็นสำคัญ ได้แก่ โครงการปฏิรูปการศึกษาตามยุทธศาสตร์ 10 ด้านสู่มาตรฐานสากล, โรงเรียนประชารัฐครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ และการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา (Educational Hub) ของอาเซียน


           สำหรับโครงการ CONNEXTEd School Partner Leadership Program ที่จะใช้เป็นแผนงาน (Platform) ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานนั้น จะมี School Partners จำนวน 1,000 คนจากภาคเอกชน ในการดูแลและให้ความช่วยเหลือโรงเรียนประชารัฐ และมี School Sponsor จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนโรงเรียนประชารัฐด้วย ในเบื้องต้นจะจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างองค์กรภาคเอกชนจำนวน10 องค์กรที่เป็นสมาชิกของคณะทำงานฯ และในอนาคตจะเปิดรับองค์กรภายนอกที่มีความสนใจในการสนับสนุนโรงเรียนประชารัฐด้วย


           ในส่วนของการอบรมผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนนั้น ขอให้คณะทำงานพิจารณาองค์ประกอบการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนให้คนเหล่านี้สร้างแผนงานในการปรับเปลี่ยนขึ้นมาด้วยตนเอง จนกระทั่งสามารถสร้าง KPIs เพื่อประเมินผลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยผู้บริหารสถานศึกษาจะทำงานใกล้ชิดกับผู้นำรุ่นใหม่ของภาคเอกชนที่จะมีการผลัดใบไปเรื่อย ๆ เนื่องจากอาสาสมัครผู้นำของภาคเอกชน รุ่นจะมีวาระการทำงาน 12 เดือน


          นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังให้ความสำคัญกับการจัดตั้งกองทุนโรงเรียน ซึ่งภาคเอกชนสามารถระดมเงินผ่านกองทุนดังกล่าวได้ หากการดำเนินงานกองทุนโรงเรียนประสบผลสำเร็จด้วยดีก็จะสามารถพัฒนาไปเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น กองทุนโรงเรียนประชารัฐได้


         ส่วนการพัฒนา R&D ในประเทศไทย พบว่า อำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการยังคาบเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะทำงานฯ จึงมีความเห็นว่า ควรจัดทำโครงสร้างการพัฒนา R&D ให้มีความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะระบุได้อย่างชัดเจนว่าการพัฒนา R&D จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงใด
 





 

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี ถ่ายภาพ

 บัลลังก์ โรหิตเสถียร : InfoGraphic


ที่มา : สำนักรัฐมนตรี