สอบเข้ามหาวิทยาลัย

รมว.ศธ.หารือความร่วมมือการศึกษากับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น

          ศึกษาธิการ – เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยต้องการให้เพิ่มจำนวนนักเรียนไทยไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นต่อเนื่องจากปัจจุบันเป็นอันดับ ของนักศึกษาต่างชาติในญี่ปุ่น พร้อมทั้งจะสนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา โดยเฉพาะหัวหน้าวิศวกร (Chief Engineer) ชาวไทย ย้ำตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เพื่อผลิตวิศวกรของประเทศอาเซียนกว่า 30,000 คน
 


             เมื่อวันพฤหัสบดีที่ เมษายน 2559 ที่ห้องรับรองจันทรเกษม, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ นายชิโระ ซะโดะชิมะ (H.E. Mr. Shiro Sadoshima) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือด้านการศึกษา


           นายชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักเรียนนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นจำนวน 3,250 คน มากเป็นอันดับ 6 ของจำนวนนักเรียนนักศึกษาชาวต่างชาติที่เข้าศึกษาในญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงคาดหวังว่าจำนวนนักเรียนนักศึกษาไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งญี่ปุ่นจะดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษากับไทยต่อไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะของบุคลากรทางการศึกษาของทั้งสองประเทศ


           นอกจากนี้ การที่มีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นจำนวนมากเข้ามาลงทุนในไทย จึงขอความร่วมมือกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีวศึกษา เนื่องจากต้องการกำลังคนมาเสริมธุรกิจในบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น อาทิ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ที่มีความต้องการบุคลากรในตำแหน่งหัวหน้าวิศวกร (Chief Engineer) ที่เป็นชาวไทย อีกทั้งมีเป้าหมายจะผลิตวิศวกรในกลุ่มประเทศอาเซียนกว่า 30,000 คน และต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการผลิตกำลังคนดังกล่าว โดยเชื่อมั่นว่าไทยและญี่ปุ่นจะดำเนินการผลิตและพัฒนากำลังคนร่วมกันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากไทยและญี่ปุ่นมีวิธีการผลิตคนที่มีความคล้ายคลึงกัน


           สำหรับระบบการสร้างสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานนั้นเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ไม่ยาก โดยสิ่งสำคัญคือการพิจารณาความต้องการของบริษัทต่าง ๆ และผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการนั้น ซึ่งการพัฒนาด้านอาชีวศึกษาในไทยไม่ได้เป็นการทำประโยชน์เพื่อบริษัทญี่ปุ่น แต่เป็นการพัฒนาเพื่อคนไทยด้วย


           ในส่วนของการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านอาชีวศึกษามาโดยตลอด ด้วยการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีวศึกษา เพราะการลงทุนด้านการศึกษาคือการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ที่จะได้ผลตอบแทนกลับมาอย่างคุ้มค่าที่สุด


            พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งวัฒนธรรมของไทยและญี่ปุ่นก็มีความคล้ายคลึงกัน ตลอดจนทั้งสองประเทศยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศเช่นเดียวกัน


            ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่เจริญแล้วและประชากรในประเทศมีระเบียบวินัยสูง จึงมีความสนใจที่จะศึกษาว่าญี่ปุ่นมีการจัดระบบการศึกษาอย่างไรที่ทำให้คนในประเทศมีระเบียบวินัย และประเทศก็มีความเจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้านด้วย จึงได้มีการส่งบุคลากรไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอาชีวศึกษาของญี่ปุ่นที่ใช้รูปแบบโคเซ็น (Kosen) ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและประสบความสำเร็จอย่างมาก ถือเป็นตัวอย่างการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้ โดยในเดือนกรกฎาคมนี้จะมีสถาบันอาชีวศึกษา 5 แห่ง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมมือกับโคเซ็นในการพัฒนาการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาต่อไป


              นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากเข้ามาลงทุนในไทย ทำให้ไทยต้องเร่งผลิตกำลังคนให้เพียงพอต่อธุรกิจของญี่ปุ่นที่กำลังเติบโตขึ้น เพราะในอดีตค่านิยมการเรียนอาชีวศึกษาของไทยไม่ดีนัก แต่รัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญด้านอาชีวศึกษามาก ทำให้ค่านิยมการเรียนในระดับอาชีวศึกษาดีขึ้น โดยมีจำนวนเด็กเข้าเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น หากไทยและญี่ปุ่นได้มีความร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา ก็จะทำให้ไทยผลิตกำลังคนได้ตรงตามความต้องการของญี่ปุ่นด้วย


             รมว.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับการที่กระทรวงศึกษาธิการจะได้มีโอกาสร่วมมือกับญี่ปุ่นในการผลิตหัวหน้าวิศวกรตามที่ญี่ปุ่นต้องการ โดยจะพิจารณาร่วมกันจัดทำหลักสูตรที่ทำให้ผู้เรียนสามารถประกอบอาชีพวิศวกรได้ทันทีภายหลังจบการศึกษา ซึ่งในขณะนี้ไทยได้มีการจัดระบบการศึกษาแบบ Work Integrated Learning : WIL กล่าวคือ การเรียนและฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการจริงก่อนจบการศึกษา เพื่อพัฒนาฝีมือตามความต้องการของสถานประกอบการนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้เรียนที่จะสามารถประกอบอาชีพได้หลังสำเร็จการศึกษาได้


           ในส่วนของการจัดตั้งศูนย์ทดสอบคุณสมบัติเพื่อวัดความสามารถของบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานกับบริษัทต่าง ๆ ของญี่ปุ่นนั้น เป็นความคิดที่น่าสนใจเพราะมาตรฐานของญี่ปุ่นนั้นมีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก หากทั้งสองฝ่ายคิดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ไทยและญี่ปุ่นได้ประโยชน์ร่วมกัน ขอให้นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาในรายละเอียดเชิงลึกเพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันต่อไป

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ



ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี