สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ผลประชุมโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ครั้งที่ 1/2559

        ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 11 เมษายน 2559 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้แทนองค์กรหลัก, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, สำนักงบประมาณ, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

             รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการรายงานผล กรณีนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ที่เข้าศึกษาต่อในสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทำผิดระเบียบของมหาวิทยาลัยด้วยการทุจริตในการสอบ ซึ่งในขณะนี้ได้รับการยืนยันจากมหาวิทยาลัยแล้วว่า กระทำการทุจริตจริง จึงต้องพ้นสภาพการเป็นนักเรียนทุน ที่ประชุมจึงมีมติระงับการให้ทุนกับนักเรียนดังกล่าว ตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เสนอ ส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ได้จ่ายให้กับนักเรียนทุนไปแล้วนั้น ไม่มีระเบียบใด ๆ ระบุว่าให้สามารถเรียกคืนได้ ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นการให้ทุนที่มีระเบียบและเงื่อนไขหละหลวมมาก เพราะที่ผ่านมาพบว่าปัญหาของนักเรียนทุนโครงการนี้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น เรียนไม่จบ, สมรสแล้วไม่กลับประเทศไทย, การเจ็บป่วย, ทำผิดระเบียบ เป็นต้น


             ส่วนการที่มีการกล่าวถึงโครงการนี้ว่าเป็นทุนให้เปล่าที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงของนักการเมืองในอดีตนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนทราบดีว่าคุณสมบัติของเด็กสามารถรับทุนได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่มีนักเรียนทุนบางส่วนที่ผู้ปกครองมีรายได้เกิน 200,000 บาทต่อปี ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่เข้าหลักเกณฑ์ของผู้รับทุน ดังนั้นเด็กจึงถือเป็นปลายเหตุของปัญหาและไม่ได้ต้องการดำเนินการให้ส่งผลกระทบต่อเด็ก พร้อมทั้งยืนยันว่าจะไม่ตัดสิทธิ์เด็กที่ได้รับทุนไปแล้ว จึงฝากถึงเด็กที่รับทุนทุกคนทั้ง รุ่นที่ผ่านมาว่า เมื่อได้รับทุนแล้วก็ไม่ต้องกังวล ขอให้ตั้งใจเรียนและกลับมารับใช้ประเทศชาติ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะดูแลนักเรียนทุนทุกคน


            ทั้งนี้ ในอนาคตหากมีการดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 5 จะต้องปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งหมด โดยต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจนคล้ายกับโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพราะสถานะทางการเงินการคลังของประเทศไม่ได้ร่ำรวยมากนัก ที่สำคัญคือการพิจารณา 3 ส่วน ได้แก่ กติกาเดิมกำหนดไว้อย่างไร ปัญหาจากเงื่อนไขและกติกาเดิม ตลอดจนเงื่อนไขหรือกติกาใหม่จะใช้อะไรมาอุดช่องว่างของปัญหาเดิม รวมทั้งควรพิจารณาในสาขาที่ขาดแคลนของประเทศด้วย โดยประเด็นต่างๆ เหล่านี้มอบให้สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. นำไปพิจารณาและจัดทำข้อสรุปมาเสนอที่ประชุมต่อไป


            อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกำลังชั่งน้ำหนักว่าจะดำเนินโครงการต่อหรือไม่ เนื่องจากต้องพิจารณาในหลาย ๆ ประเด็น ทั้งข้อดีและข้อเสีย และประเทศชาติได้ประโยชน์อะไรบ้าง แม้ที่ผ่านมาโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน มีข้อดี คือ การให้โอกาสเด็กในชนบทและมีฐานะยากจนได้ไปศึกษาต่างประเทศ


           นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่เด็กได้รับเงินทุนล่าช้าและมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของนักเรียนทุนได้รับเงินค่าเทอมล่าช้า ซึ่งที่ประชุมเสนอว่าให้ตั้งงบประมาณโครงการฯ ไปที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยตรง โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่บูรณาการงบประมาณในส่วนต่าง ๆ เช่นเดิม วิธีนี้จะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณง่ายขึ้น อีกทั้งจะทำให้เด็กได้รับเงินค่าใช้จ่ายเร็วขึ้น จึงมอบสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโครงการ จัดทำผังงาน (Flowchart) ขั้นตอนของงบประมาณ แล้วเสนอให้ที่ประชุมได้พิจารณาครั้งต่อไป


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ


ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี