สอบเข้ามหาวิทยาลัย

หารือกับ ปอมท.ใน 3 ประเด็น คือ ธรรมาภิบาล-เปิดปิดภาคเรียน-ระบบรับตรง

             ศึกษาธิการ - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนางอรสา ภาววิมล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประชุมหารือร่วมกับ รศ.ดร.ชัยวุฒิ ฉัตรอุทัย ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) และประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้ง 27 แห่ง เมื่อวันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2559 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม โดยได้หารือร่วมกันใน 3 ประเด็นหลัก คือ ธรรมาภิบาล-เปิดปิดภาคเรียน-ระบบรับตรง

1. ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา

             ประธาน ปอมท. กล่าวว่า ภายหลังจาก ปอมท.ได้เข้าพบรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ซึ่งรัฐมนตรีได้ฝากประเด็นนี้ไปหารือร่วมกับองค์กรและบุคคลที่เกี่ยวข้อง จึงได้มานำเสนอข้อสรุปที่สำคัญจากการหารือร่วมกัน โดยสรุปคือปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษานั้น ส่วนใหญ่เกิดจากตัวบุคคลระดับผู้บริหารในโครงสร้างหลักของมหาวิทยาลัยที่มีอธิการบดีเป็นผู้บริหารสูงสุด และมีนายกสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิของ
  
           มหาวิทยาลัย ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการของมหาวิทยาลัย จึงต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้ความสำคัญกับ 
1) กระบวนการสรรหา โดยเน้นหลักการมีส่วนร่วมไตรภาคี 2) ให้มีกลไกการตรวจสอบและประเมินการทำงานของอธิการบดี และให้มีการประเมินกรรมการสภามหาวิทยาลัยเพิ่มด้วย 3) พิจารณาทบทวนการดำรงตำแหน่ง ของนายกสภามหาวิทยาลัยให้ไม่เกิน 1 แห่ง และกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่เกิน 3 แห่ง (ปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่จำกัด) และต้องมีวาระดำรงตำแหน่งติดต่อกันไม่เกิน 2 วาระ (ปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่จำกัด) ซึ่งหากทบทวนกลไกเหล่านี้ จะช่วยทำให้บุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ได้ตระหนักถึงการได้รับคัดเลือก และมีเวลาบริหารงานแต่ละมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

             รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้เห็นสอดคล้องกันในเรื่องปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา จึงได้มอบให้ สกอ. ไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกมหาวิทยาลัยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวใจเรื่องธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาอยู่ที่ "สภามหาวิทยาลัย" แม้ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 จะมีธรรมาภิบาลที่ดี แต่มีเพียงบางแห่งเท่านั้นที่มีปัญหาตามที่ปรากฏเป็นข่าว

2. การทบทวนการเปิด-ปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษาตามกลุ่มอาเซียน

             ประธาน ปอมท. กล่าวว่า ได้ส่งแบบสอบถามไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งผลสำรวจพบว่า คณาจารย์กว่าร้อยละ 73 รวมทั้งบุคลากรสายสนับสนุนการสอน ร้อยละ 63 และนักศึกษา ร้อยละ 61 ไม่เห็นด้วยกับการเปิด-ปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษาตามกลุ่มอาเซียน ซึ่งมีหลายเหตุผลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ความร้อน การใช้พลังงานไฟฟ้า ทรัพยากรน้ำ การเปิดปิดที่ไม่สอดคล้องกับโรงเรียน จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการได้ทบทวนเรื่องนี้

              รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้รับฟังความเห็นครั้งนี้แล้ว จะฟังความเห็นจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อีกครั้งหนึ่งก่อน ดังนั้นหากจะตัดสินใจเรื่องใดๆ ก็จำเป็นต้องพิจารณาด้วยเหตุผล ความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง  และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก แต่ไม่ทิ้งประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน

3. การรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

             ประธาน ปอมท. กล่าวว่า ในเรื่องนี้ รัฐมนตรีได้ฝากให้เป็นการบ้านไปพิจารณาระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งระบบ Admissions ที่ให้พิจารณาจากผลการเรียนเฉลี่ยตลอดการศึกษาช่วงชั้นที่ 4 (GPAX) ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ผลการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และผลการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT) รวมทั้งระบบการสอบตรง ซึ่งใช้มานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่พบสิ่งที่น่าเป็นห่วงตามมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการไปสมัครสอบรับตรงหลายแห่งของผู้ปกครองและเด็ก รวมทั้งปัญหาคุณภาพในห้องเรียน

            รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้มอบประเด็นนี้ให้ ปอมท. พิจารณาระบบการสอบตรง ซึ่งมีผลทำให้ผู้ปกครองและเด็กมีค่าใช้จ่ายและภาระในการไปสมัครสอบหลายแห่ง แต่ขณะเดียวกันก็จะต้องให้มหาวิทยาลัยได้เด็กที่มีความสามารถตามต้องการด้วย นอกจากนี้ให้พิจารณาห้วงเวลาในการสอบ GAT/PAT ใหม่ โดยเฉพาะการสอบครั้งแรกซึ่งสอบในช่วงเดือนตุลาคม มาจัดสอบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หลังเด็กจบ ม.6 แล้ว เพื่อให้เรียนในห้องเรียนได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนปรับปรุงระบบการสอบต่างๆ ที่จะต้องลดภาระเด็กให้มาก เพราะระบบนี้เอื้อให้มหาวิทยาลัยบางแห่งเข้ามาช้อนเด็กตั้งแต่ชั้น ม.5

           รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงอุดมศึกษาด้วยว่า หากจะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขในเรื่องนี้ ควรเขียนกติกาให้รัดกุม มีข้อมูลแสดงให้เห็นชัดเจนถึงสภาพและปัญหาที่พบในช่วงเวลาที่ผ่านมา และการปรับปรุงโครงสร้างจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เคยมีได้อย่างไรบ้าง ส่วนประเด็นการแก้ไขปัญหาการทุจริตในทุกหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว เช่น กรณีการตรวจพบเสื้อผ้านักเรียนในคลังสินค้าขององค์การค้าของ สกสค. กว่า 460,000 ชิ้น จนต้องนำมาจำหน่ายในราคาต้นทุนแก่ประชาชน แม้หลายเรื่องอาจจะยังหาหลักฐานได้ยากในเวลานี้ แต่ก็จำเป็นต้องดำเนินการจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น รวมทั้งป้องกันไม่ให้ระบบการศึกษาไปเอื้อต่อการทุจริตของคนบางคน

 



ที่มา : ข่าวสำนักรัฐมนตรี