สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ศธ.เร่งคลอดกฎหมายลูกเรียนฟรี 15 ปี

UploadImage
สร้างหลักประกันถาวรให้ชาวบ้าน เล็งขยายภาคบังคับรับ รธน.ใหม่

               สืบเนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับลงประชามติ) หมวด 5 มาตรา 54 ที่ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ประชาชนเกิดความห่วงใยว่าจะส่งผลให้นักเรียนชั้น ม.ปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ไม่ได้รับการอุดหนุน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดทำกฎหมายลูก เพื่อรองรับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อสร้างความชัดเจนว่ารัฐบาลสนับสนุนการศึกษาตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 รวมถึง ปวช.อย่างถาวร จากเดิมที่ ศธ.ดำเนินการโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ตามนโยบายเดิม ทั้งนี้เพื่อเตรียมรองรับกรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากการลงประชามติ ทั้งนี้สาระสำคัญที่ระบุว่ารัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น ระยะเวลา 12 ปีที่กำหนดไว้คืออย่างน้อย การอุดหนุนมากกว่าที่กำหนดไว้ถือว่าไม่ผิด ดังนั้น ศธ.จะเร่งทำกฎหมายลูกรองรับให้มีการอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองว่ารัฐจะรับภาระระบบงบประมาณอุดหนุนการจัดการศึกษาที่จะเกิดขึ้น

              รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษา ซึ่งตนสัญญาว่าจะดูแลงบประมาณของ ศธ.ไม่ให้มีการใช้จ่ายอย่างอีลุ่ยฉุยแฉก สามารถอธิบายได้ทุกยอดการใช้จ่ายซึ่งในการจัดตั้งงบประมาณปีงบฯ 2560 เลขาธิการองค์กรหลักทุกแห่งต้องอธิบายทุกโครงการได้ และมีการจัดงบฯอุดหนุน 15 ปีไว้แล้ว สำหรับการศึกษาภาคบังคับที่บังคับผู้ปกครองต้องส่งบุตรหลานในอุปการะเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ทั้งนี้ ตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.3 หรืออายุตั้งแต่ 7-16 ปีนั้น อยากจะขยายเป็น 12 ปี โดยเริ่มตั้งแต่อนุบาล 3 ปีหรืออายุ 4 ขวบ เพราะเป็นช่วงวัยที่จะได้รับการพัฒนาสูงสุดตามหลักวิชาการ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการศึกษาภาคบังคับที่เดิมกำหนดไว้ 9 ปีนั้น ต้องมาหารือกันอย่างละเอียดว่าต้องมีการปรับรายละเอียดจำนวนปีเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ.


ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์