สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เด็กเชียงราย คว้าแชมป์ประกวดโครงงานระดับโลก

UploadImage
 
               ความสามารถไม่แพ้เด็กชาติใด นักเรียน ร.ร.ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ คว้ารางวัลที่ 1 ในการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก ที่สหรัฐฯ...

              ข่าวดีของเด็กไทยรายนี้ เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 14 พ.ค. โดย นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รักษาการผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในฐานะหัวหน้าคณะนักเรียนไทยที่เข้าร่วมประกวดในงานมหกรรมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า อพวช. ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ส่งนักเรียนไทยที่เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก อินเทล ไอเซฟ 2016 ครั้งที่ 67(The Intel International Science and Engineering Fair 2016) (Intel ISEF) ที่เมืองฟีนิกซ์ มลรัฐอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค.2559 

              ทั้งนี้ งานดังกล่าวถือเป็นการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มีตัวแทนนักเรียนจาก 80 ประเทศทั่วโลก กว่า 1,800 คน ลงชิงชัย แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นรางวัล Special Award The Scientiflc Research Society of Sigma Xi จาก Sigma Science ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศสหรัฐฯ ที่พิจารณาจากชิ้นงานของผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมดใน 15 สาขา เช่น วิศวกรรม พืชวิทยา สัตวศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พลังงาน และการขนส่ง เป็นต้น ปรากฏว่า ทีมเยาวชนไทยประกอบด้วย น.ส.ชลันธร ดวงงา และ น.ส.รุ้งลาวัลย์ ชาภักดี นักเรียน ม.5 จาก ร.ร.ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย สามารถคว้ารางวัลที่ 1 เฉือนคู่แข่งจาก 80 ประเทศทั่วโลกไปได้ด้วยผลงาน “การศึกษาพฤติกรรมการตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงของหนอนไหม เพื่อผลิตเครื่องมือใช้ควบคุมการพ่นใยไหมในการผลิตแผ่นใยไหม” 

               นายสาคร กล่าวต่อว่า ส่วนที่สอง ทีมเยาวชนไทยที่ประกอบด้วย น.ส.ชลันธร ดวงงา และ น.ส.รุ้งลาวัลย์ ชาภักดี นักเรียน ม.5 จาก ร.ร.ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ได้นำผลงาน “การศึกษาพฤติกรรมการตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงของหนอนไหม เพื่อผลิตเครื่องมือใช้ควบคุมการพ่นใยไหมในการผลิตแผ่นใยไหม” เข้าแข่งขันในสาขาสัตวศาสตร์ ปรากฏว่า ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 แพ้คู่แข่งจากประเทศสหรัฐฯ ที่ได้รางวัลชนะเลิศ 

               นอกจากนี้ ตัวแทนทีมเยาวชนไทย ยังสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในสาขาเดียวกันมาได้จากโครงงาน “การศึกษาผลของสารในใบไม้แห้งที่มีผลต่อสมบัติทางเคมีของหวอดจากประยุกต์ใช้สารสกัดจากหวอด” ของ นายธัชกร จินตวลากร และนายภูวนาถ เตรียมชาญชัย จาก ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ทั้งนี้ การได้รับรางวัลอันดับ 2 และ 3 ในการแข่งขันครั้งนี้ ถือว่าเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอย่างมาก เพราะกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก

              ด้าน น.ส.รุ้งลาวัลย์ ชาภักดี นักเรียน ม.5 ร.ร.ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ซึ่งคว้าที่ 1 รางวัล Special Award The Scientiflc Research Society of Sigma Xi และรางวัลที่ 2 ในสาขาสัตวศาสตร์ กล่าวว่า โครงงานนี้เกิดจากความตั้งใจของตนและเพื่อนที่ต้องการจะช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงหม่อนไหมในชุมชน ยืดอายุของหนอนไหม โดยพวกตนได้ทำการสังเกตพฤติกรรมของหนอนไหมเมื่อถูกปล่อยให้เคลื่อนที่บนจ่อที่ตั้งเอียงที่ความชันระดับต่างๆ พบว่า หนอนไหมจะเคลื่อนที่ขึ้นเสมอ และยังสามารถพ่นใยไหมเป็นแผ่นได้ จากนั้นจึงได้ศึกษาระดับความชันและคุณภาพของแผ่นไหมที่ได้ จนได้ค่าที่เหมาะสมที่ทำให้ได้แผ่นใยไหมคุณภาพดี และนำมาออกแบบอุปกรณ์เป็นแผ่นเฟรมไม้ ซึ่งจะช่วยในการกระจายตัวของเส้นใยไหมในการผลิตใยไหม ซึ่งเดิมใช้จ่อแบบแนวราบ และใช้มือในการกระจายตัวหนอนไหม ผลงานนี้จึงเป็นการช่วยลดต้นทุนแรงงานที่ต้องคอยใช้มือกระจายตัวหนอนไหม ที่สำคัญ เมื่อลดการใช้มือสัมผัสหนอนไหมได้ อายุของหนอนไหมก็จะยาวขึ้นจากเดิมที่เคยให้ผลผลิตได้ 2 รุ่น ก็จะเพิ่มเป็น 6 รุ่น ทำให้ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนและช่วยเพิ่มผลผลิตได้อีก

              ด้าน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานด่วนเมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำคณะนักเรียนไปจัดแสดงและประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ในเวที Asian Young Inventors Exhibition 2016 (AYIE) ที่ศูนย์ประชุมกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย จำนวน 8 ผลงาน โดยมีผลงานสิ่งประดิษฐ์ 130 ผลงาน จาก 12 ประเทศเข้าร่วม 

              ปรากฏว่า นักเรียนไทยคว้ารางวัลทั้ง 8 ผลงาน ประกอบด้วย 6 เหรียญทอง ได้แก่ ผลงาน “เครื่องช่วยให้อาหารปลายี่สกไทย” โดย ด.ญ.กัชบงกช หมอทรัพย์ และ ด.ช.ณัฐภูมิ มีแก้ว ม.1 ร.ร.เบญจมราชูทิศ ราชบุรี ผลงาน “ถุงเพาะชำ REUSE” โดย ด.ญ.กัญยานี จันทร์ชู และ ด.ญ.ปิยวรรณ นุ่นพังยาง ม.2 ร.ร.คลองแดนวิทยา จ.สงขลา ผลงาน “อุปกรณ์ช่วยติดตายาง” โดย น.ส.ธัญธิดา ทองเพชร และ น.ส.ภัทรภรณ์ ทิพย์ป่าเว ม.5 ร.ร.กาญจนาภิเษกวิทยาลัยสุราษฎร์ธานี ผลงาน “วัสดุทดแทนไม้เชิงวิศวกรรมคุณภาพสูงฆ่าเชื้อ MERS ต้านอนุมูลอิสระ เสริมความงามจากกากเบียร์” โดย นายปิ่นกมล เรืองเดช ม.6 ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัยเพชรบุรี ผลงาน “การดัดแปลงคาร์บอนโพรงจากแบคทีเรียเซลลูโลสเป็น Polymer Electrode Membrane” โดย นายปัณณวัฒน์ เพียรจัด ม.6 ร.ร.สุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี

              ผลงาน “ถุงมือสัญญาณจราจร GTS” โดย นายเจษฎากรณ์ เพชรสถิต และ นายปฏิพล จันทบูรณ์ ม.5 ร.ร.สุราษฎร์พิทยา นอกจากนี้ยังได้ 1 เหรียญเงินจาก ผลงาน “ชุดรองแก้วอเนกประสงค์ (Multi-purpose Saucer Set)” โดย น.ส.ขวัญทิวา พัวสัมพันธ์ และ น.ส.ชุติกาญจน์ มหัทธนทวี ม.5 ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี และ 1 เหรียญทองแดง จากผลงาน “รองเท้าแสงไฟตอนกลางคืนสำหรับผู้สูงอายุ” โดย ด.ญ.จุฑารัตน์ สุขระ และ ด.ญ.ศศินา สมเหมาะ ม.2 ร.ร.วัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) จ.สุพรรณบุรี ทั้งนี้ผลงาน “วัสดุทดแทนไม้เชิงวิศวกรรมคุณภาพสูงฆ่าเชื้อ MERS ต้านอนุมูลอิสระ เสริมความงามจากกากเบียร์” ของ ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัยเพชรบุรี ยังได้รับรางวัล THE BEST MAN INVENTOR จาก INTERNATIONAL FEDERATION OF INVENTORS’ ASSOCIATION (IFIA)


ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์