"จากจินตนาการผ่านการดีไซน์" รีวิวสาขาการออกแบบแฟชั่น : U-Review

18 พ.ย. 59 18:54 น.

1 ในปัจจัย 4 ที่เราไม่สามารถขาดไปได้ สร้างสรรค์จากจินตนาการผ่านการดีไซน์ จนได้เสื้อผ้าให้เราสวมใส่ เราได้รู้จัก เราได้เห็นดีไซน์เนอร์หลายๆ คนประสบความสำเร็จ สร้างสรรค์ผลงานผ่านเวทีระดับโลก สร้างแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตนเอง แต่กว่า Coco Chanel จะกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก และทำให้ผู้หญิงใส่กางเกงได้ เธอต้องก้าวผ่านการดูถูกเหยียดหยามและคำนินทาว่าร้ายจากสังคมมากมาย กว่า Yves Saint Laurent จะโด่งดัง เขาต้องทำงานอย่างหนัก ฉะนั้นสิ่งแรกที่คนอยากเรียนในสาขาการออกแบบแฟชั่นต้องทำคือ การเตรียมใจที่จะต้องพบเจอกับการฝึกฝนทักษะอย่างหนัก  
 


สาขาการออกแบบแฟชั่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต หลักสูตรสำหรับน้องๆ ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มีใจรักด้านแฟชั่นและการตัดเย็บเสื้อผ้า โดยไม่ต้องกังวลว่าทักษะการตัดเย็บหรือการออกแบบจะไม่เก่งเท่าคนอื่น เมื่อน้องๆ เข้ามาเรียนในปี 1 จะได้เริ่มต้นเรียนพื้นฐานการวาดเส้น หลักการเขียนแบบเหมือนกันหมด จากนั้นจึงจะเรียนลึกในด้านการออกแบบแฟชั่น การวาดสรีระโครงหุ่นแฟชั่น การสร้างแบบและการตัดเย็บพื้นฐาน ประวัติและแบบอย่างศิลปะ ทฤษฎีสีเพื่อการออกแบบแฟชั่น และสุนทรียศาสตร์ในงานแฟชั่น
 


UploadImage



จากนั้นในชั้นปีที่ 2 เมื่อน้องๆ มีพื้นฐานเรื่องการวาดเส้นและการจัดวางองค์ประกอบศิลป์แล้ว ก็จะเริ่มการออกแบบลวดลาย การใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกสำหรับงานแฟชั่นและสิ่งทอ และได้เรียนรู้เทคนิคที่เป็นภูมิปัญญาไทยต่างๆ ทั้งการทำผ้ามัดย้อม การออกแบบลายผ้าด้วยอุปกรณ์พื้นบ้านอย่างเครื่องทอ ซึ่งทางสาขาจะเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาช่วยสอนด้วย ที่สาขาจะค้อนข้างเปิดกว้างเรื่องการสร้างสรรค์ผลงานของน้องๆ แล้วแต่แรงบันดาลใจ
 


ด้านการฝึกปฏิบัติ จะเริ่มจริงจังขึ้นตั้งแต่ปี 2 ปี 3 นอกจากเรียนการสร้างแบบ การตัดเย็บ การออกแบบเครื่องแต่งกายเพื่อการแสดง การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การทำผ้าบาติก และการทำซิลค์สกรีนแล้ว ที่นี่น้องๆ จะต้องได้ออกแบบ Accessories เช่น รองเท้า สร้อย หมวก รวมไปถึงเรียนการตลาดสินค้าแฟชั่น การบริหารการค้าปลีกในธุรกิจแฟชั่น และทัศนะศึกษาแฟชั่นและสิ่งทอด้วย
 


UploadImage

“เราไม่ได้เน้นว่าจะต้องไปเย็บเสื้อเป็นร้อยๆตัว แต่จะต้องถ่ายทอดให้ช่างเย็บที่ร่วมงานทำตามที่เราออกแบบมาได้อย่างสมบูรณ์”
ดร.พนิดา ชื่นชม คณบดีคณะศิลปะศาสตร์
 


จากจิตนาการผ่านการดีไซน์ จนมาถึงการลงมือทำกับของจริง ได้พบเจอกับอุปสรรค์ปัญหา ได้เรียนรู้วิธีการและเทคนิคในการจัดการแก้ไขปัญหาในกระบวนการออกแบบแฟชั่น ที่นี่ไม่ได้เน้นว่าน้องๆ จะต้องสามารถตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นร้อยๆ ตัว แต่นักศึกษาจะต้องสามารถถ่ายทอดให้ช่างเย็บที่ร่วมงานด้วยในอนาคตให้ทำตามที่ออกแบบมาได้อย่างสมบูรณ์ โดยที่นักศึกษาจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าการเย็บในแต่ละแบบแต่ละขั้นตอนนั้นเรียกว่าอะไร ซึ่งนักศึกษาจะลงมือทำแค่ตัวต้นแบบเพียงเท่านั้น พอปี 4 น้องๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดงานโครงการแฟชั่นและสิ่งทอ จะได้จัดงานเดินแบบ Fashion Show งานใหญ่ โดยรวมผลงานนักศึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัย ในช่วงเดือนมีนาคม และจากนั้นจะได้ฝึกสหกิจศึกษาที่สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องก่อนเรียนจบ
 

UploadImage

"เราได้ปฏิบัติงานจริง ได้ทำงานจริง การทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ และเป็นสาขาที่เปิดโลกกว้างให้เราทุกคน"


 
UploadImage

"นอกจากการดีไซน์ ยังได้เรียนการออกแบบ Accessories ด้วย เราสามารถประยุคการออกแบบกับเรื่องต่างๆ ได้ด้วย"



โดยทั่วไปคนจะมองว่าคนที่เรียนสาขาการออกแบบแฟชั่นจบออกมาต้องเป็นนักออกแบบแฟชั่น (Designer) เท่านั้น แต่นอกจากนี้แล้ว บัณฑิตสาขานี้ก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจที่สร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง และสามารถประกอบอาชีพอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น สไตล์ลิส (Stylish) ที่คอยดูแลเกี่ยวกับเสื้อผ้า นักออกแบบเครื่องประดับตกแต่ง (Accessories) หรือนักวาดภาพประกอบแฟชั่น รวมทั้งในสายงานแฟชั่นด้านอื่นๆ ตามความถนัดและสนใจด้วย


 


เรื่องโดย P' เอ็ม AdmissionPremium
ภาพโดย ทีมงาน AdmissionPremium