"เมื่อแฟชั่นสื่อสารกับโลก" รีวิวสาขาการออกแบบแฟชั่น : U-Review

03 มี.ค. 60 13:49 น.

แฟชั่นกำลังบอกอะไรเรา เมื่อเราเห็นเด็กนักเรียน ตำรวจ และทหารในเครื่องแบบ แฟชั่นกำลังบอกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียว เมื่อเราเห็นผู้คนที่เดินสวนกับเราบนท้องถนน พนักงานออฟฟิศในสูทเรียบหรู หญิงสาวในชุดน่ารักกับเดทแรกของเธอ หนุ่มร็อคในเสื้อยีนสุดคูล แฟชั่นกำลังบอกถึงความแตกต่างหลากหลาย กำลังบอกสิ่งที่เขาและเธอกำลังไปทำ การสื่อสารและแฟชั่นจึงเป็นเรื่องเดียวกัน แฟชั่นดีไซเนอร์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ด้านการสื่อสารด้วย จำเป็นต้องรู้ว่าชุดที่ออกแบบนั้นจะสื่อสารอะไร และจะสื่อสารอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจจุดยืนของแบรนด์


 
UploadImage

“เราเชื่อว่าหลักสูตรนี้จะเปิดโอกาสให้นักศึกษามากขึ้น
ให้สามารถก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมทางแฟชั่นที่หลากหลายในอนาคต”
อาจารย์ มานินทร์ เจริญลาภ
คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์มีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม
 



จุดเด่นของสาขาการออกแบบแฟชั่น ในคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม คือความสามารถในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งการสื่อสารการตลาด การประชาสัมพันธ์ และการโฆษณาสินค้า เป็นการให้ความสำคัญกับการออกแบบแฟชั่นในมิติอื่นๆ  ทั้งการบริหารจัดการ การตลาด และการทำงานด้านแฟชั่นในเชิงธุรกิจ ที่นอกเหนือไปจาก ศิลปะเชิงแนวคิด (Conceptual art) เป็นการขยายโอกาสให้น้องๆ เป็นได้ทั้งเจ้าของแบรนด์ ดีไซเนอร์ (Fashion Designer) สไตล์ลิสต์ (Stylist) หรือทำธุรกิจที่เกี่ยวกับแฟชั่นก็ได้


 
UploadImage

“แฟชั่นไม่ใช่แค่เสื้อผ้าอย่างเดียว เราครอบคลุมไปถึง Products Design
ที่ต้องใช้ความรู้ด้านแฟชั่นมาเป็นองค์ประกอบด้วย”
ดร.วรากร เพ็ญศรีนุกูร
หัวหน้าสาขาการออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยศรีปทุม
 



การเรียนที่สาขาการออกแบบแฟชั่นที่นี่มีการนำวิชาทางด้านนิเทศศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการเรียนแฟชั่นด้วย เช่นวิชาถ่ายภาพแฟชั่น และการนำเสนอแฟชั่น เพราะความสามารถด้านศิลปะอย่างเดียวไม่พอกับลการทำงานในยุคนี้อีกแล้ว แฟชั่นดีไซเนอร์ที่ไม่สามารถสื่อสารกับโลกได้ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน
 


ส่วนในรายระเอียดของการเรียนในชั้นปีที่ 1 นั้น น้องๆ จะได้เรียนพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเรียนในสาขาแฟชั่นดีไซ ทั้งการวาดเส้น พื้นฐานการออกแบบ ประวัติศาสตร์ศิลป์ และสุนทรียศาสตร์ วิชาที่ว่าด้วยความสวย ความงาม ซึ่งสามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสที่ 7 ทำให้เกิดความรู้สึกปีติยินดี อิ่มเอมใจ พอใจ และชื่นชมในสิ่งต่างๆ ปีที่ 2 จะเริ่มเรียนการปฏิบัติมากขึ้น มีการเรียนในห้องปฏิบัติการ ฝึกใช้จักรเย็บผ้า และฝึกวาดแพทเทิร์น ​(Pattern)
 


ในปี 3 วิชาในแขนงอื่นที่จำเป็นสำหรับเส้นทางการเป็นนักออกแบบเสื้อผ้า ทั้งวิชาในสายนิเทศศาสตร์ อย่างการถ่ายภาพแฟชั่น การสื่อสารด้วยภาพ (Visual Communication) และการนำเสนอแฟชั่น ทั้งวิชาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แต่ก็ไม่ทิ้งวิชาเฉพาะของสายแฟชั่น จึงมีเรียนในวิชาการออกแบบ และการศึกษาค้นคว้าการทำงานของแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ ด้วย พอจบปี 3 น้องๆ จะถูกส่งไปฝึกสหกิจศึกษาตามที่ต่างๆ เป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เรียนรู้ และค้นพบเส้นทางในอนาคตของตนเอง ว่าจะเดินแยกไปเส้นทางไหนบนถนนแฟชั่น ก่อนกลับมาเรียนในปีสุดท้าย ที่จะต้องทำ Final Project เป็นการประกาศถึงทิศทางที่เลือกเดิน
 


UploadImage



โอกาสการทำงานของน้องๆ ที่จบจากสาขาการออกแบบแฟชั่น ในคณะนิเทศศาสตร์นั้นมีทั้งในวงการแฟชั่น และทางนิเทศศาสตร์ด้วย เนื่องมาจากมีแบรนด์ไทยเกิดใหม่มากมาย และการเข้ามาทำการตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าต่างประเทศทั้ง ZARA, H&M, UNIQLO และอื่นๆ ที่มีร้านอยู่แทบทุกจังหวัดในประเทศ ในวงการบันเทิงเองก็ต้องการคนที่มีความรู้ทางแฟชั่นด้วยเช่นกัน ทั้งงานในสื่อโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และนิตยสาร เรียกได้ว่าโอกาสงานกว้างขวางพอๆ กับโลกทั้งใบ เพราะแฟชั่นนั้นสื่อสารกับเราเป็นภาษาสากล 


 


เรื่องโดย P' เอ็ม AdmissionPremium
ภาพโดย ทีมงาน AdmissionPremium