วิศวกรรมยานยนต์ ธรรมศาสตร์ Auto TU มุ่งผลักดันวิศวกรเด็กไทยสู่ระดับนานาชาติ

26 ต.ค. 58 13:06 น.

      เหลืออีกเพียงไม่กี่เดือน ไทยจะก้าวเข้าสู่ AEC ส่งผลให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวที่มีขนาดใหญ่ และเป็นที่สนใจเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติทั่วโลก รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ กลายเป็นโอกาสของประชาชนในภูมิภาคนี้ แต่ก็ยังมีบางสิ่งที่ยังเป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้และทักษะ โดยเฉพาะเรื่องภาษาของคนไทย เหตุนี้กลุ่มสยามกลการและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดโครงการ Auto TU ส่วนจะเป็นอย่างไร? “ดร.พรเทพ พรประภา” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทสยามกลการ ในฐานะผู้สนับสนุนหลักจะมาเล่าให้ฟัง...
       
       ที่มาของโครงการ Auto TU 
       ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาค และมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตยานยนต์ ที่สำคัญของอาเซียนและระดับโลก โดยบริษัทผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่จากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในไทย 
 
     ทั้งนี้กลุ่มสยามกลการอยู่ในภาคอุตสาหกรรมมานาน โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนและยานยนต์ จึงพร้อมที่จะผลักดันคนไทยให้ก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูง ไม่ว่าจะในบริษัทข้ามชาติ หรือในกลุ่มสยามกลการเอง ยิ่งไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) แต่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารภาษาสากลอย่างอังกฤษ ทำให้การโปรโมทเป็นไปอย่างลำบาก เหตุนี้กลุ่มสยามกลการจึงเกิดแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เด็กไทย มีความรู้ความสามารถและทักษะครบ ทั้งเรื่องเอ็นจิเนียริง และการพูดภาษาอังกฤษ จึงได้คุยกับทางมหาวิทยาธรรมศาสตร์และเห็นสอดคล้องกัน จึงได้ลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการ Auto TU เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เมื่อปี 2013

       เหตุใดเป็นธรรมศาสตร์ พัทยา   
       นับตั้งแต่ปี 1987 ทางบริษัทฯ มีแนวความคิดอยากเห็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่เกิดขึ้น ในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะมีประชากรและโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก จึงได้บริจาคที่ดินให้กับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวนกว่า 565 ไร่ เพื่อทำการพัฒนาผืนดินแห่งนี้ ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมสูงสุด และเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการศึกษา ภายใต้ชื่อ “วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา” โดยมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา การวิจัย บริการด้านวิชาการแก่สังคมในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพทรัพยากรของประเทศในสาขาที่ขาดแคลน และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการถ่ายทอดความรู้ให้มากที่สุด ดังนั้นเมื่อเกิด Auto TU จึงเลือกพื้นที่ตรงนี้มารองรับโครงการ และดำเนินก่อสร้างมาจนแล้วเสร็จ โดยจะย้ายนักศึกษาปี 3-4 เป็นกลุ่มแรกเข้ามาเรียนตามหลักสูตรในปีนี้
       
       การสนับสนุนของสยามกลการ
       สยามกลการใช้งบในการสนับสนุนครั้งนี้ จำนวน 68 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ซึ่งอาคารมีพื้นที่ขนาด 3,000 ตารางเมตร หรืออาคาร SIAM MOTORS GROUP WORKSHOP ซึ่งภายในประกอบด้วยห้องปฏิบัติการต่างๆ และยังมีพันธมิตรมาร่วมให้การสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าเป็นนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย, สยามไดกิ้นเซลส์ (เครื่องปรับอากาศ Daikin), บ๊อช ออโตโมทีฟ, สยามดนตรี ยามาฮ่า และธนาคารกรุงเทพยังได้สนับสนุนงบประมาณ ในการสร้างหอพักนักศึกษา BANGKOK BANK DORMITORY 2 หลัง 48 ห้อง มูลค่า 30 ล้านบาท พร้อมกันนี้กลุ่มสยามกลการยังสนับสนุนให้ทุนการศึกษา AUTO-TU 2 ปีที่ผ่านมา จำนวน 7 ทุนๆ ละ 150,0000 บาท ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 3,150,000 บาท และยังคงให้ทุนการศึกษาต่อเนื่องทุกๆ ปี 

       ประโยชน์ที่เกิดจากโครงการนี้
       Auto TU เป็นโครงการที่มุ่งสร้างเด็กไทยให้มีความรู้ความสามารถและทักษะครบ ทั้งในเรื่องของวิศวกรรมยานยนต์และภาษาอังกฤษ นอกจากนี้กลุ่มบริษัทที่ร่วมสนับสนุน ยังส่งผู้เชี่ยวชาญของบริษัทแต่ละสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาเป็นอาจารย์สอนพิเศษในหลักสูตรดังกล่าวอีกด้วย ทำให้นักศึกษาในโครงการนี้ได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีจากผู้ผลิตโดยตรง เมื่อจบหลักสูตรออกไปจึงเป็นบุคลากรที่มีความสามารถ และผลักดันให้ก้าวสู่ระดับสูงในบริษัทต่างๆ ได้ตามวัตถุประสงค์ และยังเป็นการสร้างความพร้อมดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกของไทย ที่มีจำนวนประชากรหนาแน่นทั้งชาวไทยและต่างชาติ มีการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมาก

       ที่สำคัญโครงการนี้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการเติบโตมาก แต่ยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์โดยตรงเฉพาะด้าน จึงเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถ และผลักดันการศึกษาของชาติ ที่จะพัฒนาคน สร้างผลงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ อีกทั้งพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจยานยนต์ให้เติบโตสามารถแข่งขันก้าวไปสู่ตลาดโลก และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อไป 


เรื่องโดย ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ภาพโดย ASTV ผู้จัดการออนไลน์