ม.สยาม รุกเอ็มโอยู 30 ประเทศ ชูพลังเครือข่าย-ทางรอดอุดมศึกษาไทย

22 ม.ค. 59 20:10 น.

     ผลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาโดย World Economic Forum (WEF) ที่ยกให้ไทยเป็นอันดับบ๊วยใน 8 ประเทศของอาเซียน (ไม่นับพม่าและลาว) กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยต้องรับไปคิดต่อ ความจริงแล้วปัญหาคุณภาพการศึกษาตกต่ำในบ้านเรา ไม่ใช่เรื่องใหม่ คะแนนสอบ PISA, TIMSS หรือแม้แต่คะแนน O-Net ก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในมุมมองของ "ดร.พรชัย มงคลวนิช" อธิการมหาวิทยาลัยสยาม และ นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย กลับมองเป็น "โอกาส" ให้สังคมไทย "ปรับตัว"
     "ผมถือเป็นเรื่องที่ดี มีกระจกมาส่องอีกบานหนึ่ง ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาได้ถูกกระตุ้นให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันจัดการให้ระบบการศึกษาก้าวไปให้มากกว่าที่ได้ทำอยู่ เพราะโลกวันนี้มีมิติต่างๆ เพิ่มมากขึ้น การร่วมมือและการทำงานที่มีเครือข่ายภาคธุรกิจจะช่วยพัฒนาการศึกษาให้ก้าวไปข้างหน้าทัดเทียมนานาประเทศได้"
     แต่ผลการจัดอันดับของ WEF ที่ออกมาเป็นภาพรวมระบบการศึกษาไทย ซึ่งมีหลายระดับไม่ระบุแน่ชัด เพราะหากมองในภาพรวมการศึกษาของไทยในระดับอุดมศึกษาก็ยังพบว่ายังมีคุณภาพอยู่ เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่จบแล้วไปศึกษาต่อต่างประเทศหรือทำงานสร้างชื่อเสียงจนเป็นที่ยอมรับ และในขณะเดียวกันก็พบว่ามีการเปิดหลักสูตรนานาชาติในบ้านเรามากขึ้นและมีต่างชาติเข้ามาศึกษามากขึ้น
     "อย่างไรก็ตาม ในส่วนผมเชื่อว่า การศึกษาของไทยยังต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างบุคลากรของประเทศที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไป เพราะการเรียนไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งได้เรียนรู้หลากหลายมุมมากเท่าไหร่โอกาสในการสร้างความสำเร็จย่อมไม่ไกลเกินไปในทุกวิชาชีพ"
     ดร.พรชัย ชี้ว่า การจัดการศึกษาโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาไทยแล้ว การสร้างความร่วมมือในประเทศไทย และการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงค่อนข้างมีความสำคัญและจำเป็น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยสยามให้ความสำคัญ จึงได้มีการเปิดหลักสูตรนานาชาติหลายคณะ รวมถึงการลงนามความร่วมมือในการสร้างงานวิจัยระหว่างประเทศ การจัดการสหกิจศึกษาระหว่างประเทศดำเนินการมาโดยตลอด
     "อีก 2 ปี 4 เดือน ประชาคมอาเซียนจะเต็มรูปแบบ เกิดการศึกษาเสรี ก่อนถึงวันนั้นการอุดมศึกษาไทยจะอยู่รอดได้ ควรแสวงหาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะเราจะอยู่คนเดียวไม่ได้แล้ว บางคณะ บางสาขาวิชา เรามีความพร้อม แต่เมื่อมีการแลกเปลี่ยน อาจารย์ นักศึกษา หรือร่วมกันร่างหลักสูตรเพื่อพลเมืองอาเซียน หรือหลักสูตรเพื่อพลเมืองโลกแล้ว ผมคิดว่าอุดมศึกษาเราจะรอด"
     เหนืออื่นใด มหาวิทยาลัยสยามได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ กว่า 30 ประเทศ อาทิ กัมพูชา เวียดนาม สหรัฐอเมริกา เกาหลี ฟินเเลนด์ จีน พม่า ไนจีเรีย อินเดีย โซมาเลีย ฟิลิปปินส์ เยอรมนี ไทย สวีเดน เป็นต้น
     ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตไก ประเทศญี่ปุ่น ในเรื่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษา คณาจารย์ รวมทั้งผลงานทางวิชาการและงานวิจัย ด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และดนตรีและการแสดง
     ความร่วมมือทางวิชาการกับวิทยาลัยด้านการจัดการกาฐมาณฑุ สังกัดมหาวิทยาลัยกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เพื่อร่วมกันจัดการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ การเงิน และการจัดการ โดยทางมหาวิทยาลัยการจัดการกาฐมาณฑุได้แสดงความจำนงขอเข้าร่วมเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยสยาม
     "มหาวิทยาลัย Taylor’s  University ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของประเทศมาเลเซีย มีความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยสยามในด้านการจัดการศึกษาในระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต โดยเน้นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในอาเซียน และการทำวิจัย ตลอดจนการศึกษาของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอาเซียน รวมทั้งการร่วมมือในสาขาวิขาอื่นๆ เช่น การโรงแรมและการท่องเที่ยว และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี"
     ม.สยาม ได้ร่วมมือกับสถาบัน MCCI ประเทศพม่า ในการจัดการศึกษาหลักสูตร 2+2 เรียน 2 ปี ที่ประเทศพม่า และอีก 2 ปี ที่มหาวิทยาลัยสยาม สำหรับความร่วมมือกับสถาบัน MCCI มีทั้งในด้านบริหารธุรกิจ การโรงแรมและการท่องเที่ยว และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา
     ไม่เพียงเท่านั้น ม.สยาม ได้ต้อนรับ "นายเอนิล วาดวา" เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ในโอกาสที่มาบรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยสยาม รวมทั้งหารือในเรื่องความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยสยามและสถาบันอุดมศึกษาในประเทศอินเดีย อีกด้วย
 


เรื่องโดย กมลทิพย์ ใบเงิน
ภาพโดย คม ชัด ลึก