เจ๋งจริง! อ.พระนครเหนือ เสนอสูตรใหม่สร้าง”ถ.ยางพารา” ทนกว่า-ถูกกว่า-สร้างได้เร็ว

25 ม.ค. 59 13:01 น.

วันนี้ (24 มกราคม) ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยว่า แม้ว่าขณะนี้ภาครัฐกำลังมีแนวคิดในการแก้ปัญหายางพารา ด้วยการใช้ยางพาราผสมเป็นสัดส่วนในการทำถนน แต่พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในตางมะตอยนั้น สามารถเติมได้เเค่เพียง 5% หรือมากที่่สุดคือ7% เพราะติดขัดปัญหาหลายอย่าง ทางคณะวิจัยจึงค้นพบรูปแบบการทำถนนโดยโพลิเมอร์สังเคราะห์ร่วมกับน้ำยางพารา ในรูปแบบ Polymer Soil Cement สามารถนำยางแห้งไปใช้ในการผลิตและใช้น้ำยางในการผสมได้ ซึ่งการใช้น้ำยางพาราผสมนั้นสามารถนำไปประยุกต์ได้หลายรูปแบบ ทั้งถนนดินลูกรังที่อยู่ตามชนบทและผสมกับคอนกรีต และสามารถนำไปใช้ได้ทันที

ทั้งนี้จากการวิจัยพบว่า ถนนขนาด 1 ตารางเมตรสามารถนำน้ำยางพาราไปใช้ได้สามลิตร ดังนั้นถนนความยาวหนึ่งกิโลเมตร ก็สามารถใช้น้ำยางได้ถึง18 ตัน หรือ18,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่มีผลกระทบกับการใช้ยางสูงในประเทศไทยที่ค่อนข้างสูง โดยจากการพูดคุยกับภาคเอกชนมีความเห็นตรงกันว่าหากสามารถดำเนินการสร้างถนนผสมยางพาราดังกล่าวได้ จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมาก เพราะสามารถนำไปใช้ก่อสร้างถนนตามท้องถิ่นต่างๆได้ทันที เพราะถนนเพียงหนึ่งกิโลเมตรสามารถนำน้ำยางไปใช้ได้จำนวนมาก

ขณะที่ในเรื่องต้นทุนต่อตารางเมตรนั้น ในปัจจุบันถนนคอนกรีตที่ประเทศไทยนิยมใช้อยู่มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 800-850 บาท ต่อตารางเมตร ส่วนถนนที่ทำจากยางมะตอย ต้นทุนต่อตารางเมตรอยู่ที่ประมาณ 350-400 บาทต่อตารางเมตร แต่ถนนที่ทำจากยารางพาราคำนวนจากผลการวิจัยของตน พบว่ามีต้นทุนต่อตารางเมตร อยู่ที่ 240-280 บาทต่อตารางเมตร ยืนยันว่าประเทศไทนจะได้คุณภาพถนนที่ดีขึ้น และที่สำคัญที่สุดยังได้ช่วยเกษตรกรชาวสวนยางพาราในขณะนี้อีกด้วย จึงเห็นว่านี่คือทางออกสำอันของปัญหาประเทศในขณะนี้ และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ยังมีข้อได้เปรียบคือระยะเวลาการก่อสร้างที่สั้นมาก เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำถนนก็เป็นเครื่องมือที่ที่หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นมีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างเครื่องมือสำคัญเพิ่มเติมสามารถทำงานได้ทัน ทั้งยังสามารถสร้างเสร็จได้ภายในเวลารวดเร็ว ยกตัวอย่างคือถนนหนึ่งเส้น ความยาวไม่กี่กิโลเมตร สามารถทำให้เสร็จได้ภายใน 1 – 2 วันเท่านั้น ฉะนั้นจากปกติที่ปีหนึ่ง เราทำถนนได้ประมาณ 10 เส้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตเราสามารถสร้างถนนได้ปีละนับร้อยเส้นทาง เพราะนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยร่นระยะเวลาการสร้างได้พอสมควร

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีถนนที่ทำจาก Polymer Soil Cement โดยเริ่มที่เชียงราย และลำปาง รวมถึงถนนในศูนย์ศิลปาชีพบางไทร โดยในงานวิจัยจะมีการนำไปสร้างถนนต้นแบบในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเอง เพื่อเป็นองค์ความรู้และให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาดูและทดสอบร่วมกัน ก่อนกระจายองค์ความรู้ออกไป
ดร.ระพีพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ราคายางพาราตกต่ำมาก การแก้ปัญหาจึงต้องตั้งโจทย์เพื่อช่วยชาวบ้านด้วย ถนนยางพาราตรงนี้คือทางเลือกหนึ่งที่รัฐควรสนับสนุนอย่างจริงจัง ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการระดมนักวิชาการ นักปฎิบัติ และผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เข้ามาคุยกันและนำเรื่องนี้ไปสู่การปฎิบัติให้ได้โดยเร็ว เพราะยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็จะช่วยเหลือระบายน้ำยางจากเกษตรกรได้มากเท่านั้น ยืนยันว่ามหาวิทยาลัยมีความพร้อมเต็มที่และพร้อมเป็นศูนย์กลางในการรวมความรู้และความเห็นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ดีต่อไป ทั้งนี้นวัตกรรมดังกล่าวไม่ใช่การคิดเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ในระยะยาวก็สามารถนำไปดำเนินการได้ หาากรัฐสามารถดำเนินการได้เร็ว และมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง รัฐไม่จำเป็นต้องไปตัดต้นยางเลย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์


เรื่องโดย มติชนออนไลน์
ภาพโดย มติชนออนไลน์