รพ.พระมงกุฏฯ ผนึกพลังวิศวฯ จุฬาฯ สร้างชื่อก้องโลก หลังผ่าตัดใส่กระดูกเทียมโลหะไทเทเนียม ทดแทนกระดูกนิ้วหัวแม่มือได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

28 ม.ค. 59 14:43 น.

          ทีมแพทย์กองออร์โธปิดิกส์ รพ.พระมงกุฎเกล้า ร่วมกับ ทีมวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ประสบความสำเร็จในการสร้างและผ่าตัดใส่กระดูกเทียมผลิตจากโลหะไทเทเนียมที่ผลิตขึ้นเองในประเทศไทย เพื่อใส่ทดแทนกระดูกนิ้วหัวแม่มือที่ถูกทำลายจนหมดจากเนื้องอกกระดูกเป็นรายแรกของโลก นับเป็นอีกก้าวแห่งพัฒนาการด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ของไทยที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสในเมืองไทยให้ได้เข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง และเพื่อเป็นการขยายความร่วมมือด้านวิศวกรรมการแพทย์ วิศวฯ จุฬาฯ ยินดีที่จะร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อวิจัยและคิดค้นในด้านดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 26 มกราคม 2559 พลโท รศ. นพ.ไตรโรจน์ ครุธเวโช เจ้ากรมแพทย์ทหารบก และ ศ. ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าว ความร่วมมือระหว่างกรมแพทย์ทหารบก โดย กองออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในความสำเร็จของการผ่าตัดใส่กระดูกไทเทเนียมจากการพิมพ์สามมิติ ทดแทนกระดูกนิ้วหัวแม่มือที่ถูกทำลายในผู้ป่วยเนื้องอกกระดูกเป็นรายแรกของโลก

สำหรับทีมวิจัยทางการแพทย์ในโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย พันเอก รศ. นพ. สุพิชัย เจริญวารีกุล ผู้อำนวยการกองออร์โธปิดิกส์ พ.อ. รศ. นพ.ทิพชาติ บุณยรัตพันธุ์ หัวหน้าทีมแพทย์ผ่าตัด กองออร์โธปิดิกส์ พ.ท. รศ. นพ.สุริยา ลือนาม หัวหน้าหน่วยออร์โธปิดิกส์ทางมือ กองออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ผศ. ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน และ อ. ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยเบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ ทางทีมวิจัยจากคณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการวางแผนเตรียมสร้างกระดูกเทียมไทเทเนียมสั่งตัดให้ตรงตามสรีระเดิมของคนไข้ โดยใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์สร้างภาพสามมิติต้นแบบของกระดูกมือขวาจากมือซ้ายของคนไข้ที่เป็นปกติ และใช้เทคโนโลยีทางโลหะวิทยาด้านงานหล่อร่วมกับการพิมพ์สามมิติในการสร้างกระดูกเทียมโลหะไทเทเนียม โดยร่วมมือกับคณะอาจารย์แพทย์จากกองออร์โธปิดิกส์ รพ.พระมงกุฎเกล้า ในการวางแผนผ่าตัดและเจาะรูในต้นแบบคอมพิวเตอร์ก่อนการผลิตจริง เพื่อปรับให้เหมาะสมกับการร้อยเอ็นให้คนไข้ หลังจากนั้นจึงสร้างกระดูกเทียมไทเทเนี่ยม

ทั้งนี้ คณะแพทย์จากกองออร์โธปิดิกส์ รพ.พระมงกุฎเกล้า ได้วางแผนการผ่าตัดเอากระดูกที่เป็นเนื้องอกออกไปทั้งชิ้น และนำกระดูกเทียมไทเทเนี่ยมที่เตรียมไว้มาใส่ทดแทน เย็บเส้นเอ็นของผู้ป่วยยึดตรึงกับกระดูกเทียมให้แข็งแรง ป้องกันการเคลื่อนหลุดจากตำแหน่งที่ต้องการ พร้อมทั้งใส่เฝือกช่วยพยุงชั่วคราวในช่วงแรก โดยปัจจุบัน ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ไม่มีการติดเชื้อ หลังจากผ่าตัดไปแล้ว 2 เดือน คนไข้สามารถขยับมือและกลับมาใช้งานได้ดังเดิม

การค้นพบและพัฒนากระดูกเทียมโลหะไทเทเนียมทดแทนกระดูกนิ้วหัวแม่มือในครั้งนี้ ถือเป็นอีกขั้นของความร่วมมือเพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ทางการแพทย์ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศในการนำเข้าวัสดุทางการแพทย์จากต่างประเทศอีกด้วย

ที่มา : 
http://www.eng.chula.ac.th/node/2579