"สนใจด้านวิทย์แต่ชอบศิลปะ เรียนสาขานี้ได้นะ" รีวิวสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทย์ศาสตร์: U -Review

12 มี.ค. 59 09:42 น.

        
        หากใครที่เคยเดินทางไปโรงพยาบาลหรือคลินิกอาจจะเคยพบเห็นหุ่นจำลองโครงสร้างมนุษย์ หรือภาพวาดที่อธิบายส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างละเอียด จนทำให้เกิดความสงสัยกันว่า ที่มาของภาพวาดที่สวยงามและละเอียดเหล่านั้น อาชีพไหนกันแน่เป็นคนทำระหว่างอาชีพหมอหรือช่างภาพ/นักวาดภาพ คำตอบคือทั้งสองอย่าง แต่เป็นคนๆ เดียวกัน ไม่ได้เกิดจากสองอาชีพแบ่งงานกันทำ โดยจะมีการเปิดสอนขึ้นสำหรับคนที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ แต่มีความชอบในเรื่องศิลปะ
 
          UploadImageที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ ซึ่งจะเรียนเกี่ยวกับด้านการออกแบบและผลิตสื่อทางการศึกษาทางการแพทย์ รวมทั้งการผลิตสื่อเชิงสร้างสรรค์เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ คล้ายๆ กับการผสมผสานสาขาทางด้านศิลปกรรม ทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร และทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เอามารวมไว้ในสาขาเดียว  ซึ่งจะเปิดสอนแบบครอบคลุมสื่อหลายชนิดด้วยกัน
  
         อาชีพที่สามารถทำได้ภายในอนาคต ได้แก่ นักวิชาการโสตทัศนะศึกษา หากทำในโรงพยาบาลหรือโรงเรียนแพทย์ ก็อาจจะไปเป็นนักผลิตสื่อทางการแพทย์หรือไม่ก็เป็นนักพัฒนาสื่อ ทำได้ทั้งภาครัฐและเอกชน นักวาดภาพอิสระก็ได้ แต่หลักๆ แล้วก็จะออกมาทำสื่อการเรียนการสอนทางด้านการแพทย์   
 
          หากใครสนใจสาขานี้บอกเลยว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กสายวิทย์ เพราะพื้นฐานต่างๆ สามารถมาเรียนได้ตอน ปี 1 แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีความรู้อะไรมาเลยมาเลยทั้งวิทย์และศิลป์ เพราะมันต้องใช้ความสามารถทั้งสองอย่างแบบผสมผสาน การรับเข้าจะแบ่งเป็นสองทางโดยทางแรกคือระบบ แอดมิสชั่นกลางจะรับแค่เด็กแผนวิทย์ มีการจัดสอบความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไป รับจำนวน 20 คน  
UploadImage       
         และทางที่สอง สอบตรงโดยหลักสูตรเปิดสอบเอง ตรงนี้จะเปิดโอกาสให้น้องๆ ที่เรียนด้านสายศิลป์ ไม่ว่าทางศิลป์คำนวณ ศิลป์ภาษา สามารถยื่น Gat Pat และต้องสอบคัดเลือกการวาดเส้น สอบพื้นฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอังกฤษ
 
          ด้านการเรียนการสอนในแต่ละเทอมจะมีทั้งวิชาวิทย์และวิชาศิลป์รวมกัน โดยปีหนึ่ง จะเรียนด้านพื้นฐานทั้งหมดซึ่งจะยังใกล้เคียงกับวิชาช่วงมัธยมอยู่ เช่น วิชาภาษาอังกฤษ วิชาสังคม วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาวาดภาพเบื้องต้น เป็นต้น  ปีสอง เรียนพื้นฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์  อนาโตมี ทักษะการออกแบบ ผลิตสื่อ องค์ประกอบ ทฤษฎีของสี ปีสาม จะเรียนเฉพาะด้านทางการแพทย์มากขึ้น เรื่องเทคโนโลยี  วิชาศิลปะขั้นสูง พอปีสี่  ทุกคนจะต้องฝึกงานด้วยการทำงานเกี่ยวข้องกับสื่อชนิดต่างๆ ในหน่วยงานที่อยู่ในศิริราช หรือหน่วยงานภายนอกตามที่หลักสูตรเห็นสมควร  เพื่อให้เกิดความรู้ความชำนาญก่อนออกไปทำงานจริงหลังจากนั้นต้องบูรณาการความรู้ทั้งหมดโดยทำโครงการเป็นรายบุคคลเพื่อสรุปความรู้ว่าที่ได้เรียนมา

          แต่ถึงอย่างนั้นน้องๆ สายวิทย์ก็คงยังจะกังวลเรื่องการวาดภาพ ส่วนน้องสายศิลป์คงกังวลเรื่องวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์อยู่แน่นอนใช่หรือไม่ ?? แต่หมดกังวลไปได้เลยเพราะทางสาขาได้ทำการจัดค่ายภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “เด็กวิทย์ หัวใจศิลป์”  โดย อ.ดร.โสภิตา สุวุฒโฑ 
UploadImageอาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ ได้บอกว่ากับทีมงาน U-Review ว่า  “โครงการนี้เป็นโครงการสำหรับน้องๆ มัธยมทั้ง สายวิทย์-คณิตและสายศิลป์-คำนวณ ซึ่งจัดทั้งหมด 3 วัน สถานที่จัดจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี มีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำหลักสูตรให้น้องๆ ได้ทราบถึงวิชาที่จะได้เจอในสาขานี้มีอะไรบ้าง เผื่อเด็กๆ จะได้เตรียมตัวได้ถูกต้องนั้นเองค่ะ ”

         และเนื่องจากการที่สาขานี้ได้เรียนเกี่ยวกับสื่อหลายชนิด ซึ่งมันจะเน้นให้ทุกคนปฏิบัติได้จริง ทำให้เมื่อจบออกไปแล้วจะมีโอกาสในการได้งานทำมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเวลาของการค้นหาตัวเองของน้องๆ ด้วยว่าตัวเองชอบสื่อชนิดใดหรือถนัดอย่างใดเป็นพิเศษ จะได้ศึกษาต่อหรือเอาดีในสาขานั้นๆ ต่อไป และจบมาเพื่อผลิตสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่เน้นความถูกต้องและสวยงาม