สอบเข้ามหาวิทยาลัย

“เราจะสู้ไปด้วยกัน” ทปอ. ร่วมใจมอบมาตรการเยียวยาสังคมและอุดมศึกษามากกว่า 4,000 ล้านบาท


ในสภาวะวิกฤติสู้ภัย COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น ประเทศไทยได้เผชิญจุดผกผันของประเทศอย่างยิ่งใหญ่มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยที่ประกอบด้วยสมาชิกสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในเครือข่าย จำนวน 34 แห่ง ได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน จึงมีมติร่วมกันในการจัดมาตรการให้ความช่วยเหลือ กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในระบบอุดมศึกษาให้ครอบคลุมทุกมิติ เน้นการช่วยเหลือกลุ่มนิสิตนักศึกษา ผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก ด้วยการพิจารณาจัดตั้งกองทุนการศึกษา กองทุนช่วยเหลือการจ้างงาน การช่วยเหลือ ค่าธรรมเนียมการศึกษา รวมทั้งให้การสนับสนุนอื่นๆ ทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอนออนไลน์  การจัดหา SIM ราคาถูก การส่งจิตอาสาแบ่งปันของและน้ำใจให้ชุมชน การเร่งสร้างโรงพยาบาลสนาม สถานที่กักกัน รองรับจำนวนผู้เสี่ยงการติดเชื้อ และช่วยเหลือบุคคลที่ประกอบอาชีพต่างๆ ในสถาบันอุดมศึกษา  ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ตระหนักดีว่ามาตรการเยียวยาที่ได้กำหนดขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลงแต่อย่างใด  แต่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยต้องการช่วยแบ่งเบาภาระที่เราทุกคนต้องเผชิญและช่วยเหลือสังคมให้ฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน ด้วยงบประมาณรวมกันทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท ไม่นับรวมการผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สถาบันอุดมศึกษาได้เร่งระดมสรรพกำลังในการช่วยเหลือสังคมอย่างเร่งด่วนด้วยอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้นิสิต นักศึกษาและประชาชนชาวไทยได้มีกำลังใจผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน ดังที่เราทุกคนตั้งมั่นตั้งใจร่วมใจว่า “เราจะสู้ไปด้วยกัน” 
 

 มาตรการเยียวยาของสถาบันอุดมศึกษา ทปอ. 

1. สนับสนุนนโยบายภาครัฐในการปรับลดงบประมาณของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา  เพื่อการเยียวยาสังคมในภาพรวม  ใช้งบประมาณจำนวน 300 ล้านบาท  และงบประมาณบางส่วนของสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ประมาณ 500 ล้านบาท
2. การช่วยเหลือค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาในภาคการศึกษาที่ 1 และภาคการศึกษาที่ 2 ในปีการศึกษา 2563 สำหรับหลักสูตรปกติ ใช้งบประมาณจำนวน 2,000 ล้านบาท รวมทั้งการผ่อนผันการชำระค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา  ทั้งนี้การบริหารจัดการจะเป็นรูปแบบใดเพื่อช่วยในการเยียวยา และมุ่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายนิสิต นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยที่จะพิจารณา 
3. การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจัดหา Educational SIM ช่วยการเข้าถึง Internet การซื้อลิขสิทธิ์โปรแกรมการเรียนการสอนออนไลน์ Google Meet, Microsoft Teams, Cisco Webex Meeting เครื่องมือบริหารจัดการเรียนการสอนออนไลน์ การพัฒนาอาจารย์ด้าน IT ใช้งบประมาณจำนวน 500 ล้านบาท
4. การจัดตั้งกองทุนมหาวิทยาลัยเพื่อเยียวยานิสิตนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือการจ้างงาน การหางานสำหรับผู้สำเร็จการศึกษา ใช้งบประมาณจำนวน 400 ล้านบาท
5. การสนับสนุนปรับลดค่าธรรมเนียมสนับสนุนการศึกษาต่างๆ  เช่นค่าธรรมเนียมหอพัก ค่าธรรมเนียมการ รักษาสภาพ การทำประกันภัย COVID-19 ใช้งบประมาณจำนวน 100 ล้านบาท
6. การเข้าร่วมในกิจกรรมทางสังคม ใช้งบประมาณจำนวน 300 ล้านบาท 1) จิตอาสาแบ่งปันให้สังคมชุมชนรอบสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ การทำเจลแอลกอฮอล์ การผลิตหน้ากาก อนามัย การจัดทำน้ำยาพ่นฆ่าเชื้อ อาหารเครื่องดื่มให้บุคลากรทางการแพทย์ จัดบุคลากร นิสิต นักศึกษา จิตอาสาให้ความรู้ ช่วยคัดกรองตามจุดคัดกรองของชุมชน การจัดส่งเมล็ดพันธุ์พืชสวนครัว  2) การจัดตั้งโรงพยาบาลภาคสนาม ไม่น้อยกว่า 2,000 เตียง และสถานที่กักกันตัวรองรับได้ประมาณ 1,400 คน  3) การให้ความช่วยเหลือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ การลดค่าเช่า พื้นที่ขายอาหาร ขายของ  
 
ภารกิจของอุดมศึกษาคงไม่ได้มีแค่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายภายในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น  สถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยยังตระหนักถึงความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ต่อสังคมไทยในสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ สถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่หลายแห่งทั้งในส่วนกลางและ ภูมิภาคได้ใช้โรงพยาบาลในสังกัดให้บริการคัดกรอง ตรวจเชื้อ และรักษาผู้ป่วย ผู้เสี่ยงติดเชื้อร่วมกับโรงพยาบาลภาครัฐตั้งแต่เกิดสถานการณ์มาโดยตลอด  การส่งนิสิตนักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมเป็นจิตอาสาทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชุมชนโดยรอบ แจกจ่ายอุปกรณ์จำเป็น เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย การให้ความรู้ในการดูแลตนเองปละครอบครัว และที่สำคัญสถาบันอุดมศึกษายังใช้องค์ความรู้ในการเร่งเร่งระดมสรรพกำลังคิดค้นสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ในสภาวะที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤติ พร้อมกัน โดยที่บุคลากรทุกภาคส่วนเร่งประดิษฐ์อุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ให้แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ผู้เสี่ยงติดเชื้อ ให้มีทั้งคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอในภาวะขาดแคลน สามารถทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่  ชุด PPE หน้ากากพลาสติค หุ่นยนต์ให้บริการในหอผู้ป่วย เปล/เตียงขนย้ายผู้ป่วย เครื่องอบ โอโซน ห้องคัดกรองผู้ติดเชื้อ เครื่องช่วยหายใจ ห้องตรวจผู้ป่วยความดันลบ ฯลฯ รวมนวัตกรรมไม่ต่ำกว่า 100 ชิ้นงาน ที่ได้นำไปใช้งานแล้ว นอกจากนี้ยังมีสถาบันอุดมศึกษาเครือข่าย ทปอ. อีกจำนวน 19 แห่งที่มีความพร้อมในการใช้สถานที่เตรียมการสำหรับโรงพยาบาลสนามประมาณ 1,600 เตียง และสถานกักกันได้ประมาณ 1,200 คน  มูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท