“เกมสร้างคน เสริมมูลค่า สู่อนาคต” รีวิวสาขาเกมและสื่ออินเตอร์แอคทีฟ : U-Review

21 มี.ค. 60 13:49 น.

ผู้ใหญ่หลายๆ คนมักจะมองว่า เกมเป็นสิ่งที่ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ แต่ใครเลยจะรู้ว่า โลกเปลี่ยนไป เกมสามารถสร้างคน สร้างอนาคต และสร้างรายได้มหาศาล ทำให้เด็กๆ หลายคนมีความใฝ่ฝันในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานด้านเกมด้วยใจรัก ซึ่งการเรียนการสอนสาขาวิชาเกมและสื่ออินเตอร์แอคทีฟ ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียว

โดยปัจจุบันตลาดการแข่งขันในโลกของเกม คนไทยมีความนิยมเล่นเกมสูงขึ้นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าโดยรวมมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หลักหลายร้อยล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกเติบโตหลักแสนล้านบาท จากเมื่อก่อนที่หลายคนไปร้านอินเตอร์เน็ตเพื่อเล่นเกม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในขณะนี้ คือคนหันมาเล่นเกมผ่านสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น บางคนก็ยอมเสียเงินเพื่อจะเล่นเกม แม้คนละเพียงน้อยนิด แต่เมื่อเล่นเป็นหลักหลายล้านคน มูลค่ารวมกันมหาศาล เกมจึงเข้าไปอยู่ในความเป็นอุตสาหกรรมแบบจริงจัง โดยจะเห็นว่าในประเทศไทย เริ่มจะมีบริษัทเกมมากขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะนักศึกษายังสามารถที่จะออกแบบหรือผลิตเกมได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ สามารถที่จะทำเงิน หารายได้เข้ากระเป๋าได้ แน่นอนว่าเมื่อจบไปแล้วก็สามารถที่จะประกอบอาชีพในบริษัทเกม เปิดเป็นบริษัทของตัวเอง หรือนำเกมของต่างประเทศมาพัฒนาต่อก็ได้


UploadImage


นอกจากนี้ ยังสามารถนำสื่อปกติมาออกแบบให้มีมูลค่ามากขึ้น อย่างการนำโทรศัพท์มือถือไปส่องที่หนังสือพิมพ์จนเกิดภาพเคลื่อนไหวขึ้น เหมือนในภาพยนตร์ที่เคยเห็นกัน ซึ่งจะมีการเรียนการสอน เพื่อนำไปปรับใช้ในวงการสื่อมวลชน การทำข่าวที่สามารถจะเก็บภาพรอบตัวก็ได้ หรืออาจจะเป็นในวงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่จะนำสิ่งที่เรียนไปช่วยให้ผู้ชมเข้าใจ เข้าถึงมากขึ้น
สำหรับการเรียนสาขานี้ หากมีความชอบเกมอยู่แล้ว ทุกคนก็สามารถที่จะเรียนได้แน่นอน เพราะถึงแม้จะมีวิชาที่หลายคนมองว่ายาก แต่การเรียนสาขานี้จะได้รับความสนุกจากการเรียน เพราะจะนำวิชาที่คิดว่ายากอย่างคณิตศาสตร์ หรือฟิสิกส์ ประยุกต์เข้าไปอยู่ในเกม เช่น เกมแองกี้เบิร์ด ที่มีการใช้สูตรคำนวณมาเกี่ยวข้อง
โดยการเรียนในส่วนของเกมจะแบ่งเป็น 3 ด้านใหญ่ๆ ทั้งด้านศิลปะ ที่จะต้องมีการออกแบบอุปกรณ์ ตัวละครในเกมให้มีความเหมาะสมกับผู้เล่น ต่อมาก็เป็นการเรียนรู้ในด้านของการเขียนและพัฒนาเกม อย่างบนคอมพิวเตอร์ บนแอพพลิเคชั่น หรือบนสมาร์ทโฟน จะได้เรียนรู้ว่าจะต้องมีการพัฒนาเกมอย่างไร วิเคราะห์ปรับปรุงเกมให้มีความยากง่ายเข้ากับผู้เล่นกลุ่มเป้าหมาย และสุดท้าย คือการเรียนรู้ด้านธุรกิจของเกม นั่นก็คือการเรียนรู้ในการต่อยอด เพื่อหารายได้ต่างๆ


UploadImage
“เกมมันมีอยู่นานแล้ว และจะมีอยู่ไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ก็เป็นที่น่าเสียดาย
ถ้าเราจะไม่ลองคว้าโอกาสตรงนี้ สร้างมูลค่า ให้มีอนาคตที่ดี”
ดร.พัฒนพล เหรียญโมรา
รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม

นอกจะเรียนรู้เรื่องเกมแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงการทำสื่อใหม่อินเตอร์แอคทีฟด้วย อย่างการนำแว่น VR มาเพื่อที่ใช้ในการเรียนการผ่าตัดของแพทย์ หรือทันตแพทย์ ทำให้เสมือนได้รับการเรียนรู้ที่เข้าถึงมากขึ้น หรือนำไปใช้ในการรักษาคนที่กลัวความสูง แต่เมื่อได้ใส่แว่นนี้เพื่อสร้างความคุ้นเคย ก็สามารถที่จะช่วยได้เช่นกัน


UploadImage


ขณะเดียวกัน จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากผู้ที่ปฏิบัติจริง ในภาคอุตสาหกรรม อย่างด้านเกมก็เป็นบริษัท “กาลีน่า” ที่เป็นผู้ดูแลเกมชั้นนำของเมืองไทย ให้ผู้เรียนสามารถสร้างผลงานร่วมกับบริษัทได้ โดยจะมีการแบ่งชิ้นงานให้มีความเหมาะสมกับผู้เรียน พร้อมๆ กับอาจารย์ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมให้คำปรึกษาดูแลโดยตลอด หรือบางครั้งก็จะเชิญผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรงมาร่วมสอนนักศึกษาในชั้นเรียน เพื่อให้เข้าถึงความรู้ด้านนั้นๆ มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับอาจารย์และผู้ปกครองที่อาจจะยังคิดว่าเกมยังค่อนข้างไร้สาระหรือเสียเวลา ก็ต้องลองเปิดใจดู เพราะจะเริ่มเห็นชัดเจนแล้วว่านอกจากที่เกมจะมีความสนุกแล้ว มันยังมีประโยชน์ด้วย และทำให้เกิดรายได้จริงๆ อยากให้เชื่อเลยว่าธุรกิจนี้กำลังโต


เรื่องโดย ทีมงาน AdmissionPremium
ภาพโดย ทีมงาน AdmissionPremium