รีวิวสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาภูมิสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

18 ก.ย. 59 11:34 น.

หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรม เป็นหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับศิลปะของการออกแบบ การวางแผน และการจัดการผืนแผ่นดิน ทั้งในพื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่ในเมือง โดยใช้ความรู้ทางวัฒนธรรม และทางวิทยาศาสตร์ คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากร ดูแลรักษาสภาพแวดล้อม เพื่อสนองต่อประโยชน์ใช้สอยและความรื่นรมย์ งานภูมิสถาปัตยกรรม เกี่ยวข้องกับงานหลายขนาด ตั้งแต่สวนขนาดเล็ก งานวางผัง งานวางแผนจัดการ พื้นที่ขนาดใหญ่หลายตารางกิโลเมตร ภูมิสถาปนิกจึงต้องมีความสามารถที่จะศึกษา วิเคราะห์และแก้ปัญหาในงานออกแบบ โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ของงานออกแบบชิ้นนั้นกับธรรมชาติด้วย ให้สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และก่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ดังนั้นจึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้พื้นฐานในหลายๆ วิชา ได้แก่ ศิลปะ สถาปัตยกรรม วิศวกรรมโยธา นิเวศวิทยา สังคมวิทยา ภูมิศาสตร์ จิตวิทยา และความรู้ทางพืชสวนด้วย

สาขาภูมิสถาปัตยกรรมก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2520 เพื่อผลิตภูมิสถาปนิกระดับปริญญาตรีเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตร 5 ปี โดยมีวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรม, มรดกสถาปัตยกรรมไทย, คุณค่างานภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งวิชาเหล่านี้เป็นกลุ่มวิชาพิเศษของหลักสูตร และยังมีหมวดวิชาเฉพาะ ที่ยังแบ่งออกเป็นถึง 5 กลุ่มวิชา โดยกลุ่มแรกคือ กลุ่มวิชาการออกแบบ จะประกอบไปด้วยวิชาปฏิบัติการออกแบบ, งานออกแบบสถาปัตยกรรม, หลักการออกแบบในงานสถาปัตยกรรม, การเขียนแบบและเขียนภาพสถาปัตยกรรม, งานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม กลุ่มที่ 2  คือกลุ่มวิชาเทคโนโลยี มีวิชาวัสดุและการก่อสร้าง, กลศาสตร์โครงสร้างทางสถาปัตยกรรม, การสำรวจพื้นที่สำหรับงานภูมิสถาปัตยกรรม, เทคโนโลยีและการก่อสร้างทางภูมิสถาปัตยกรรม, การออกแบบโครงสร้างในงานสถาปัตยกรรม, พืชพรรณสำหรับงานภูมิทัศน์, หลักพืชสวนสำหรับงานภูมิทัศน์ ต่อไปในกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มปฏิบัติการวิชาชีพ จะมีเรียนวิชาพืชพรรณและการออกแบบ, ภูมิสถาปัตยกรรมภาคสนาม, การปฏิบัติวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรม, การฝึกงานภูมิสถาปัตยกรรม, การบริการภูมิสถาปัตยกรรมภาคสนาม กลุ่มที่ 4 กลุ่มวิชาสนับสนุน มีวิชาอย่าเช่น  จิตวิทยาสถาปัตยกรรม, การวางผังเมืองและการวางแผนภาคเบื้องต้น, ภูมินิเวศวิทยา, การวางแผนและออกแบบสวนสาธารณะและนันทนาการ, การวิจัยทางภูมิสถาปัตยกรรม เป็นต้น และกลุ่มสุดท้ายกลุ่มที่ 5 คือกลุ่มวิชาเลือกสาขา คือวิชาที่ภาควิชาขึ้นเพื่อเสริมความรู้ โดยน้องๆ จะต้องเลือกเรียนให้ให้ครบตามหน่วยกิตที่ทางมหาวิทยาลัยได้กำหนดไว้ ซึ่งมีวิชาที่น่าสนใจอยู่หลายวิชา เช่น การออกแบบในงานถ่ายภาพ, วัสดุพืชพรรณไม้ประดับ, งานภูมิทัศน์ภายในอาคาร, ป่าและการป่าไม้, การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่บราวน์ฟิลด์, ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเบื้องต้น เป็นต้น

การจัดการเกี่ยวกับภูมิสถาปัตยกรรมนั้น ถือว่ามีความสำคัญพอๆกับสถาปัตยกรรมแขนงอื่น เพื่อการจัดการแผนดิน ผืนดินให้มีประโยชน์สูงสุด และการจัดภูมิทัศน์ที่สวยงาม นั้นก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อน้องๆ เลือกเรียนสาขานี้พี่รับรองว่า น้องจะจบไปมีงานทำ และภาคภูมิใจในสาขาของน้องๆเช่นเดียวกัน
 
จุดเด่นของที่นี่ คืออะไร
- เปิดการเรียนการสอนเป็นที่แรกของประเทศไทย

จบมาทำงานอะไร
1. ทำงานในภาคเอกชน เช่น ทำงานส่วนตัว สำนักงานและบริษัท ออกแบบ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการ พัฒนาและสภาพแวดล้อม องค์กรพัฒนาภาคเอกชน และ องค์กร เอกชนที่ไม่หวังผลกำไรต่างๆ
2. ทำงานในภาคราชการ ได้แก่ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับ การพัฒนา อนุรักษ์ และสร้างสรรค์ภูมิทัศน์ เช่น กรมโยธาธิการ เทศบาลระดับต่างๆ องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหาร ส่วนจังหวัด กรมศิลปากร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช และ อื่นๆ
3. ทำงานในลักษณะสหสาขาวิชา
- งานวางแผน ออกแบบทางหลวงและถนน
- งานวางแผนนันทนาการ
- งานวางแผนที่ดิน
- งานวางผังและออกแบบ วิทยาเขตและสถาบัน
- งานเคหะการ
- งานวางแผนการใช้ทรัพยากร
สมัครเรียนทำอย่างไร

ระบบรับตรง (มีนาคม)
- สำเร็จหรือกำลังศึกษาระดับชั้นม.6 ทุกแผนการเรียน
- มีผลการเรียนเฉลี่ย (GPAX) ไม่ต่ำกว่า 3.00
- มีผลคะแนนสอบ GAT, PAT4 (สถาปัตยกรรมศาสตร์)
- มีผลสอบ 9 วิชาสามัญ (ในรายวิชาภาษาอังกฤษ, คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ มีคะแนนขั้นต่ำ 20%)
- สมัครผ่านทางเว็ปไซต์ http://www.atc.chula.ac.th

แอดมิชชัน
- GPAX 20%
- O-NET 30%
- GAT 10%
- PAT4 (สถาปัตยกรรมศาสตร์) 40%

ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร
210,000 บาท
รายละเอียดค่าใช้จ่าย


เรื่องโดย AdmissinonPremium