สอบเข้ามหาวิทยาลัย

มธ.ระบาดเด็กวิ่งรอกสอบ "TU STAR" โดนเรียกให้เข้ามาหารือ !!!


       หลังจากที่เป็นข่าวครึกโครมเกี่ยวกับเรื่องการสอบ TU STAR ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ในสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ภาพบรรยากาศผู้เข้าสอบ TU STAR ครั้งที่1/59 จำนวนกว่า 20,000 คน ได้เดินทางมาเข้าสอบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยนักเรียนจำนวนมากต่างเร่งรีบวิ่งลงจากทางด่วน บางคนใช้บริการมอเตอร์ไชค์รับจ้าง เนื่องจากเกรงว่าจะเข้าสอบในช่วงเวลาที่กำหนดไม่ทัน เพราะการจราจรโดยรอบติดขัดอย่างมาก ทั้งนี้ช่วงเช้ามีผู้เข้าสอบจำนวนกว่า 20,602 คน และช่วงบ่ายอีกจำนวน 7,177 คน เราไปดูกันดีกว่าว่าทางด้านของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ จะคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร


UploadImage

       โดยล่าสุด "ดาว์พงษ์" ห่วงรับตรง TU STAR ของมธ.สร้างกระแสมหาวิทยาลัยอื่นทำตามจัดสอบเก็บคะแนนปีละหลายครั้ง สร้างภาระให้เด็กเสียเงินสมัคร-วิ่งรอก สั่ง สกอ.เชิญมหาวิทยาลัยมาหารือ ย้ำแนวคิดลดภาระเด็ก-ไม่สอบเยอะ-คนยากจนมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัย ด้าน มธ.ยันเดินหน้าโครงการรับตรงรูปแบบใหม่ ชี้เด็กชอบ

       เมื่อวานนี้ (6 ก.ค.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ได้รายงานเรื่องการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาผ่านโครงการรับตรงรูปแบบใหม่ หรือ TU Standardized Test of Aptitude Requirement (TU STAR) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ปีการศึกษา 2560 ซึ่งเป็นการสอบเพื่อเก็บคะแนนไว้ และสอบได้ปีละหลายครั้ง โดยปี 2559เป็นปีแรกที่ มธ.จัดสอบในรูปแบบนี้ และมีนักเรียนชั้นม.ปลายมาสมัครสอบเป็นหมื่นคน และยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาขอนแก่น ที่ดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งตนกังวลว่าจะทำให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบกันอุตลุด จึงให้ สกอ.ประสานผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการรับตรงในลักษณะดังกล่าวมาหารือ ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้สั่งเบรก ส่วนจะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ ตนขอฟังเหตุผลความจำเป็นของมหาวิทยาลัยก่อน

       “เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ต่อไปมหาวิทยาลัยอื่นอาจจะทำตาม ซึ่งจะส่งผลให้เด็กต้องวิ่งสอบกันหน้าตั้ง เราต้องมาพูดคุยกับทุกมหาวิทยาลัย ว่า ควรจะดำเนินการรูปแบบใดถึงจะสรรหาเด็กได้ตรงกับคณะที่เปิดรับ ตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัยได้ โดยที่เด็กไม่เหนื่อย ไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก และลดความเหลื่อมล้ำคนจนมีโอกาสเข้าถึงด้วย ไม่ใช่คนที่มีเงินเสียค่าสมัครบ่อยๆเท่านั้นที่จะไปสอบได้ ” รมว.ศธ. กล่าวและว่า ตนจะพยายามเดินไปสู่จุดนี้ให้ได้ โดยจะปรับรูปแบบการรับตรงที่จะใช้ในปีหน้า ยอมรับว่าการจะไปเปลี่ยนอะไรของมหาวิทยาลัยโดยพลการเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะตนไม่มีอำนาจ แต่ต้องพูดคุยทำความเข้าใจและเห็นประโยชน์ร่วมกัน โดยหารูปแบบที่ดีที่สุดมาใช้

       รศ.เกศินี วิฑูรชาติ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและบริหาร มธ. ศูนย์รังสิต กล่าวว่า โครงการTU STAR ของ มธ. เป็นการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา ผ่านโครงการรับตรง โดยใช้ข้อสอบกลางของมหาวิทยาลัย จะเปิดให้สอบ 8 ครั้งต่อปี สามารถเลือกสอบได้ 8 เมนู ตามคณะที่จะเข้าเรียน 14 คณะ โดยสอบได้มากกว่า 1 ครั้งและสามารถเก็บคะแนนไว้ได้ 2 ปี นับจากวันที่สอบ ซึ่งเด็กไม่จำเป็นต้องมาสอบทุกครั้งและจะเดินหน้าต่อไป เพราะทำให้เด็กมีความกระตือรือร้นและเด็กก็ชอบ ส่วนที่มองว่าจะสร้างความเหลื่อมล้ำให้เด็กยากจนนั้น ไม่จริง เพราะ มธ.มีทางเลือกให้แก่เด็กด้อยโอกาสอีกหลายโครงการ และมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็มีปรัชญาเป็นของตนเอง คงไม่มีใครมาทำตาม มธ.

UploadImage


ข้อมูลที่มาจาก : เดลินิวส์