สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ทปอ. สรุปวันนี้ #dek61 เคลียริ่งเฮาส์ รอบที่ 2 คล้าย Admissions เดิม และ โควตา/รับตรงคล้ายเดิมเริ่ม มกราคม 2561


การประชุมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.)ครั้งที่ 6/2559 18 ธันวาคม 2559

...

           วันนี้(วันที่ 18 ธันวาคม 2559) การประชุมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ครั้งที่ 6/2559 ณ มหาวิทยาลัยพะเยา ศ.คลีนิก ดร.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากที่ได้มีการแถลงข่าวที่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 ว่า การคัดเลือกระบบใหม่ จะมี 5 รอบ คือ 1.การรับนักเรียนโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน(Portfolio) โดยไม่มีการสอบคัดเลือก 2.ระบบโควตาหรือรับตรงโดยใช้ข้อสอบกลาง(จัดสอบช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2561) 3.ระบบเคลียริ่งเฮาส์(รอบที่ 1) 4.ระบบเคลียริ่งเฮาส์(รอบที่ 2) 5.รับตรงอิสระ ที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้เอง รวมทั้ง มหาวิทยาลัย คณะ/สาขา ต่าง ๆ สามารถเปิดสอบวิชาเฉพาะได้เอง โดย นักเรียนมีสิทธิ์ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาได้เพียง 1 สิทธิ์ เท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดการกั๊กที่นั่ง ทั้งนี้โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร. ) มาเข้าร่วมด้วยนั้น 

           ศ.คลีนิก ดร.นพ.อุดม คชินทร ได้รายงานแนวทางดังกล่าวให้ที่ประชุมได้รับทราบว่า ทปอ. สนับสนุนให้มีการปรับการดำเนินการการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบใหม่ เพื่อตอบสนองนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และเกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ตัวนักเรียนและผู้ปกครอง โดยระบบใหม่จะทำให้เกิดความเสมอภาค เพราะนักเรียนทุกคนจะมีเพียง 1 สิทธิ์  1 ที่นั่งเท่าเทียมกัน  แตกต่างจากการคัดเลือกที่ผ่านมา ที่นักเรียนถือได้หลายสิทธิ์ เด็กรวยเด็กจนมีสิทธิ์ไม่เท่ากัน และเป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ปกครอง ดังนั้นจึงได้ขอความร่วมมือให้มหาวิทยาลัยสมาชิก ทปอ. ทุกแห่ง เข้าร่วมระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบใหม่

            ศ.คลีนิก ดร.นพ.อุดม คชินทร กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะและเป็นห่วงถึงการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาระบบใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561 โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร. ) เข้าร่วมและต้องใช้ข้อสอบกลางร่วมกัน ซึ่งแต่เดิมมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่มมีการใช้ข้อสอบแตกต่างกัน และข้อสอบเดิมของ ทปอ. ที่ใช้อาจไม่เหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร. ) ดังนั้น ที่ประชุมได้เสนอให้มีการบูรณาการข้อสอบกลางให้เหมาะสมกับทุกมหาวิทยาลัย และได้มอบหมายให้ทางคณะทำงานศึกษาแอดมิชชันฟอรัมไปหารือร่วมกับคณะทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร. ) ในการจัดทำข้อสอบกลางร่วมกันต่อไป

            การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบใหม่ ปีการศึกษา 2561 ยังคงหลักการ คือ การวางระบบคัดเลือกใหม่ 5 รอบ และต้องเป็นระบบคัดเลือกที่ให้นักเรียน 1 คน มี 1 สิทธิ์ ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาได้ 1 ที่นั่งเท่านั้น แต่การใช้ข้อสอบกลางอย่างที่ได้ประกาศไว้ในตอนแรกคงไม่สามารถดำเนินการได้ในปีการศึกษา 2561 เนื่องจากต้องมีการบูรณาการข้อสอบกลางให้เหมาะสมกับบริบท ทั้งมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของ ทปอ. มหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร. ) ซึ่งต้องใช้เวลาและวิเคราะห์ข้อสอบให้ถี่ถ้วน ดังนั้น ปีการศึกษา 2561 จึงเป็นการคัดเลือกที่มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการได้เองโดยมหาวิทยาลัยจัดสอบหรือใช้คะแนนที่จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) เช่น O-NET , GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญ  แต่จะต้องจัดสอบในช่วงเวลาเดียวกัน ภายหลังนักเรียนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในเดือนมีนาคม-เมษายน 2561 ส่วนการคัดเลือกระบบใหม่ 5 รอบ ที่จะใช้การบูรณาการข้อสอบกลาง จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป” 

            ด้าน ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะเลขานุการ ทปอ. กล่าวว่า ทปอ.ได้กำหนดกรอบเวลาให้คณะทำงานศึกษาแอดมิชชันฟอรัมของ ทปอ. มหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร. ) เร่งดำเนินการวิเคราะห์ และกำหนดแนวทางของข้อสอบที่จะใช้เป็นข้อสอบกลางมานำเสนอในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ทั้งนี้ สาเหตุที่ ทปอ. ต้องเลื่อนการคัดเลือกระบบใหม่ที่ใช้การบูรณาการข้อสอบกลาง ในปีการศึกษา 2562 นั้น นอกจากต้องการบูรณาการข้อสอบเพื่อให้เหมาะสมกับทุกบริบทของมหาวิทยาลัยที่เข้าแล้ว ทปอ. เกรงว่าหากนำมาใช้ในปีการศึกษา 2561 เด็กอาจไม่มีความพร้อม และมีเวลาเตรียมตัวน้อยเกินไป
 

UploadImage


บทสรุปจากพี่โดม
 

            ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 

            1.การรับนักเรียนโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน(Portfolio) ไม่มีการสอบคัดเลือก เช่น การรับนักเรียนดี/ช้างเผือก นักเรียนที่มีความสามารถด้านกีฬา ดนตรีศิลปวัฒนธรรม โอลิมปิกวิชาการ นักเรียนกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์หรือเด็กดีมีคุณธรรม เป็นต้น การคัดเลือกโดยพิจารณาจาก การสอบสัมภาษณ์และแฟ้มสะสมผลงาน(Portfolio) เริ่มดำเนินการช่วงเดือนตุลาคม 2560 เมื่อนักเรียนที่ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยจะต้องส่งรายชื่อให้ ทปอ. ทำการตัดสิทธิ์การเข้าศึกษาในระบบเคลียริ่งเฮาส์ ภายในเดือนธันวาคม 2560

            2.ระบบโควตาหรือรับตรงโดยใช้คะแนน ที่มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการได้เอง

            รูปแบบที่ 1 โควตา เช่น โควตาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยตามภูมิภาค โครงการผลิดแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท(CPIRD) โครงการผลิตแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน(ODOD) เป็นต้น การคัดเลือกโดยข้อสอบที่มหาวิทยาลัยจัดสอบ 

            รูปแบบที่ 2 สอบตรงที่มหาวิทยาลัยจัดสอบ เช่น การสอบตรงของคณะ/สาขาต่าง ๆ

            รูปแบบที่ 3 รับตรงโดยใช้คะแนนที่จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) เช่น GAT/PAT , 9 วิชาสามัญ เช่น โครงการรับตรงของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

             ทั้งนี้ การจัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) เช่น GAT/PAT , 9 วิชาสามัญ และการจัดสอบโดยมหาวิทยาลัย เช่น ข้อสอบโควตา ข้อสอบตรงของคณะ/สาขาต่าง ๆ จะต้องอยู่ภายในช่วงเวลาเดียวกัน คือ ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2561 

             นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกและต้องการเข้าศึกษา ต้องทำการยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาเพียง 1 ที่ ผ่านเคลียริ่งเฮาส์ และจะถูกตัดสิทธิ์จากการคัดเลือกในระบบเคลียริ่งเฮาส์ รอบที่ 1 และ รอบที่ 2

            3.ระบบเคลียริ่งเฮาส์ รอบที่ 1 (ระบบรับตรงร่วมกัน)

             คัดเลือกโดยใช้ ผลคะแนนที่จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน)(GAT/PAT และ/หรือ วิชาสามัญ 9 วิชา) ผลคะแนน O-NET และผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร(GPAX) 

             นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกและต้องการเข้าศึกษา ต้องทำการยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาเพียง 1 ที่ ผ่านเคลียริ่งเฮาส์  เมื่อนักเรียนที่ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาผ่าน ระบบเคลียริ่งเฮาส์ รอบที่ 1 แล้ว จะถูกตัดสิทธิ์จากการคัดเลือกในระบบเคลียริ่งเฮาส์ รอบที่ 2

            4.ระบบเคลียริ่งเฮาส์ รอบที่ 2 (ระบบคัดเลือกกลาง)

             คัดเลือกโดย ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหทลักสูตร(GPAX) ผลคะแนน O-NET และ ผลคะแนน GAT/PAT ที่จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) โดยยังคงสัดส่วนและกระบวนการคัดเลือกเหมือนระบบแอดมิชชันเดิม

            5.รับตรงอิสระ

            ทั้งนี้ภายหลังการรับนักศึกษาในระบบเคลียริ่งเฮาส์แล้วเสร็จ หากมหาวิทยาลัยยังไม่สามารถรับนักเรียนได้ตามจำนวนที่ต้องการ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้เอง รวมทั้ง มหาวิทยาลัย คณะ/สาขา ต่าง ๆ สามารถเปิดสอบวิชาเฉพาะได้เองอีกด้วย

             - Timeline ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561

             การรับนักเรียนโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน(Portfolio) ไม่มีการสอบคัดเลือก ช่วงตุลาคม 2560 - ธันวาคม 2560

             การจัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) เช่น O-NET ,GAT/PAT ,9 วิชาสามัญ ช่วงมีนาคม 2561 – เมษายน 2561

             ระบบโควตาหรือรับตรงโดยใช้คะแนน ช่วงมีนาคม 2561 – เมษายน 2561

             ระบบเคลียริ่งเฮาส์ รอบที่ 1 ช่วงพฤษภาคม 2561

             ระบบเคลียริ่งเฮาส์ รอบที่ 2 ช่วงมิถุนายน 2561

             รับตรงอิสระ ช่วงหลังมิถุนายน 2561

UploadImage


ข้อมูลโดย
พี่โดม บรรณาธิการข่าว AdmissionPremium.com
และบล็อกเกอร์การศึกษา P-Dome.com