สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ก้าวใหม่ ของวงการโทรทัศน์ไทย ในยุค TV Digital

UploadImage
Analog TV ระบบเก่าแบบดั่งเดิม
การรับสัญญาณโทรทัศน์ที่เราเคยใช้กันอยู่ในอดีตตามช่องฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องนั้น เรียกกันว่าระบบอนาล็อก (Analog) ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial Broadcasting) โดยถ้าแปลตรงตัวก็เป็นการส่งคลื่นความถี่ไปมาบนผิวโลก ใช้วิธีส่งผ่านอากาศ จากเสาโทรทัศน์ใหญ่ๆ ไปยัง ‘เสาก้างปลา’ หรือว่า ‘เสาหนวดกุ้ง’ ตามที่อยู่อาศัย ไม่ใช่การส่งสัญญาณไปยังอวกาศแล้วยิงกลับมาอย่างการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม หากแต่ระบบอนาล็อกแบบที่ใช้กันอยู่นี้ มีขีดจำกัดในการใช้งานค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเรื่องการถูกสัญญาณรบกวนได้ง่าย ทำให้เกิดการพัฒนาก่อนจะกลายมาเป็นระบบดิจิตอล




 
UploadImage

 
อะไรคือ ทีวีดิจิทัล(TV Digital)
ทีวีดิจิทัล (Digital Television) คือระบบการแพร่สัญญาณคลื่นโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (“terrestrial” ในที่นี้หมายความว่าไม่ได้ยิงสัญญาณออกนอกโลกเหมือนดาวเทียม) เหมือนกับระบบของฟรีทีวีในปัจจุบัน แต่เปลี่ยนวิธีการเข้ารหัสสัญญาณเป็นแบบดิจิทัลแทนระบบอนาล็อกแต่เดิม
 
ข้อดีของการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลคือ ให้ภาพที่คมชัดกว่าเดิม ใช้ช่วงคลื่นน้อยลงกว่าเดิมมาก และมีความสามารถอื่นๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับชมทีวี เช่น มีผังรายการแสดงบนหน้าจอได้เลย เป็นต้น
 
ปัจจุบันอุตสาหกรรมทีวีทั่วโลกเข้าสู่ระบบดิจิทัลกันแทบทั้งหมดแล้ว (ประเทศไทยถือว่าช้าไปราว 10 ปีเพราะไม่สามารถตั้ง กสช. ได้ ภารกิจนี้จึงตกมาอยู่กับ กสทช. ในฝั่งคณะกรรมการ กสท. แทน) กระบวนการผลิตรายการทีวีทั้งหมดตั้งแต่กล้องวิดีโอไปจนถึงการตัดต่อ เปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลกันหมดแล้ว เรียกได้ว่าในฝั่งการผลิตและการออกอากาศนั้น เทคโนโลยีพร้อมหมดแล้ว เหลือแค่ฝั่งของนโยบาย และฝั่งของผู้ชมโทรทัศน์เท่านั้น (เครื่องรับโทรทัศน์จำเป็นต้องรองรับสัญญาณระบบดิจิทัลด้วย ซึ่งแก้ด้วยการซื้อกล่องแปลงสัญญาณดิจิทัลมาต่อเข้ากับทีวีเดิมได้)


ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นDigital TV
การเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิตอล นอกจากทำให้รับชมทีวีด้วยคุณภาพสัญญาณที่ดีขึ้นในระดับมาตรฐานความคมชัดสูง (High Definition) และปราศจากสัญญาณรบกวนแล้ว ประเทศไทยยังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน (AMRI) โดยเป็นการหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีระบบดิจิตอลร่วมกัน ซึ่งในคราวประชุมได้มีการกำหนดกรอบเวลาสำหรับการยุติการออกอากาศทีวีในระบบอนาล็อคระหว่างปี พ.ศ.2558-2563 ทั้งยังมีมติให้ใช้ระบบ DVB-T2 เป็นมาตรฐานที่ ‘ต้อง’ ใช้ร่วมกันด้วย


DVB-T2สัญลักษณ์ มาตรฐานสากล
DVB-T2 ย่อมาจาก Digital Video Broadcasting-Second Generation Terrestrial เป็นมาตรฐานสากลของระบบทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการใช้คลื่นความถี่ดีที่สุดในขณะนี้ DVB-T2 ถูกพัฒนาขึ้นมาจาก DVB-T ที่ประเทศเพื่อนบ้านเราหลายประเทศใช้อยู่ แต่ความที่ประเทศไทยพัฒนาระบบช้า จึงข้ามมาใช้ DVB-T2 เลย ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้มาตรฐาน DVB-T2 อยู่ประมาณ 38 ประเทศทั่วโลก โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการส่งสัญญาณระบบ DVB-T2 คือจะได้ภาพและเสียงที่คมชัด และรับช่องสัญญาณได้มากขึ้น และสำหรับคนที่กำลังจะเปลี่ยนทีวีใหม่ หรือหาซื้อกล่องรับสัญญาณ (Set Top Box) ให้สังเกตสัญลักษณ์ หรือสติ๊กเกอร์รับรองที่มีคำว่า DVB-T2


ผลกระทบของ ทีวีดิจิทัลต่ออุตสาหกรรมทีวีของไทย
ต้องยอมรับว่า “ฟรีทีวี” (ในที่นี้คือ Analog Terrestrial Television) มีสภาพการแข่งขันแบบกึ่งผูกขาดโดยรัฐมายาวนานหลายสิบปี ในจำนวนฟรีทีวีทั้ง 6 ช่อง แบ่งได้เป็น
 
ช่องของหน่วยงานรัฐ 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 5 (กองทัพบก) ช่อง 9 (MCOT) และช่อง 11 (NBT)
ช่องที่หน่วยงานรัฐให้สัมปทานแก่เอกชน ได้แก่ ช่อง 3 (สัมปทานจาก อสมท. ให้กลุ่มบริษัท BEC) และช่อง 7 (กองทัพบกให้สัมปทานแก่กลุ่มบริษัท BBTV)
ทีวีสาธารณะของหน่วยงานอิสระของรัฐ ได้แก่ Thai PBS
ทีวีเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทย มีอัตราการเข้าถึงประชากร 98% (ตัวเลขอ้างอิงจากรายงานของ กสทช.) มากกว่าสื่อชนิดอื่นๆ อย่างวิทยุและหนังสือพิมพ์มาก เม็ดเงินเชิงพาณิชย์จำนวนมหาศาลจึงไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมทีวี และผู้ที่ได้รับความมั่งคั่งย่อมเป็นหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจควบคุมสถานีโทรทัศน์ของไทยทั้ง 5 ช่องนั่นเอง (ไม่นับรวม Thai PBS ที่อยู่ได้จากเงินภาษี ไม่รับโฆษณาจากภาคเอกชน)
 
กลุ่มทุนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากภาวะกึ่งผูกขาดของอุตสาหกรรมทีวีไทยย่อมเป็น BEC และ BBTV ที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับหน่วยงานผู้ให้สัมปทาน และพยายามกีดกันคู่แข่งรายอื่นๆ โดยใช้กลไกเรื่องสัมปทานเป็นเครื่องมือ และในเมื่อทีวีระบบอนาล็อกจำเป็นต้องใช้ช่วงคลื่นที่กว้างมากในการแพร่สัญญาณ ในทางเทคนิคจึงมีจำนวนสถานีได้ไม่มากนักเทียบกับความถี่ที่ประเทศไทยมีใช้งานสำหรับกิจการโทรทัศน์

การเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์เองย่อมสร้างอำนาจต่อรองกับโฆษณาได้มากกว่าผู้ผลิตรายการทีวีที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสถานีมาก ในอดีตที่ผ่านมา เราจึงเห็นกลุ่มทุนใหญ่ของประเทศหลายกลุ่มพยายามสอดแทรกตัวเข้ามาตั้งสถานีทีวีอยู่เป็นระยะ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือสถานี ITV ที่กลุ่มทุนหลายกลุ่มอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ เครือเนชั่น และเครือชินคอร์ป หมายมั่นปั้นมือว่าจะกลายเป็นสถานีทีวีภาคเอกชนรายใหม่ของไทย แต่ก็เจอปัญหามากมายทั้งประเด็นการเมือง ธุรกิจ และสัญญาสัมปทาน จนต้องถอนตัวออกไปทั้งหมด

เมื่อเทคโนโลยีเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมเริ่มพัฒนา จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่กลุ่มทุนสื่อรายใหญ่แทบทุกรายของประเทศไทย หันมาทำสถานีทีวีของตัวเอง เช่น ทรู เนชั่น เวิร์คพอยต์ แกรมมี่ อาร์เอส เมเจอร์ กันตนา ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ฯลฯ รวมไปถึงกลุ่มทุนรายเล็กๆ อีกมากที่เข้ามาร่วมชิงเค้กก้อนนี้ แม้ว่าในช่วงแรกๆ เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมจะยังมีฐานผู้ชมสู้ฟรีทีวีไม่ได้ก็ตาม

การมาถึงของเทคโนโลยีทีวีดิจิทัล มีบทบาทสำคัญต่อการสลายสภาพการผูกขาดของอุตสาหกรรมทีวีในประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะข้อจำกัดเรื่องจำนวนช่องรายการ 6 ช่องที่อยู่กับประเทศไทยมานานจะหมดไป มติของคณะกรรมการ กสทช. ตัดสินแล้วว่าบนระบบทีวีแบบดิจิทัล จะมีช่องรายการทั้งหมด 48 ช่อง ซึ่งถือว่าเพิ่มมาจากเดิมถึง 8 เท่า หรือ 700% จากเดิม มีพื้นที่ให้กลุ่มทุนรายอื่นๆ เข้ามาเปิดสถานีได้ในที่สุด


มูลค่าของทีวีดิจิทัล อาจไม่เยอะอย่างที่คิด
ทีวีดิจิทัลเป็นวิวัฒนาการของทีวีแบบอนาล็อก โดยทำลายข้อจำกัดด้านจำนวนช่องและคุณภาพความคมชัดของสัญญาณในระบบอนาล็อกไป
 
ในต่างประเทศเริ่มใช้ทีวีระบบดิจิทัลกันมานานแล้ว และในประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็เปลี่ยนไปใช้ระบบดิจิทัล 100% แล้ว แต่กรณีของประเทศไทยนั้น หลังจากมีปัญหาไม่สามารถตั้งหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์อย่าง กสช. ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นเวลาถึงสิบกว่าปี ทำให้แผนการถ่ายทอดสัญญาณด้วยระบบดิจิทัลล่าช้าตามไปด้วย และเกิดสภาพ “คอขวด” ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ที่ต้องพึ่งพาผู้ให้บริการฟรีทีวีระบบอนาล็อกทั้ง 6 ช่องมาโดยตลอด
 
สภาพการแข่งขันแบบกึ่งผูกขาดทำให้กลุ่มทุนสื่ออื่นๆ ไม่สามารถแทรกตัวเข้ามาทำสถานีทีวีของตัวเองได้ และเมื่อเทคโนโลยีทีวีแบบไม่ใช้คลื่นความถี่อย่างเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และอินเทอร์เน็ตทีวีเริ่มพัฒนา กลุ่มทุนสื่อเหล่านี้จึงกระโจนเข้าไปทำทีวีช่องทางเลือกแทนการทำทีวีดิจิทัลที่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จเมื่อใด และถึงแม้ว่าในช่วงแรกๆ ทีวีทางเลือกเหล่านี้จะไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทีวีทางเลือกพัฒนามากขึ้น มีช่องรายการที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น แถมมีข้อดีเหนือฟรีทีวีแบบแอนะล็อกในแง่ความคมชัดที่ดีกว่า ทำให้คนไทยจำนวนมากหันมาดูทีวีทางเลือกเหล่านี้แทน
 
ตัวเลขในปัจจุบัน (จากการสำรวจของ Neilsen) ระบุว่าสัดส่วนการรับชมโทรทัศน์ในประเทศไทยคือ

UploadImage
ทีวีภาคพื้นดิน 45.8%
เคเบิลทีวี 28.7%
ทีวีดาวเทียม 25.5%

จะเห็นว่าทีวีภาคพื้นดินยังมีส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถ้านับรวมเคเบิลทีวีกับทีวีดาวเทียมเข้าด้วยกัน กลับกลายเป็นว่าทีวีทางเลือกกลุ่มที่ไม่ใช้คลื่นความถี่มีส่วนแบ่งมากกว่าที่ 54.2% และตลาดก็มีแนวโน้มไปในทางทีวีกลุ่มไม่ใช้คลื่นมากขึ้นเรื่อยๆ


Did you know?
 
-กสทช. มีมติสรุปช่องรายการดิจิตอลทีวีของไทยไว้ 48 ช่อง แบ่งเป็น ช่องบริการทีวีสาธารณะ 12 ช่อง ช่องบริการธุรกิจ 24 ช่อง และช่องบริการชุมชน 12 ช่อง
 
-พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ระยะเวลาออกอากาศอย่างเป็นทางการ ไม่เกี่ยวกับการกำหนดกรอบเวลาของผู้ให้บริการโครงข่ายทั้ง 4 ราย คือบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5, กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่จะต้องติดตั้งโครงข่ายทีวีดิจิตอลให้แล้วเสร็จพร้อมให้บริการได้ภายในวันที่ 1 เมษายน 2014 ใน 4 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา และนครราชสีมา ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2014 เป็นต้นไป หากผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลรายใดที่พร้อมให้บริการ สามารถทดลองออกอากาศได้ทันที

-กสท.จัดระเบียบช่องเคเบิล-ทีวีดาวเทียมใหม่ โดยจะให้ช่อง 1-36 เป็นทีวีดิจิตอล ส่วนช่อง 37 เป็นต้นไปจะให้เป็นเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม
 
-หมวดรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว 3 ช่องอยู่ที่ช่อง 13-15 หมวดข่าว 7 ช่องอยู่ที่ช่อง 16-22 หมวดรายการทั่วไปวาไรตี้คมชัดปกติ (SD) อยู่ที่ช่อง 23-29 และหมวดวาไรตี้คมชัดพิเศษ (HD) ที่ช่อง 31-36 ส่วนช่อง 1-12 อยู่ต้นๆ เข้าถึงผู้ชมง่ายสุดกสทช.เตรียมไว้รองรับรายการประเภทสาธารณะ, ความมั่นคง ซึ่งช่อง 5 ช่อง 11 และไทยพีบีเอสเจ้าเดิมอยู่ในข่ายโดยจะมีเจ้าใหม่เพิ่มมาต่างหาก

 
ที่มา
[1] http://www.siamintelligence.com/thai-digital-tv-analysis/
[2] http://tech.mthai.com/review/36159.html