สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ทปอ.มีมติให้ยกเลิกเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอุดมศึกษา

    UploadImage


       มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) - นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559 ว่า ทปอ.ต้องการให้ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา

      รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ทปอ. ได้หารือถึงระบบการประกันคุณภาพการศึกษา โดย ทปอ.เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2558 เนื่องจากเกณฑ์ดังกล่าวมีการกำหนดรายละเอียดมากเกินไป เช่น มีการกำหนดอาจารย์ผู้สอนในรายวิชา ผู้สอนต้องมีคุณวุฒิตรงกับรายวิชาที่สอน เป็นต้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย อีกทั้งปัจจุบันเทคโนโลยี ความรู้ และนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่การรับทราบหลักสูตรต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ใช้เวลานานมาก

      ดังนั้น จะนำเรื่องนี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สกอ. และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่าการยกเลิกประกาศดังกล่าวสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และขัดกับข้อกฎหมายใดๆ หรือไม่ แต่ทั้งนี้หากยกเลิกประกาศดังกล่าวแล้ว ก็จะต้องหาเกณฑ์ใหม่ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมาใช้แทน

      ส่วนข้อกังวลว่าการยกเลิกประกาศดังกล่าวจะทำให้มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรมากจนเฟ้อนั้น ตนไม่กังวล ซึ่งหากหลักสูตรใดไม่มีคุณภาพ สภามหาวิทยาลัยนั้นๆ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตามเห็นว่าเกณฑ์ใหม่ที่จะประกาศใช้แทนนั้น ต้องมีระบบรองรับเพื่อป้องกันปัญหาหลักสูตรเฟ้อด้วย ซึ่งตนยังไม่ให้คำตอบ แต่เห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนรับทราบก็จะเป็นแนวทางป้องกันทางหนึ่ง เช่น การเปิดเผยจำนวนบัณฑิตที่มีงานทำของมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือ การมีกระบวนการร้องเรียนที่ตอบสนองการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว เช่น เมื่อพบหลักสูตรไม่มีคุณภาพก็ปิดในเวลาอันรวดเร็ว และแก้ปัญหาให้แก่ผู้เรียนได้ทันท่วงที

      ศาสตราจารย์ นพ.อุดม คชินทร อธิการบดี มม. ในฐานะประธาน ทปอ. กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีความคล่องตัวและอิสระทางวิชาการ แต่เข้าใจว่าที่ผ่านมา สกอ. และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาฯ (สมศ.) ยังไม่เข้าใจบทบาทตัวเอง ทั้งที่ตามหลักการแล้วทั้งสองหน่วยงานควรต้องดูที่ผลลัพธ์ของการจัดการศึกษามากกว่าดูที่กระบวนการ และปัจจุบันการเรียนการสอนแต่ละสาขาก็มีการบูรณาการข้ามศาสตร์แลกเปลี่ยนอาจารย์แต่ละคณะ ซึ่งหากดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ สกอ.กำหนด ก็จะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าวได้ และเท่าที่ดูมีหลายหลักสูตรต้องปิดตัวลงมากมาย โดยที่ มม.ก็มีมากกว่า 100 หลักสูตรจากหลักสูตรที่มีทั้งหมดประมาณ 300-400 หลักสูตร

      ทั้งนี้ ได้ขอให้ รมช.ศึกษาธิการ เร่งดำเนินการพิจารณาเรื่องนี้ และให้คำตอบภายใน 1 เดือน เพื่อมหาวิทยาลัยจะได้เตรียมความพร้อมในการจัดหลักสูตร และรับนักศึกษาปีการศึกษา 2559 อีกทั้งเรื่องนี้ยังเชื่อมโยงกับการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งภายนอกและภายใน จึงต้องให้มีความชัดเจนโดยเร็ว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ข่าวสำนักนายกรัฐมนตรี 85/2559