สอบเข้ามหาวิทยาลัย

หลักสูตรใหม่ ครั้งแรกของเมืองไทย "ปั้นวิศวกรฟินเทค" เรียน 5 ปี ได้ทั้งตรีควบโท โดยลาดกระบังร่วม NIDA


     ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ตลอดมา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ มีเป้าหมายในการยกระดับการศึกษา และบุคลากรของประเทศ ให้มีความรู้ความสามารถทัดเทียมประเทศกลุ่มมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จึงได้เร่งพัฒนา และขยายหลักสูตรการศึกษา ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สจล. ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือด้านวิชาการ ในการส่งเสริมการศึกษาสำหรับผู้เรียน การสนับสนุนด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนการวิจัยร่วมกัน พร้อมเตรียมเปิดหลักสูตร “วิศวกรรมการเงิน” ซึ่งนับเป็นหลักสูตรแรกระหว่าง สจล. และนิด้า ที่ผสานองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม และองค์ความรู้ด้านการเงินการธนาคาร โดยนำจุดเด่น และศักยภาพของแต่ละสถาบัน มาบูรณาการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับเยาวชนนักศึกษาที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ ที่จะพลิกโฉมการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปอีกขั้น เพื่อตอบสนองกับอุตสาหกรรมประเทศที่กำลังเติบโตขึ้น



     ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค (FinTech : Financial Technology) กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และได้เข้ามามีบทบาทต่อธุรกรรมทางการเงิน การธนาคาร ตลอดจนการลงทุน ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ­เป็นอย่างมาก ในต่างประเทศได้มีการนำฟินเทคมาประยุกต์ใช้ในวงการ เช่นการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคนิคคอมพิวเตอร์เรียนรู้ด้วยตนเอง (Machine Learning) มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลการเงินเพื่อการลงทุนและบริหารความเสี่ยง ตรวจจับการทุจริตในธุรกรรมทางการเงิน และให้คำปรึกษาด้านการลงทุน (Robo Advisor) มาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา ฟินเทคยังได้สร้างดิสรัปชั่น ในอุตสาหกรรมการเงิน และไอทีทั่วโลก ด้วยนวัตกรรมทางการเงิน เช่น สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) และเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งผลักดันให้เกิดฟินเทคสตาร์ทอัพจำนวนมาก ที่นำเอาฟินเทค ไปพัฒนาเป็นบริการทางการเงิน ที่เข้าถึงมือผู้ใช้ทั่วโลกได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งเรามักได้ยินปัญหาเกี่ยวกับการเงินการธนาคารดิจิทัล อาทิ ระบบธุรกรรมการเงินออนไลน์ล่ม ปัญหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (Cyber Crime) ปัญหาความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ ตลอดจนการโจรกรรมและฉ้อโกงทางการเงินออนไลน์ ฯลฯ สาเหตุเกิดจากการเติบโตของฟินเทค ที่ยังคงสวนทางกับจำนวนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีจำนวนไม่เพียงพอ สจล. และนิด้า จึงเชื่อมั่นว่าหลักสูตร “วิศวกรรมการเงิน” จะเป็นหลักสูตรที่สำคัญของประเทศ ที่จะเร่งปั้นบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานของอุตสาหกรรมการเงินและธนาคาร และคาดว่าการที่ประเทศมีบุคลากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในฟินเทคเพิ่มมากขึ้น จะช่วยบรรเทาปัญหาในวงการการเงินและธนาคาร ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ให้ตอบสนองเท่าทันสถานการณ์โลกได้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป



ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)กล่าวว่า โครงการหลักสูตรร่วม KMITL-NIDA Double Degree Program in Financial Engineering  เป็นโครงการที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้จับมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง  จัดให้มีเรียนการสอนในหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องปริญญาโท  และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่สองสถาบันได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรใหม่ขึ้นมา โดยที่นักศึกษาสามารถเรียนตรีควบโท และจบได้ภายใน 5 ปี  ซึ่งหลักสูตรนี้จะใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนทั้งหม ในความร่วมมือแรกนี้ จะเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างวิศวกรการเงินที่มีความรู้และความเข้าใจในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และการเงิน มีทักษะทางคณิตศาสตร์และสถิติเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงปริมาณ มีทักษะการออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีความเข้าใจในเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถนำมาใช้ในงานทางการเงิน และสามารถนำความรู้และทักษะดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการการเงินขององค์กร แก้ปัญหาทางการเงิน ออกแบบกลยุทธ์การลงทุน และพัฒนาเครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมทางการเงินเพื่อตอบโจทย์และความต้องการของอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมีทักษะการทำงานแบบมืออาชีพ มีความพร้อมในการทำงานในระดับนานาชาติ และมีคุณธรรม จริยธรรม ยึดมั่นจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ



     หลักสูตรนี้ นักศึกษาจะได้เรียนกับคณาจารย์จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ NIDA ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน และคณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ KMITL ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ปีแรกจนจบการศึกษา สามารถใช้สถานที่เรียนทั้งที่ KMITL และ NIDA และมีรถรับส่งเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่าง KMITL และ NIDA   นักศึกษาสามารถใช้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษา เช่น ห้องสมุด สนามกีฬา อินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ทั้ง KMITL และ NIDA เอง ปัจจุบันได้มีความร่วมมือในระดับสากลและเครือข่ายทางวิชาการ         อันสอดคล้องกับทิศทางในการพัฒนาสถาบันที่มุ่งเน้นในเชิง “คุณค่า” กับมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เข้าเรียนหลักสูตรนี้ ได้ฝึกงานและไปศึกษาแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ เพื่อเปิดมุมมองกว้างไกล และสามารถนำมาปรับใช้ในการพัฒนาศักยภาพตนเองโดยเราคาดว่าจะสามารถผลิตมหาบัณฑิต ที่มีศักยภาพที่พร้อมจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเราได้มองไกลไปถึงการสร้างผู้นำที่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก



     ด้าน ผศ.ดร.วิภู ศรีสืบสาย รองคณบดี กำกับดูแลและรับผิดชอบงานด้านแผนงานและกลยุทธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า หลักสูตรวิศวกรรมการเงิน ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น โดย สจล. และ นิด้า (KMITL-NIDA Double Degree Program in Financial Engineering) ภายใต้กรอบความคิดของการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในรายวิชาพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ ด้านการเงิน และด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มีความเข้าใจในเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค ตลอดจนสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลง และความเสี่ยงทางการเงินในการทำธุรกิจ เพื่อผู้เรียนจะได้ออกไปเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน และสามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีได้อย่างเบ็ดเสร็จ ตอบสนองตลาดแรงงานที่กำลังเป็นที่ต้อง
 
     ผศ.ดร.วิภู
กล่าวเพิ่มว่า โครงสร้างหลักสูตรเป็นแบบตรีควบโท 4+1 เป็นหลักสูตรนานาชาติ ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนทั้งหมด ระยะเวลาศึกษา 5 ปี หรือ 10 ภาคการศึกษาในระบบทวิภาค แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ 1. การศึกษาระดับปริญญาตรี ระยะเวลา 4 ปี หรือ 8 ภาคการศึกษา และ 2. การศึกษาระดับปริญญาโท ระยะเวลา 1 ปี หรือ 2 ภาคการศึกษา ซึ่งผู้เข้าเรียนจะได้ศึกษารายวิชาทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน คณิตศาสตร์การเงิน การเขียนโปรแกรมและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง และรายวิชาทางวิศวกรรมการเงินที่ผสมผสานความรู้ในศาสตร์ที่กล่าวมา โดยคณาจารย์จาก สจล. และ นิด้า ซึ่งร่วมกันสอนตั้งแต่ปีแรก พร้อมยังมีการผนวกหลักสูตรควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานจริง ร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ โดยหลักสูตรดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากสภาสถาบันของทั้งสองสถาบัน โดยคาดว่าจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก ในช่วงต้นปี ผ่านระบบรับสมัครของสจล. และเปิดภาคเรียนในเดือนสิงหาคม 2562
ปัจจุบันอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสังคมทั้งในประเทศ และทั่วโลก มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สถาบันการศึกษาจึงไม่สามารถอยู่นิ่งได้ และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตร การเรียนการสอน ให้ตอบสนองกับความต้องการ ซึ่งบัณฑิตยุคใหม่ นอกจากจะต้องมีความรู้ และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ด้วยตนเองในอนาคตแล้ว ยังควรมีความเชี่ยวชาญ ที่ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อจะได้มีความพร้อมในการทำงานได้ทันที และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ซึ่งรวมถึง “หลักสูตรวิศวกรรมการเงิน” ที่เตรียมจะเปิดในปีการศึกษาหน้านี้ด้วย ในด้านการเรียนการสอน สจล. ใช้ปรัชญาการเรียนการสอนแบบเน้นการฝึกปฏิบัติ ควบคู่ไปกับการเรียนทฤษฎี ซึ่งมีการปฏิบัติทั้งในห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ และในสถานที่ทำงานจริง โดยทางหลักสูตรวิศวกรรมการเงินจะสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน เป็นต้น ตลอดจนความร่วมมือกับฟินเทคสตาร์ทอัพ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปฝึกงาน และดึงอุตสาหกรรมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างบัณฑิต ตั้งแต่การออกแบบรายวิชาในหลักสูตร การเชิญวิทยากรจากภาคอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมสอน และการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกันกับคณาจารย์และนักศึกษาของหลักสูตร ผศ.ดร.วิภูกล่าวทิ้งท้าย



ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ (นิด้า) กล่าวเสริมว่า หลักสูตรวิศวกรรมการเงิน ที่พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมระหว่างสองสถาบันนี้ เป็นหลักสูตรที่ผนวก 3 ศาสตร์การเรียนรู้ไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ได้แก่ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน (Economic and Finance Theory) วิชาทางวิศวกรรมศาสตร์ (Methods of Engineering)  และ เครื่องมือทางคณิตศาสตร์ (Tools of mathematics) รวมถึง การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Computer Programming) เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความเป็นมืออาชีพ ตรงความต้องการของตลาดในภาคธุรกิจการเงินที่มีซับซ้อนมากขึ้น สามารถคิดนวัตกรรมทางการเงินที่ใช้ความรู้การวิเคราะห์เชิงปริมาณร่วมกับวิทยาการคอมพิวเตอร์เข้ากับความรู้ในเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และการเงิน เพื่อพัฒนาแบบจำลองต่าง ๆ ที่จะสามารถพยากรณ์การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ เพื่อรองรับความต้องการระดมทุน การลงทุน และการบริหารความเสี่ยงของทุกภาคส่วนที่จะมีความซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังเรียนรู้ถึงการประยุกต์ใช้ในการจัดการระบบการซื้อขายอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ (Algorithmic Trading) และการบริหารจัดการกองทุนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ในโลกเทคโนโลยีทางการเงิน

     กระบวนการพัฒนาหลักสูตรได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะเป็นผู้ใช้บัณฑิตในตลาดแรงงานหลายภาคส่วนทั้งในภาครัฐจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ  และภาคเอกชนโดยเฉพาะในธุรกิจบริการทางการเงิน และสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตรได้ตรงความคาดหวังของผู้ใช้บัณฑิตในตลาดแรงงาน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ และพัฒนาทักษะที่จำเป็นตรงกับความคาดหวังของตลาดแรงงาน และเป็นที่ยอมรับในตลาดแรงงาน นอกจากนั้น การจัดการเรียนการสอนมีแนวทางที่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการเรียนการสอน  ดังนั้น จะทำให้ผู้เรียนมีทักษะในการสื่อสารที่เป็นสากลด้วย

     สำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.kmitl.ac.th หรือ nida.kmitl.ac.th ตลอดจนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111