สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ทปอ. เสนอแนวทางช่วยน้อง "ลดการสอบที่ซ้ำซ้อน"




ทปอ. เสนอแนวทางช่วยน้อง "ลดการสอบที่ซ้ำซ้อน" ของการใช้ผลสอบรายวิชาต่างๆ มาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบ TCAS เช่น คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET คะแนนสามัญ 9 วิชา และคะแนนการทดสอบความนถนัดทั่วไป หรือ GAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT


วันนี้ (19ก.พ.) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม ทปอ.เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการดำเนินงานระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ TCAS ปีการศึกษา 2562 ได้พิจารณาถึงความซ้ำซ้อนของการใช้ผลสอบรายวิชาต่างๆ มาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เช่น คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต คะแนนสามัญ 9 วิชา และคะแนนการทดสอบความนถนัดทั่วไปหรือแกต และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพหรือแพต เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการฯเห็นชอบให้ปรับปรุงรายวิชาต่างๆ โดยการลดเนื้อหาวิชาที่มีความซ้ำซ้อนลง เพื่อลดภาระการสอบในรายวิชาต่างๆของนักเรียน คาดว่าจะพิจารณาเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน และจะประกาศใช้ในปีการศึกษา 2564

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯได้นำเสนอ ได้แก่

1.การสอบโอเน็ตซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ต้องการวัดมาตรฐานโรงเรียน แต่ ทปอ.จะนำมาใช้ในการคัดเลือกหรือไม่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่เรียนกวดวิชา ดังนั้นผลการสอบจึงเป็นการวัดมาตรฐานของโรงเรียนกับมาตรฐานของโรงเรียนกวดวิชา หากศธ.ยังต้องการคะแนนโอเน็ตในการวัดผลสัมฤทธิ์ตามหลักสูตรแกนกลาง อาจจะต้องนำมารวมกับการสอบ 9 วิชาสามัญ

2.เนื้อหาในรายวิชาแพตที่ซ้ำซ้อนกับ 9 วิชาสามัญ ต้องมาพิจารณาว่าจะยุบรวมกันได้อย่างไร และปรับแกตเป็นการวัดความถนัดจริง ๆ GAT

3. การพิจารณาลดรอบการคัดเลือกในระบบทีแคส เพื่อรองรับการลดภาระการสอบรายวิชา

อย่างไรก็ตาม ทปอ.มีมติมอบหมายให้ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์(มธ.) เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อไปพิจารณาเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ ทปอ.ยังได้พิจารณาเกี่ยวกับปัญหาจำนวนนักเรียนที่เข้าสู่ระบบอุดมศึกษาลดลง ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ตัวเลขที่แท้จริงเป็นอย่างไร ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้น ดังนี้ ทปอ.จะสนับสนุนให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนผู้สมัครในระบบทีแคส 62 เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการเกิดความเป็นระบบ เช่น การทำ Data analysis รายหลักสูตร เพื่อวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันและโอกาสสละสิทธิ์ ประสานหน่วยงานรัฐด้านข้อมูลอัตรากำลังคน การเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างมหาวิทยาลัย เช่น ข้อมูลนักศึกษาจากประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นต้น รวมถึงมหาวิทยาลัยกำลังจะเผชิญกับของคนรุ่นใหม่ที่จะไม่เรียนแบบ full degree ส่วนมหาวิทยาลัยต้องประสานกับสภาวิชาชีพต่างๆ และ ทปอ. เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมได้ รวมทั้งทปอ.จะจัดสัมมนาการแก้ปัญหาการปรับตัวของมหาวิทยาลัยต่อการลดลงของนักเรียนในระบบอุดมศึกษาภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ทปอ. ได้มอบหมายคณะทำงานทีแคส ที่มี รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล เป็นประธานไปรวบรวมข้อมูล demand side ศ.ดร.นพ.พงษ์รัก ศรีบัณฑิตมงคล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำข้อมูลที่เป็น supply side และผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดประชุม Forum ต่อไป"ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว


ทปอ. ยังเปิดเผยผลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบ TCAS ประจำปี 2562 รอบที่ 1 รอบแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเปิดรับจำนวน 130,140 คน ผู้ผ่านการคัดเลือก 86,760 คน ยืนยันสิทธิ์ 61,025 คน สละสิทธิ์ 711 คน เหลือผู้ยืนยันสิทธิ์หลังการสละสิทธิ์ 60,314 คน





ข่าวจาก : ​dailynews
               thairath