สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ทปอ.ยันไม่เพิ่มสัดส่วนโอเน็ตสำหรับแอดมิชชั่น


ประธาน ทปอ. พร้อมปรับลดเนื้อหาข้อสอบแกต-แพต สนองนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ชี้แม้ปรับเนื้อหาแต่ความยากยังเหมือนเดิม พร้อมยันไม่เพิ่มสัดส่วนโอเน็ตสำหรับแอดมิชชั่น เพราะปัจจุบันให้น้ำหนักเยอะแล้ว

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558 ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ จะหารือกับ ทปอ. เกี่ยวกับการปรับปรุงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา ให้สอดคล้องกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ รวมถึงการนำคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาใช้ในการคัดเลือกเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสัดส่วนที่มากขึ้นว่า ต้องขอดูก่อนว่าเมื่อมีการลดเวลาเรียนลงแล้ว ความเข้มข้นของเนื้อหาทางวิชาการจะลดน้อยลงเพียงใด และลดเนื้อหาในส่วนใดบ้าง เพื่อ ทปอ. จะได้นำไปปรับลดเนื้อหาในส่วนที่เด็กไม่ได้เรียนออกจากการทดสอบวัดความถนัดทั่วไป (แกต) และการทดสอบวัดความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (แพต) แต่ทั้งนี้การปรับเนื้อหาออกไปนั้น ไม่ใช่การลดความยากของข้อสอบลง เพราะข้อสอบแกต และแพต เป็นข้อสอบคัดเลือกที่ต้องสามารถจำแนกความสามารถของเด็กได้ จึงต้องมีความยากอยู่ในระดับหนึ่ง 

“ในเร็วๆ นี้ ทปอ. จะขอเข้าพบ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อรับนโยบาย จากนั้นคงต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วยว่าจะลดเนื้อหาในส่วนใดบ้าง เพื่อ ทปอ.จะได้ตัดเนื้อหาให้สอดคล้องกับการเรียนในห้องเรียน เพราะหากข้อสอบออกนอกเหนือจากเนื้อหาที่เด็กเรียน เด็กก็จะมุ่งไปกวดวิชา ส่วนการให้นำคะแนนโอเน็ตมาใช้ในสัดส่วนที่สูงขึ้นนั้น ทปอ.คงไม่มีการปรับเพิ่ม เพราะปัจจุบัน ทปอ. ใช้คะแนนที่มาจากการเรียนในห้องเรียนเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสัดส่วนที่สูงถึง 50% แล้ว แบ่งเป็น โอเน็ต 30%  และคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรม.ปลาย หรือจีพีเอเอ็กซ์ 20% ดังนั้นจึงคิดว่าคงไม่เพิ่มอีก” ศ.ดร.ประสาท กล่าว
   
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคอขวดทางการศึกษาในการรับคนเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา  ซึ่งไม่ว่าเราจะปรับหลักสูตร หรือลดเวลาเรียน หากระดับอุดมศึกษาไม่รับลูกด้วย สิ่งที่ทำก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น ทปอ.ต้องหารือกับมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง โดยนำข้อสอบอัตนัยมาใช้ในการสอบคัดเลือก ส่วนการจัดกิจกรรมหลังเลิกเรียนเวลา 14.00 น.ของแต่ละโรงเรียนนั้น ตนขอเสนอให้มหาวิทยาลัยลงไปช่วยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ โดยให้นักเรียน และนักศึกษาร่วมกันแก้ไขปัญหาชุมชน ตนเชื่อมั่นว่ารุ่นพี่มหาวิทยาลัยจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่รุ่นน้องนักเรียนได้เป็นอย่างดี จึงอยากให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้ผลักดันให้เกิดกิจกรรมนอกห้องเรียนระดับมัธยมศึกษา และต่อยอดถึงระดับอุดมศึกษาอย่างจริงจัง.


ข่าวจาก : เดลินิวส์