สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ดาว์พงษ์ส่อเดินหน้า 1 อำเภอ 1 ทุนต่อ

              UploadImage


                 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ว่า จากการที่มอบหมายให้ทางคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษา วิจัย ประเมินผลการดำเนินงานโครงการ พบว่าโครงการนี้มีประโยชน์ในเรื่องการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะได้ช่วยเหลือเด็กที่มีโอกาสทางการศึกษาน้อยให้ได้รับการศึกษาที่ดีและสูงขึ้น เพื่อกลับมาพัฒนาประเทศ แต่ที่ผ่านมาเกณฑ์และกติกาต่างๆ ของโครงการค่อนข้างหลวม ทำให้ผลสัมฤทธิ์ของโครงการยังไม่ชัดเจน ทั้งที่โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ดำเนินการแล้ว 4 รุ่น และใช้งบประมาณไปกว่า 29,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 3,093 คน สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 2 รุ่น แบ่งเป็น รุ่นที่ 1 จำนวน 921 คน รุ่นที่ 2 จำนวน 915 คน โดยผู้ที่จบการศึกษากลับมาทำงานภาคเอกชน 73.7% รับราชการ 11.93% เรียนต่อ 10.73% ธุรกิจส่วนตัว 1.4% ทำงานรัฐวิสาหกิจ 1.2% ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบ่งเป็นรุ่น 3 จำนวน 689 คน รุ่น 4 จำนวน 568 คน รวม 1,257 คน
 
                 พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า ตนได้ให้คณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน กลับไปทบทวนวัตถุประสงค์ และแก้ไขช่องโหว่ในกติกาคัดเลือกเด็ก เพราะที่ผ่านมา โครงการนี้อยากให้โอกาสเด็กด้อยโอกาสแต่ละอำเภอ แต่นโยบายของ รมว.ศธ.ที่ผ่านมาก็มาเปลี่ยนแนวคิดให้โอกาสคนที่มีรายได้สูงเข้าร่วมโครงการได้ด้วย ทำให้วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการเริ่มแกว่ง เพี้ยนไปจากเดิม และยังเป็นการตัดโอกาสเด็กท้องถิ่น ดังนั้นจึงให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาทบทวนวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าจะเน้นในเรื่องใด อาทิ ต้องการกระจายทุนให้เด็กด้อยโอกาสในทุกอำเภอ ครอบครัวยากจน รายได้ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี หรือให้จบออกมาแล้วมาช่วยพัฒนาประเทศ เมื่อทราบวัตถุประสงค์ชัดเจนแล้วจะพิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าควรจะเดินหน้าโครงการต่อหรือไม่ ส่วนโครงการทุนช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นั้น ตนก็จะผลักดันต่อไป แต่ขอให้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ซึ่งกำกับดูแล สอศ. กลับไปดูภาพรวมการดำเนินการอาชีวะทั้งระบบ รวมถึงรายละเอียดโครงการทุนช่างเทคนิคฯ ด้วย เพื่อมาเสนอตนก่อนจึงจะสามารถบอกได้ว่าเดินหน้าต่อหรือไม่
 
                ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน กล่าวว่า โครงการนี้มีส่วนสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ แต่ต้องปรับวัตถุประสงค์ให้มีความชัดเจน เพราะการส่งเด็กไปศึกษาต่อนอกจากจะได้ความรู้แล้ว เด็กยังได้รับวัฒนธรรม กระบวนการคิดของประเทศต่างๆ มาด้วย โดยคณะวิจัยได้เสนอให้แบ่งทุนเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มทุนที่ศึกษาต่อในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ กลุ่มทุนที่ศึกษาต่อในประเทศอาเซียน และกลุ่มทุนสำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา และให้ยกเลิกทุนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เพราะซ้ำซ้อนกับทุนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งดำเนินการอยู่แล้ว