สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ทปอ.ไม่ปรับระบบคัดเด็กเข้ามหา’ลัย

         

           ประธาน ทปอ. แจงระบบคัดเลือกเด็กเข้ามหา’ลัยในปัจจุบันวางไว้ดีอยู่แล้ว ชี้ปัญหาเกิดจากตัวเด็กที่ไม่รู้จักพอ สอบหลายอย่างกันพลาด เตรียมทำแผนภาพชี้แจงเด็ก ย้ำไม่ได้บังคับว่าต้องสอบทุกวิชา
          วันนี้ (29 ก.พ.) ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุม ทปอ. เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือถึงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาโดนวิพากษ์วิจารณ์มากว่า เป็นระบบที่ทำให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบ และเสียค่าใช้จ่ายในการสอบจำนวนมาก โดยที่ประชุมขอชี้แจงว่า ทปอ. ปรับปรุงระบบมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้กำหนดสอบรายวิชาหลักๆ ได้แก่ แบบทดสอบวัดความถนัดทั่วไป (แกต) แบบทดสอบวัดความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ(แพต) และวิชาสามัญ 9 วิชา เพื่อให้มหาวิทยาลัยใช้คะแนนเหล่านี้คัดเลือกเด็กเข้าเรียน ทาง ทปอ.จึงคิดว่าเป็นการวางระบบไว้ดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากเด็กมีความต้องการไม่สิ้นสุด ขาดความมั่นใจ และไม่พอใจในตนเอง จึงสอบคลุมไว้ทั้งหมด เพราะกลัวว่าจะพลาดอันใดอันหนึ่งไป  “หากเด็กมีความเข้าใจ และครูที่โรงเรียนมีการแนะแนวว่าเด็กคนนี้ควรเรียนต่ออะไร รวมทั้งพ่อแม่ช่วยดูแลให้มีความพอเหมาะ ไม่ตามใจเด็ก หรือบังคับให้เด็กสอบ ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิด” ศ.นพ.อุดม กล่าวและว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหามากคือ เด็กสอบได้แล้วสละสิทธิ์ ซึ่งเรื่องนี้ ทปอ.สร้างระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ขึ้นมาแก้ปัญหาแล้ว แต่ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่งที่ใช้ระบบนี้ จึงอยากให้มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ทั้งเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ร่วมใช้ระบบนี้ด้วย เพื่อแก้ปัญหาการซ้ำซ้อน และกันที่นั่งเด็กคนอื่น  ด้าน ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะเลขาธิการ ทปอ. กล่าวว่า ทปอ. จะจัดทำแผนภาพว่าแต่ละสาขาวิชา ใช้องค์ประกอบใดบ้างในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพื่อชี้แจงให้เด็กทราบว่า แต่ละสาขาวิชาที่เลือกเรียนต่อ ไม่ได้ใช้ทุกวิชาที่เด็กสอบ ใช้บางวิชาเท่านั้น ส่วนการที่จัดสอบหลายครั้ง ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กมากขึ้น แต่จะเลือกสอบมากหรือน้อยนั้นอยู่ที่ตัวเด็ก เราไม่ได้บังคับว่าต้องสอบทุกวิชา หรือทุกครั้ง ทาง ทปอ.จึงอยากให้เด็กบริหารการได้รับโอกาสนั้นอย่างเหมาะสม เพราะเด็กเป็นฝ่ายเลือกว่าจะต้องการขนาดไหน ถ้าเลือกมากก็เป็นภาระมาก.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์