สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ทปอ.เล็งใช้ข้อสอบชุดเดียวคัดเด็กเข้ามหา'ลัย

UploadImage

สทศ.สอบแกต-แพต ครั้งที่ 2/2559 วันแรกราบรื่น “ธีระเกียรติ”เผยเด็กร้องเรียนข้อสอบ สทศ.ผิดอีก ขณะที่ ประธาน ทปอ.รับนโยบาย “ดาว์พงษ์”เล็งใช้ข้อสอบชุดเดียวคัดเด็กเข้ามหา'ลัย แต่ต้องใช้เวลา แนะเปิดข้อสอบเฉพาะกรณีและบางวิชา


วันนี้ (5มี.ค.) ที่สนามสอบโรงเรียนสารวิทยา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ตรวจเยี่ยมการจัดทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ แกต และ ความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ แพต ครั้งที่2/2559 โดยมีนายราชวัตร สว่างรักษ์ ผอ.โรงเรียนสารวิทยา ต้อนรับ ทั้งนี้ การสอบแกตและแพตจัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ใน 19 ศูนย์สอบระหว่างวันที่ 5-8มี.ค.2559 โดยในวันแรกสอบ 2 วิชา ได้แก่ สอบแกตและแพต1ความถนัดทางคณิตศาสตร์ สำหรับผู้มีสิทธิ์สอบ จำนวน 158,864คน แบ่งเป็น แกต 154,031 คน แพต 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ 116,118 คน แพต 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ 95,442 คน แพต3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ 30,230 คน แพต4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรม 7,492 คน แพต5 ความถนัดทางวิชาชีพครู 62,965 คน แพต 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ 7,357 คน แพต 7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส 7,097 คน แพต 7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน 3,128 คน แพต 7.3 ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น 4,846 คน แพต 7.4 ความถนัดทางภาษาจีน 8,286 คน แพต 7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ 443 คน และแพต7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี 5,168 คนโดยจะประกาศผลสอบในวันที่12เม.ย.นี้

 
 
UploadImage
 

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ภาพรวมการจัดสอบแกตและแพตเรียบร้อยดีขณะที่กระบวนการจัดสอบของ สทศ. ถือว่าดีแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องข้อสอบ ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแจ้งมาที่ตนว่าจะเข้ามาร้องเรียนเกี่ยวกับข้อสอบของ สทศ.ที่อาจจะเฉลยคำตอบผิดส่วนจะเป็นข้อสอบอะไรและวิชาไหนนั้นตนยังไม่ทราบ อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้กระบวนการจัดสอบไม่มีปัญหา และต้องการให้เปิดเผยข้อสอบพร้อมเฉลยรวมถึงรายละเอียดในการออกข้อสอบล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้ สทศ.กำลังดูอยู่ว่าจะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง


ด้าน รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า การร้องเรียนเรื่องข้อสอบผิดพลาดเป็นเรื่องปกติและมีเป็นประจำอยู่แล้วแต่จำนวนร้องเรียนลดลงเรื่อย ๆ และสทศ.ก็พยายามป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข้อสอบผิดพลาดส่วนการเปิดข้อสอบพร้อมเฉลยคำตอบข้อสอบต่าง ๆ ของสทศ.นั้น ตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในการประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ.ในเดือนมีนาคมนี้และได้ผลอย่างไรจะต้องนำไปหารือกับผู้ออกข้อสอบต่อไป

ขณะที่ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า โดยหลักการแล้วเห็นด้วยที่จะให้เปิดข้อสอบพร้อมเฉลยคำตอบ แต่จะเปิดได้มากน้อยแค่ไหนต้องไปดูข้อดีข้อเสียก่อน แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรเปิดข้อสอบหรือเฉลยคำตอบทั้งหมด อาจจะเปิดเฉพาะบางกรณีที่ร้องเรียน หรือบางวิชาที่จำเป็น เช่น วิชาสังคมศึกษา เพื่อเปิดประสบการณ์ในการเรียนการสอนให้แก่เด็กซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบโจทย์ให้ ทปอ.ไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กสอบน้อยที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมานักเรียนและผู้ปกครอง ร้องเรียนว่าในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยนั้น จะต้องสอบเป็นจำนวนมากเกินไป จนทำให้เป็นภาระและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ดังนั้น จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดการสอบให้น้อยลงเหลือเพียงครั้งเดียว และนำคะแนนมาใช้เข้ามหาวิทยาลัยเลย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก และต้องใช้ระยะเวลาหลายปี

ศ.คลินิกนพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวคิดเบื้องต้นในการลดการสอบนั้น ส่วนตัวตนคิดว่าน่าจะทำได้ โดยการใช้ข้อสอบเพียงชุดเดียว ในการคัดเลือกเด็ก โดยแบ่งเป็น วัดความรู้พื้นฐานของนักเรียน ม.ปลายว่ามีมากน้อยแค่ไหน 70% ส่วนที่เหลือวัดความถนัดของเด็กแต่ละสาขาวิชาตามที่แต่ละคณะของมหาวิทยาลัยต้องการ 30% ซึ่งการวัดดังกล่าวจะต้องสามารถจำแนกเด็กได้จริง ๆ ที่สำคัญมหาวิทยาลัยจะต้องได้เด็กตามที่ต้องการ และเด็กจะต้องสามารถเรียนในมหาวิทยาลัยจนจบได้ด้วย

 
UploadImage

UploadImage

ข้อมูลข่าว : เดลินิวส์