สอบเข้ามหาวิทยาลัย

7 มุมมองจากผู้ประสบความสำเร็จสตาร์ทอัพในไทย

UploadImage
 
            งานสัมมนา “วิถีสตาร์ทอัพ ฝัน กล้า บ้า ลุย” ซึ่งเป็นงานสัมมนาเปิดตัวหนังสือ วิถีสตาร์ทอัพ ที่เป็นการรวบรวมบทเรียนและความสำเร็จของสตาร์ทอัพไทยที่หลากหลายกว่า 18 บริษัท เขียนโดยคุณเล็ก อศินา พรวศิน (@lekasina) บรรณาธิการข่าวดิจิทัล หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น โดยในงาน ได้เชิญวิทยากรคือ คุณเล็ก อศินา ผู้เขียนหนังสือวิถีสตาร์ทอัพ และผู้ก่อตั้ง/ผู้บริหารของสตาร์ทอัพที่มีเรื่องราวในเล่มจำนวน 10 ท่าน มีทั้งที่เป็นสตาร์ทอัพดาวค้างฟ้าและดาวรุ่ง ได้แก่ คุณหมู Ookbee, คุณโบ้ท Builk, คุณไว Priceza, คุณยอด Wongnai, คุณปอ Shopspot, คุณอ้อ Jitta, คุณป้อม Favstay, คุณแจ็ค Claimdi,คุณแม็กซ์ Stock Radar, คุณเอม Hubba มีข้อสรุปที่น่าสนใจ แบ่งเป็น 7 มุมมองมาเล่าสู่กัน
 
UploadImage

            Start up คือการเริ่มต้นธุรกิจเพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด มีวิธีสร้างรายได้ที่สามารถหาเงินแบบทำซ้ำและขยายได้ง่ายนั่นเอง ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือเห็นโอกาสที่ยังไม่มีใครเคยเห็น เช่น แอพพลิเคชั่นเคลมประกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วยตัวเอง แอพพลิเคชั่นรวมที่จอดรถ เป็นต้น แล้วstartupต่างจากSMEอย่างไร ตัวอย่างเช่น ถ้าเปิดร้านขายน้ำเต้าหู้ลองนึกภาพดู หากจะขยายทีเราต้องหาที่ใหม่ จ้างคนเพิ่ม หาวัตถุดิบ และเพิ่มกำลังการผลิต ถือว่าไม่สามารถขยายและทำซ้ำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จึงถือว่า ‘ร้านขายน้ำเต้าหู้’ ไม่ใช่ Startup แต่เป็น SME คือเป็นเจ้าของธุรกิจเอง ลงทุนเอง และเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป
 

7 มุมมองจากงานสัมมนา วิถีสตาร์ทอัพ ฝัน กล้า บ้า ลุย”

1.การทำสตาร์ทอัพให้อยู่รอด

- ทำใจและยอมรับความเป็นจริงบางอย่างอาจทำได้แต่บางอย่างอาจทำไม่ได้แต่ก็ต้องแก้ไขปรับปรุ่งและพัฒนาไปเรื่อยๆ (คุณโบ้ท Builk ให้สัมภาษณ์)

- การปรับตัวต้องปรับตัวให้ไวและต้องเจาะจงว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้  และต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสภาพของตลาด(คุณปอ Shopspot ให้สัมภาษณ์)

- ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการทำสตาร์ทอัพ คือ เวลา บางเรื่องถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็ทำและอาจต้องทำตอนนี้เพื่อรอการมาของธุรกิจนั้นในอีก 3 ปีข้างหน้า นอกจาก นั้นส่วนที่ทำให้สตาร์ทอัพอยู่รอดนั้นก็คือ การดู ข้อมูลเพื่อวัดผลและนำมาวิเคราะห์ว่าเราจะก้าวต่อไปอย่างไรถ้าเราต้องแข่งกับตัวเราเองในเมื่อวาน เช่น หาวิธีทำให้ ลูกค้าใช้จ่ายกับ Ookbee เฉลี่ยต่อเดือนสูงขึ้น จากวันละ 7 บาท เป็น 15 บาท เป็นต้น (คุณหมู Ookbee ให้สัมภาษณ์)

- ต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเอง คนอื่นพร้อมที่จะไม่เชื่อมั่นเราอยู่แล้ว และจะมีคนมากมายที่ไม่เข้าใจว่าเราต้องการจะทำอะไร ซึ่งมักจะได้รับการปฏิเสธไว้ก่อนสำหรับสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงต้องใช้ความพยายามสูงมาก(คุณป้อม Favstay ให้สัมภาษณ์)

 - อีกเรื่องที่สำคัญ และน่าสนใจคือ การรับฟังคนที่ใช้งานสินค้าของเราจริงๆ (ในมุมมองการพัฒนาผลิตภัณฑ์) ไม่ใช่สิ่งที่คนทำผลิตภัณฑ์คิดเองว่าจะถูก 100 %ไม่ใช่ฟังแต่ตัวเอง จากบทเรียนที่คุณอ้อ Jitta บอกเล่าว่า ที่ต้องทิ้งผลิตภัณฑ์ที่ทุ่มเทพัฒนามาตลอด 1 ปี เพราะลูกค้าไม่มีใครต้องการใช้ เนื่องจาก feature เวอร์ชั่นแรกทำเยอะเกินไป สุดท้ายลูกค้าต้องการเพียง core feature 2 ข้อ คือ จะซื้อหุ้นอะไร และราคาเท่าไหร่ เท่านั้น  สรุป ใช้เวลาทำใหม่แค่ 3 สัปดาห์ ปรากฏว่าทำแล้วคนใช้ ดังนั้น จึงเป็นบทเรียนให้ฟังฟีดแบ็คเพื่อปรับปรุงเรื่อยๆ สร้างในลักษณะ prototype ขึ้นมาก่อน ไม่ต้องรอให้เจ๋งมากๆ พัฒนาเป็นปีแล้วค่อยเปิดให้คนใช้

2. การหาไอเดียในการทำสตาร์ทอัพ

                ไอเดียนั้นหาได้จากตัวเรา หรือปัญหาที่เราพบรอบๆตัวเราเช่น การหาซื้อของไลฟ์สไตล์เก๋ ๆ (Shopspot) หรือหาของกิน (Wongnai) คุณไว Priceza  เสริมว่า ที่สำคัญขึ้นไปอีกคือ ต้องเป็นไอเดียที่มีตลาดที่ใหญ่พอ นอกจากนั้น คุณหมู Ookbee กล่าวว่า การมีไอเดีย ไม่ได้สำคัญเท่ากับการลงมือทำ การก้าวออกจาก comfort zone ยอมเหนื่อยเพื่อทำให้มันเกิดขึ้น การ implement แข่งกัน คนที่ทำจริง และทำหนักกว่า ตั้งใจกว่า ก็สำเร็จมากกว่า

3. จากคำแนะนำของ 10 วิทยากรที่บรรยายในงานวันนั้นสรุปได้ว่า

- ขั้นแรก ต้องมีไอเดียแล้วเช็คว่า เราเชื่อในไอเดียไหม ตอบโจทย์ผู้ใช้ไหม ตลาดใหญ่พอไหม

- ขั้นตอนต่อมา ต้องหาทีม / co –founder อาจใช้วิธีพรีเซนต์ให้เพื่อน ให้คนที่เราต้องการเชิญร่วมทีมฟัง แล้วมีคอมเมนต์อะไรก็นำมาพิจารณาปรับได้ ไอเดียวันแรกอาจไม่ใช่วันที่ใช้จริงเลย โดยคนในบริษัทควรมี 3 ประเภทคือ คนด้านธุรกิจ, ด้านดีไซน์ และด้านเทคโนโลยี

- ทำตัวต้นแบบออกมาแล้วสอบถามลูกค้า ว่าจะใช้ไหม ยินดีที่จะบอกต่อไหม ยินดีจ่ายเงินไหม ดีในระดับแค่ควรมีใช้ หรือต้องใช้ให้ได้

- ตระหนักรู้หน้าที่ของ CEO คือ ต้องให้วิสัยทัศน์ (Vision) และคิดต่อว่าจะ Scale บริษัทอย่างไร หาคนมาช่วย หาเงินมาให้คนในบริษัท ที่จะสามารถช่วยให้ภาพวิสัยทัศน์นั้นเป็นจริงได้

* คุณหมู Ookbee ให้เทคนิคในการสเกลตัวเอง ว่า ให้คิดว่า โลกนี้มีคนที่ทำได้ดีกว่าคุณ ในราคาที่ถูกกว่าคุณทำเอง โปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมเก่งกว่าคุณ และใช้เวลาได้ถูกกว่าคุณ

4. คำถามที่ใช้ตลอดเส้นทางการทำสตาร์ทอัพ

เพราะคำถามที่ถูกต้อง นำมาซึ่งคำตอบที่ถูกต้อง ดังนั้น วิทยากรแต่ละท่านจะมีการใช้คำถามต่อกลุ่มคนต่างๆ ในลักษณะนี้

ถามลูกค้า : ยินดีจ่ายเงินไหม/ ตอบโจทย์จริงๆ ไหม ระดับไหน / แค่ดีหรือต้องใช้อย่างยิ่ง
ถามทีมงาน : มองชีวิตตัวเองในอีก 5 ปีข้างหน้าว่าเป็นยังไง ยังสอดคล้องกับชีวิตสตาร์ทอัพใช่ไหม
ถามตัวเอง : ช่วงแรกอาจถามว่า ทำยังไงถึงจะเติบโต, ทำยังไงให้มีคนใช้, หาเงินยังไง, ดีที่สุดหรือยัง

ต่อมาอาจถามว่า ร่วมงานกับคนประเภทไหนดี, ควรลองอะไรใหม่ไหม, ทำยังไงพนักงานจึงจะมีความสุขมากขึ้น, ทำยังไงจะดึงดูดคนเก่งเข้ามาในบริษัทได้มากขึ้น

5. วิถีของ CEO/ founder

คุณหมู Ookbee แนะนำว่า มี 2 เรื่องที่สำคัญ คือ การสื่อสารวิสัยทัศน์ และการระดมทุน

5.1 สำหรับการสื่อสารวิสัยทัศน์ให้ทีมงานได้รับรู้นั้น ต้องทำเป็นระยะๆ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ พอบอกวิสัยทัศน์ที ก็จะกระตือรือร้นที แล้วก็จะเฟดลงไป เป็นธรรมดา ดังนั้นจึงต้องเจอกันเรื่อยๆนอกจากนี้ ควรเชื่อมโยงสิ่งที่เราอยากจะทำ กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรา เช่น ecosystem ไม่ใช่แค่เพียงยอดขาย สื่อสารกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ลงทุนด้วย เช่น สิ่งที่เราทำมีอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ตัวเลข

5.2 สำหรับการระดมทุน อยากให้เราเป็นคนเลือกนักลงทุน ไม่ใช่ให้เขามาเลือกเรา และแบ่งเวลามาโฟกัสว่า ควรต้องทำอะไรเพิ่มขึ้น เพื่อให้บริษัทเราน่าสนใจ และน่าลงทุนมากขึ้น

6. SME vs วิถีสตาร์ทอัพ

มีผู้คนสับสนกันมากมาย ว่า SME และสตาร์ทอัพ ต่างกันอย่างไร ซึ่งก็มีความเห็นที่แตกต่างกันไป
- คุณโบ้ท Builkให้ความ เห็นว่า  ความแตกต่าง ของ SME และสตาร์ทอัพ  คือ แหล่งที่มาของเงินทุน เช่นแหล่งเงินทุนของสตาร์ทอัพ จะเป็นนักลงทุน ส่วน SME หรือธุรกิจ Corporate จะเป็นช่องทางอื่นๆ เช่น เงินกู้, เงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และอาจมองได้ว่า Start up เป็นขั้นหนึ่ง ของการเป็น SME

- คุณแจ็ค claimdi ให้ความเห็นที่น่าสนใจ ในฐานะที่เคยเป็น SME แล้วกลายร่างเป็น Start up ภายหลัง ว่า มันคือวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเป้าหมายของ SME จะเติบโตปีละ 15-20% แต่ถ้าเป็น Start up จะโตไวกว่านั้นมาก และวิถีการทำงานให้เติบโต ต่างกัน คุณแจ็คเป็น SME ทำมา 14 ปีก็ยังเป็น S แถมเป็น Super S อีกต่างหาก แต่พอทำ Start up กลายเป็น M ภายใน 2 ปี แต่ก็มีพนักงานลาออกไปพอสมควร ทำให้รู้สึกเจ็บปวด (หาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ วิถีสตาร์ทอัพ)

7. Fintech VS. ธนาคาร

คุณอ้อ Jitta นำเสนอ 2 แง่มุมที่เกี่ยวข้องกันระหว่าง Fintech และ ธนาคารคือ

- Fintech สามารถทำสิ่งที่สนับสนุนสิ่งที่ธนาคารมีอยู่แล้ว โดยทำให้ดีขึ้น ประหยัดเวลาขึ้น ใช้เงินน้อยลง เป็นต้น หรือ
- Fintech สามารถทำในส่วนที่เข้ามาทดแทนธนาคาร เช่น ในกรณีธุรกิจที่ธนาคารไม่อยากมี resource ในส่วนนั้น เช่น ประกันอุบัติเหตุอย่าง claimdi

* FinTech เป็นคำเรียกสั้นๆ มาจาก Financial Technology คำนี้เริ่มบูมขึ้นมาเรื่อยๆ คนเริ่มพูดถึงกันมากขึ้น หลักๆ ความหมายของมันก็คือการที่เอา Technology มาใช้พัฒนาบริการทางด้าน Financial นั้นเอง เช่น TrueMoney, AIS mPay, PaySbuy, Omise

ทั้งนี้ ส่วนที่จะเป็นความท้าทายสำหรับ Fintech คือความน่าเชื่อถือ ซึ่งธนาคารจะมีความน่าเชื่อถือสูงอยู่แล้ว และนโยบายข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลายอย่างที่ Fintech ทำนั้น ยังไม่มีนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องใหม่มาก ก็อาจถูกยับยั้ง หรือต้องรอให้มีกฏหมายที่เกี่ยวข้องออกมาก่อน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาก่อน

ตัวอย่างบุคคลที่ประสบความสำเร็จจากสตาร์ทอัพ

UploadImage

               
               คุณหมู Ookbee - เดิมที ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ มีความตั้งใจจะเดินทางในสายงานอาชีพด้านวิศวกรรมอากาศยาน แต่ระหว่างที่เขากำลังศึกษาต่อระดับปริญญามหาบัณฑิต เขาก็ได้มองเห็นโอกาสครั้งใหญ่ในด้านระบบความปลอดภัยทางธุรกิจ ซึ่งก็สอดคล้องกับความรู้เชิงเทคนิคที่เขาจบการศึกษามาก่อนหน้านี้ ดังนั้นในปี 2542 วิศวกรหนุ่มจึงได้ผันเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นนักธุรกิจอย่างเต็มตัวและก่อตั้งบริษัท IT WORKS ขึ้นมา เพื่อนำเสนอซอฟต์แวร์ด้านระบบตรวจสอบลายนิ้วมือและระบบตรวจสอบใบหน้าให้แก่บริษัทต่างๆ ที่สนใจในระบบความปลอดภัยชั้นสูง และในระยะเวลาเพียง 10 ปี บริษัทแห่งนี้ก็มีลูกค้ามากกว่า 5,000 ราย พร้อมพนักงาน 42 คน และทีมขายอีก 7 คน ที่คอยรับสายสอบถามข้อมูลจากลูกค้า และออกไปสาธิตวิธีการใช้งานผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อขายซอฟต์แวร์ให้แก่บริษัททั่วไป

               เมื่อพูดถึงสตาร์ทอัพชั้นแนวหน้าของไทย ชื่อของแพลตฟอร์มอีบุ๊ก Ookbee ย่อมโผล่มาเป็นอันดับแรกๆ ที่ผ่านมา Ookbee ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ส่วนแบ่งตลาด การระดมทุน และการขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน (ปัจจุบันมีสำนักงานในเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และกำลังอยู่ระหว่างตั้งสำนักงานในอินโดนีเซีย)

                Ookbee ธุรกิจ Startups คือ อีบุ๊คแพลตฟอร์มที่ผู้ที่ชื่นชอบในการอ่านคงจะคุ้นตากันดี เพราะว่า Ookbee ก็เป็นเหมือนคนกลางระหว่างผู้ซื้อสิ่งพิมพ์ดิจิตอลกับสำนักพิมพ์ ในราคาที่สมเหตุสมผล ก่อตั้งและบริหารงานโดย คุณหมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้มากด้วยความสามารถและทำธุรกิจอย่างเป็นกลาง Ookbee ใส่ใจทั้งลูกค้าและสำนักพิมพ์ และพยายามทำให้ตลาดของอีบุ๊คในเมืองไทยเจริญก้าวหน้าเทียบเท่ากับต่างประเทศ มีหนังสือหลากหลายให้นักอ่านได้เลือก ทำให้นักอ่านที่เพิ่งเคยเข้ามาใช้บริการรู้สึกประทับใจ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกชำระค่าบริการเป็นรายวันหรือรายเดือนได้ เพื่อให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมการใช้งานอย่างสูงสุด

* สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ Ookbee ประสบความสำเร็จคือ การเอาใจใส่และเข้าใจทั้งผู้ใช้บริการและคู่ค้า เพราะทั้งสองส่วนนี้คือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้


วีดีโองานสัมมนา “วิถีสตาร์ทอัพ ฝัน กล้า บ้า ลุย” ฉบับเต็ม
ตอนที่ 1 
ตอนที่ 2

 


ที่มา
[1] http://techsauce.co/startup101/7-lessons-seminar-way-of-startups/
[2] https://kritsadas.blogspot.com/2016/03/fintech.html
[3] https://moneyhub.in.th/article/ookbee-startups/
[4] https://pixabay.com/th
[5] http://tech.mthai.com/tips-technic/51936.html