สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ไม่พอ! ประเทศไทยยังผลิตบุคลากรป้อนสายงานธุรกิจการบินไม่ถึงเป้า


ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนด้านการบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนนักศึกษาที่สนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี จากจำนวน 5,000 คน ในปี 2556 ในปีที่ 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 15,000 คน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในอุตสาหกรรมการบิน ที่มีความสำคัญและขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน แต่ถึงอย่างนั้น ในแต่ละปีประเทศไทยยังผลิตนักบินได้น้อยกว่าความต้องการ


จากการประเมินคุณภาพภายนอกสถาบันการศึกษาด้านการบินทั่วประเทศ โดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ “สมศ.” พบว่า ทั่วประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านการบิน 26 แห่ง ทุกแห่งต่างได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกในระดับดี – ดีมาก โดยเฉพาะสถาบันการบินพลเรือนที่เปิดสอนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจรใน 2 กลุ่มหลักสูตร ได้แก่

1.หลักสูตรภาคอากาศ อาทิ หลักสูตรนักบินพาณิชย์ หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล และ 2.หลักสูตรภาคพื้นดิน อาทิ หลักสูตรเทคโนโลยีการบินบัณฑิต หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งมาได้ผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบินมาแล้วรวมกว่า 20,000 คน

UploadImage
และจากข้อมูลล่าสุด ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนักบินอยู่ จำนวน 2,500-3,000 คน ในแต่ละปีธุรกิจการบินต้องการนักบินใหม่เพื่อเพิ่มและทดแทนปีละ 400-500 คน แต่สถาบันการศึกษาต่างๆ สามารถผลิตนักบินได้เพียง 200-300 คนต่อปี รวมถึงกลุ่มวิศวกรด้านการบินและช่างอากาศยาน มีทั้งสิ้น 8,000-9,000 คน ในแต่ละปีสามารถผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการบินได้เพียง 300-400 คนต่อปี จากความต้องการมากกว่า 400 คนต่อปี ซึ่งถือว่ายังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ


ขอบคุณเนื้อหาจาก : PPTV HD