Master Degree

TISTR จัดสัมมนานำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์นักศึกษาโครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับ ป.โท-เอก ประจำปี 2560

          สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หรือ TISTR ภายใต้ความดูแลของ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ทำการจัดสัมมนานำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์นักศึกษาภายใต้โครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ประจำปี 2560 ขึ้นเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิทยานิพนธ์ แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการ พัฒนางานวิจัยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น สร้างนักวิจัยคุณภาพรุ่นใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 คาดช่วยรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพ
 


          นางฉันทรา พูนศิริ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ชี้แจงว่า โครงการสร้างภาคีบัณฑิตในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กับสถาบันการศึกษาชั้นนำโดยได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน ดำเนินงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นสมาชิกของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ประกอบด้วย 30 มหาวิทยาลัย และร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศ อีก 5 มหาวิทยาลัย (มทร.รัตนโกสินทร์, ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, มทร.ธัญบุรี, มทร.ศรีวิชัย, มรภ.วไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ด้วยการรับนักศึกษาเข้ามาทำวิทยานิพนธ์ร่วมกับนักวิชาการของ วว. ที่มีประสบการณ์ในการวิจัย ความรู้ความเชี่ยวชาญ ในการให้คำปรึกษาแนะนำและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมจากหน่วยงานต่างๆ ของ วว. ได้แก่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติวัสดุ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย และศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง เป็นต้น ซึ่งสามารถให้คำปรึกษาแนะนำแก่นักศึกษาได้เป็นอย่างดี

 

          รองผู้ว่าการ วว. ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมาโครงการฯ ประสบความสำเร็จด้วยดีตลอดมา ดังจะเห็นได้จากจำนวนนักศึกษาที่ร่วมโครงการฯ จำนวน 381 คน ประกอบด้วยนักศึกษาระดับปริญญาโท 327 คน และระดับปริญญาเอก 54 คน โดยมีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท จำนวน 227 คน ปริญญาเอก 26 คน รวม 253 คน นับเป็นความสำเร็จร่วมกันระหว่าง วว. กับหน่วยงานพันธมิตรทางการศึกษาที่ร่วมกันสร้างและผลผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ ให้นำความรู้ความสามารถมาใช้พัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ไทย และสร้างผลผลิตและผลลัพธ์อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ เตรียมความพร้อมในการเข้าไปทำงานและช่วยภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี นับเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยเติมเต็มความต้องการของภาคธุรกิจในการวิจัยและพัฒนา และดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เข้าสู่วิสัยทัศน์เชิงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้
 

          สำหรับกิจกรรมการนำเสนอผลงานของนักศึกษาโครงการฯ ประจำปี 2560 นี้ ประกอบด้วยการเสวนา Internet of Thing : บทบาทต่อการวิจัยและพัฒนาในยุค Thailand 4.0 โดยมีวิทยากรรับเชิญ ได้แก่ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ผอ.สำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดร.กิตติ สุขุตมตันติ รองประธานสภาอุตสาหกรรม ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผอ.ด้านธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ กลุ่มยุทธศาสตร์เศรษฐกิจฐานราก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (สวทน.) พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งการนำเสนอผลงานของนักศึกษาในโครงการฯ จำนวน 21 เรื่อง โดยนักศึกษาจะได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน และรายงานความก้าวหน้าของวิทยานิพนธ์ แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการกับคณาจารย์ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพัฒนางานวิจัยให้มีคุณภาพมากขึ้น ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ และในส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาและนักวิชาการ วว. ก็จะได้มีโอกาสรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อนำกลับไปปรับปรุงพัฒนางานวิจัยต่อไป

 

 

ข้อมูลจาก : RYT9 News

รีวิวหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

MSc Investment Analysis and Management วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการวิเคราะห์การลงทุน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

เพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันและยังขาดบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทาง ...

MBA บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรม (MIM) สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ได้ก่อตั้งขึ้นในปี ...

MBA บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวางแผนและการจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการ (SME) สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ได้ก่อตั้งขึ้นในปี ...