สอบเข้ามหาวิทยาลัย

รวมทุกการสอบ ในชีวิตน้องมัธยม

O-NET, GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญ น่าจะเป็นการสอบที่น้องๆ คุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีการสอบอีกหลายๆ อย่างที่จำเป็น เมื่อน้องๆ ต้องการสมัครเข้าบางคณะสาขา วันนี้เราจึงรวมรวมการสอบที่จำเป็นต่างๆ มาให้น้องๆ ได้ศึกษากันก่อนที่จะเลือกลงสนามจริง เน้นเลยนะครับว่าต้อง “เลือก” เพราะหากน้องๆ ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเข้าคณะสาขาที่ต้องใช้คะแนนสอบจากสนามสอบนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องไปสอบให้เสียเงิน และเอาเวลาที่เหลือไปเตรียมตัวกับสนามสอบที่เป็นเป้าหมายของตัวเองดีกว่า

 

O-NET (Ordinary National Educational Test)
คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน  เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียน ประเมินตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จำนวน 51 มาตรฐานการเรียนรู้ ครอบคลุม 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้

สอบอะไรบ้าง?
ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม, ภาษาอังกฤษ

ใครบ้างที่ต้องสอบ?
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และที่สำคัญกับน้องๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ต้องใช้คะแนน O-NET เป็นส่วนหนึ่งในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย 



GAT
GAT เป็นการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test) คือ การวัดศักยภาพในการเรียนในมหาวิทยาลัยให้ประสบความสำเร็จ มี 2 ส่วน

สอบอะไรบ้าง?
ส่วนที่ 1 คือ ความสามารถในการอ่าน/การเขียน/การคิดเชิงวิเคราะห์/และการแก้โจทย์ปัญหา
ส่วนที่ 2 คือ ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย Speaking and Conversation, Vocabulary, Structure and Writing, Reading Comprehension

ใครบ้างที่ต้องสอบ?
น้องๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จะยื่นสมัคร TCAS ตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป
 


PAT
PAT เป็นการทดสอบวิชาความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (Professional and Academic Aptitude Test) คือ การวัดความรู้ที่เป็นพื้นฐาน กับศักยภาพที่จะเรียนในวิชาชีพนั้น ๆ ให้ประสบความสำเร็จ

สอบอะไรบ้าง?
PAT 1 คือ ความถนัดทางคณิตศาสตร์
PAT 2 คือ ความถนัดทางวิทยาศาสตร์
PAT 3 คือ ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์
PAT 4 คือ ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์
PAT 5 คือ ความถนัดทางวิชาชีพครู
PAT 6 คือ ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์
PAT 7 คือ ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ ประกอบด้วย
PAT 7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส
PAT 7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน
PAT 7.3 ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น
PAT 7.4 ความถนัดทางภาษาจีน
PAT 7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ
PAT 7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี

ใครบ้างที่ต้องสอบ?
น้องๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จะยื่นสมัคร TCAS ตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป โดยไม่จำเป็นต้องสอบทั้งหมดทุกวิชา แต่เลือกสอบวิชาตามเกณฑ์การรับแต่ละสาขาของมหาวิทยาลัยที่น้องๆ ต้องการจะเรียนก็พอ


9 วิชาสามัญ
ข้อสอบกลางที่จัดสอบโดย สทศ. เพื่อใช้ในการรับตรงเข้ามหาวิทยาลัย  แต่เดิมจะสอบเพียง 7 วิชา แต่เพื่อให้ครอบคลุมกับเนื้อหาของสายศิลป์ จึงเพิ่มอีก 2 วิชาเข้าไป รวมเป็น 9 วิชา

สอบอะไรบ้าง?
1.วิชาภาษาไทย
2.วิชาสังคมศึกษา
3.วิชาภาษาอังกฤษ
4.วิชาคณิตศาสตร์ 1
5.วิชาฟิสิกส์
6.วิชาเคมี
6.วิชาชีววิทยา
8.วิชาคณิตศาสตร์ 2 (สายศิลป์)
9.วิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (สายศิลป์)

ใครบ้างที่ต้องสอบ?
วิชาสามัญนี้สามารถสอบได้ทั้งน้องๆ สายวิทย์ และสายศิลป์ โดยไม่จำเป็นต้องสอบทั้ง 9 วิชา แต่เลือกสอบวิชาตามเกณฑ์การรับแต่ละสาขาของมหาวิทยาลัยที่น้องๆ ต้องการจะเรียนก็พอ


วิชาความถนัดแพทย์
วิชาเฉพาะ หรือ วิชาความถนัดแพทย์ คือวิชาที่สมัครสอบพร้อมสมัคร กสพท. ใช้เป็นสัดส่วนทั้งหมด 30%

สอบอะไรบ้าง?
ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้
1.1 เชาว์ปัญญา เช่น คณิตศาสตร์ อนุกรมเลข อนุกรมภาพ การอ่านจับใจความ เป็นต้น
1.2 จริยธรรมทางการแพทย์ ซึ่งไม่มีสอนในห้องเรียน
1.3 ทักษะการเชื่อมโยง คล้ายๆกับ GAT ที่ก็มีส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้างนะคะ

ใครบ้างที่ต้องสอบ?
น้องๆ ที่ต้องการยื่นสมัคร กสพท. ใน TCAS รอบที่ 3 จะต้องได้สอบในวิชาความถนัดแพทย์ ซึ่งสัดส่วนคะแนนถือเป็นวิชาที่มีค่าน้ำหนักสูงที่สุด น้องจึงต้องวางแผนและเตรียมตัวให้ดี
 


BMAT
BMAT ย่อมาจาก Biomedical admission test เป็นข้อสอบเฉพาะทางสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในสาขาการแพทย์ สัตวแพทย์ ซึ่งจัดทำโดย Cambridge Assessment แห่งสหราชอาณาจักร สรุปง่ายๆก็คือข้อสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรนั่นเอง แต่สาเหตุที่มีการพูดถึงในไทยบ่อยครั้งในช่วงนี้เพราะหลักสูตรทางด้านการแพทย์ในไทย ตกลงจะใช้ข้อสอบ BMAT ในการรับนักศึกษาแพทย์ใหม่ เช่น วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CICM) ซึ่งเป็นหลักสูตรแพทยศาสตร์ “อินเตอร์” ประกาศว่านักศึกษาใหม่จะต้องผ่านการสอบ BMAT ทุกคน หรือคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ยินดีรับผล BMAT เช่นกัน

สอบอะไรบ้าง?
การสอบ BMAT ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ประกอบด้วย 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 ความถนัด และทักษะ 60 นาที (ข้อสอบปรนัย)
ส่วนที่ 2 ความรู้และการประยุกต์ด้านวิทยาศาสตร์ 30 นาที (ข้อสอบปรนัย)
ส่วนที่ 3 งานเขียน 30 นาที (ข้อสอบบรรยาย)

ใครบ้างที่ต้องสอบ?
น้องๆ ที่ต้องการเข้าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพในประเทศไทย ควรเช็คให้ดีว่าในแต่ละรอบที่มีการเปิดรับในระบบ TCAS ต้องใช้คะแนน BMAT หรือไม่ และน้องๆ ที่ต้องการเรียนในสาขา การแพทย์ สัตวแพทย์ ของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร
 


SAT
SAT หรือ Scholastic Assessment Tests คือ ข้อสอบมาตรฐานที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงบางหลักสูตรในเมืองไทยใช้ประกอบการสมัครเข้าเรียนระดับปริญญาตรี เพียงแต่ไม่ได้วัดที่ความรู้วิชาต่างๆ แต่เป็นการวัดทักษะ (Skills) การใช้เหตุผล เหมือนข้อสอบความถนัดทั่วไป

สอบอะไรบ้าง?
SAT ประกอบด้วยข้อสอบ 3 ส่วนได้แก่ Critical Reading, Mathematics, และ Writing

ใครบ้างที่ต้องสอบ?
น้องๆ ที่สนใจจะสมัคร TCAS รอบที่ 1 บางโครงการ และหลักสูตรนานาชาติในรอบอื่นๆ
 


SAT II
เป็นข้อสอบที่ใช้สอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอินเตอร์ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

สอบอะไรบ้าง?
AT II แบ่งเป็น 3 วิชา คือ เคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา

ใครบ้างที่ต้องสอบ?
น้องๆ ที่สนใจจะสมัครหลักสูตรนานาชาติ
 


ACT
ACT หรือ American College Testing เป็นการสอบวัดระดับทักษะการใช้เหตุผลและการสื่อสารที่จำเป็นสำหรับการเรียนในระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย

สอบอะไรบ้าง?
เป็นการวัดทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหาซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการศึกษาในระดับ มหาวิทยาลัย ข้อสอบ ACT มีคะแนนเต็มทั้งสิ้น 36 คะแนน จากการสอบทั้งหมด 5 ส่วนดังต่อไปนี้ 1) English  2) Mathematics  3) Reading  4) Science Reasoning  5) Writing

ใครบ้างที่ต้องสอบ?
เป็นการวัดทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหาซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการศึกษาในระดับ มหาวิทยาลัย แต่โดยทั่วไปแล้ว ผลสอบ ACT ยังไม่เป็นที่ยอมรับแพร่หลายเหมือนกับผลสอบ SAT ซึ่งเป็นที่ยอมรับในเกือบทุกหลักสูตร
 


TOEFL
TOEFL หรือ Test of English as a Foreign Language เป็นการทดสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษตามมาตรฐานของภาษาอังกฤษอเมริกัน ซึ่งมีการออกแบบสำหรับใช้ในการประเมินความสามารถทางภาษาของผู้สมัคร เพื่อนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในเรื่องของการศึกษาต่อ หรือทำงานในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร โดยผลคะแนนโทเฟลจะใช้ได้เป็นระยะเวลา 2 ปี

สอบอะไรบ้าง?
TOEFL จะทดสอบทักษะภาษาอังกฤษทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การพูด (Speaking) การฟัง (Listening) การอ่าน (Reading) และการเขียน (Writing) และในครั้งจะต้องผสมผสานทักษะต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อใช้ในการตอบคำถาม โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่งสำหรับการสอบ ซึ่งคุณสามารถเลือกการสอบได้ทั้ง Internet-based Test (iBT) หรือ Paper-based Test (PBT) ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่มีให้ที่ศูนย์ทดสอบ

TOEFL Internet-based Test (iBT) ประเมินความสามารถของคุณในการอ่าน ฟัง พูด และเขียนภาษาอังกฤษและใช้ทักษะเหล่านี้ร่วม กันในชั้นเรียนมหาวิทยาลัย เช่น คุณอาจอ่าน หรือฟังบรรยาย แล้วเขียนหรือพูดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณรู้

TOEFL Paper-based Test (PBT) ประเมินความสามารถของคุณในการอ่าน ฟัง และเขียนภาษาอังกฤษ


ใครบ้างที่ต้องสอบ?
หลายคณะจะมีเกณฑ์กำหนดให้น้องๆ ต้องมีคะแนนสอบภาษาอังกฤษ เพื่อยื่นรับตรงโดยเฉพาะในระบบ TCAS รอบที่ 1 (บางคณะให้เลือกสอบได้ระหว่าง TOEFL หรือ IELTS ) และหากน้องๆ คนไหนต้องการไปเรียนต่อในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ก็ต้องใช้คะแนน TOEFL iBT เช่นกัน
 


IELTS
International English Language Testing System (IELTS) เป็นการสอบวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยในปีที่ผ่านมามีผู้เข้าสอบมากกว่า 2.7 ล้านคน ผลสอบ IELTS เป็นที่ยอมรับในมากกว่า 9,000 องค์กร ซึ่งได้แก่ สถานศึกษา บริษัทนายจ้าง องค์กรทางวิชาชีพ และรัฐบาล ใน 140 ประเทศทั่วโลก เนื้อหาในการสอบ IELTS ได้รับการพัฒนาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติและมีการวิจัยอย่างครอบคลุมเพื่อให้การสอบมีความยุติธรรมและเป็นกลางสำหรับผู้สมัครทุกคน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ภูมิหลัง เพศ วิถีการดำเนินชีวิต หรือสถานที่อยู่

สอบอะไรบ้าง?
เป็นการสอบวัดทักษะทางภาษาทั้งสี่ด้านและมีด้วยกันสี่หมวด ได้แก่ การฟัง การอ่าน การเขียน และการพูด คุณจะต้องสอบการฟัง การอ่าน และการเขียนในวันเดียวกันทั้งหมดโดยไม่มีการหยุดพักระหว่างการสอบ ส่วนการพูดอาจสอบในวันเดียวกันกับการสอบอีกสามทักษะ หรือภายในเจ็ดวันก่อนหรือหลังจากนั้น แล้วแต่ทางศูนย์สอบจะกำหนด โดยการสอบทั้งหมดจะใช้เวลาไม่เกินสามชั่วโมง

ใครบ้างที่ต้องสอบ?
หลายคณะจะมีเกณฑ์กำหนดให้น้องๆ ต้องมีคะแนนสอบภาษาอังกฤษ เพื่อยื่นรับตรงโดยเฉพาะในระบบ TCAS รอบที่ 1 (บางคณะให้เลือกสอบได้ระหว่าง TOEFL หรือ IELTS )
 


HSK
HSK ย่อมาจากตัวสะกดเสียงพินอินของภาษาจีนว่า “Hanyu Shuiping Kaoshi” ซึ่งหมายถึง การสอบวัดระดับความรู้ทางภาษาจีน สำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาแม่ การสอบนี้จัดขึ้นโดย The Office of Chinese Language Council International: HANBAN ของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ที่มีผลคะแนนสอบสูงสุดในแต่ละระดับของศูนย์สอบจะได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลจีน ในการเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนเป็นประจำทุกปี

สอบอะไรบ้าง?
การสอบ HSK แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1. ระดับพื้นฐาน (HSK: Basic) สำหรับผู้ที่ผ่านหลักสูตรการเรียนภาษาจีนมาแล้วราว 100 - 800 ชั่วโมง มีความรู้ในคำศัพท์พื้นฐาน 400 - 3,000 คำ และเข้าใจถึงหลักไวยากรณ์โครงสร้างประโยคขั้นพื้นฐาน
2. ระดับต้น และกลาง (HSK: Elementary and intermediate) คือ ระดับผู้ที่ผ่านหลักสูตรการเรียนภาษาจีนราว 400 - 2,000 ชั่วโมง มีความรู้ในคำศัพท์พื้นฐาน 2,000 - 5,000 คำ
3. ระดับสูง (HSK: Advanced) คือ ระดับผู้ที่ผ่านหลักสูตรการเรียนภาษาจีนมาแล้ว ตั้งแต่ 3,000 คาบขึ้นไป มีความรู้ในศัพท์กว่า 5,000 คำ เข้าใจไวยากรณ์โครงสร้างทางภาษาในรูปประโยคที่ซับซ้อน

ใครบ้างที่ต้องสอบ?
น้องที่ต้องการไปเรียนต่อในประเทศจีนสามารถใช้ ประกาศนียบัตรผลสอบเป็นเอกสารประกอบการศึกษาต่อ
 


JLPT
การสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาญี่ปุ่น (Japanese Language Proficiency Test : JLPT) มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นของชาวต่างชาติผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นการสอบภายในประเทศญี่ปุ่นจัดโดยสมาคมสนับสนุนการศึกษานานาชาติแห่งประเทศญี่ปุ่น(JEES)โดยจัดสอบในหลายจังหวัดที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนนอกประเทศญี่ปุ่นนั้น มูลนิธิญี่ปุ่น (Japan Foundation) เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดสอบ แบ่งผลการสอบออกเป็น 5 ระดับ และจัดสอบปีละ 2 ครั้ง ในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม และเดือนธันวาคม

สอบอะไรบ้าง?
เป็นการวัดความสามารถทางทักษะแต่ละด้านและความสามารถด้านการสื่อสารการสอบนี้จะวัดความสามารถในการใช้ภาษาของผู้เรียนในสถานการณ์จริง วิชาที่สอบ แบ่งออกเป็น 2 วิชา คือ
1. 読む試験(よむしけん)เป็นการสอบ ”文字(もじ)・語彙(ごい)" และ  "文法(ぶんぽう)・読解(どっかい)"
2. 聞く試験(きくしけん)เป็นการสอบ ”聴解(ちょうかい)

ใครบ้างที่ต้องสอบ?
น้องๆ ที่ต้องการไปเรียนต่อในประเทศญี่ปุ่นโดยการรับทุน จำเป็นต้องสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาญี่ปุ่น
 


TOPIK
TOPIK ย่อมาจาก Test Of Proficiency In Korean เป็นการทดสอบความสามารถทางภาษาเกาหลีของชาวต่างชาติ โดยเป็นการสอบเพื่อวัดพื้นฐาน หรือความสามารถทางภาษาเกาหลีของผู้ที่ไม่ใช้ภาษาเกาหลีเป็นพื้นฐาน ชาวเกาหลีที่อยู่ต่างแดน ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศเกาหลี ผู้เรียนภาษาเกาหลี นักเรียนต่างชาติที่สนใจเรียนที่เกาหลี บุคคลที่สนใจทำงานในประเทศ หรือต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศเกาหลี

สอบอะไรบ้าง?
TOPIK แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การทดสอบความสามารถทางภาษาเกาหลีทั่วไป (The Standard TOPIK) เป็นการสอบเพื่อวัดระดับความสามารถในการใช้ภาษาเกาหลีทั่วๆไปในชีวิตประจำวัน ที่จำเป็นต่อความเข้าใจถึงวัฒนธรรมเกาหลีและการศึกษาต่อเป็นต้น หรือที่ในหมู่นักเรียนที่เรียนภาษาเกาหลีเรียกกันว่าการสอบ “กึบ” หรือ ระดับนั่นเอง ผู้เข้าสอบสามารถเลือกเข้าสอบตามระดับชั้นที่เหมาะสมกับความสามารถของตนโดยจะมีการเปิดให้สมัครสอบ 3 ช่วงชั้นด้วยกัน คือ ชั้นต้น ชั้นกลาง และชั้นสูง
2. การทดสอบความสามารถทางภาษาเกาหลีเชิงธุรกิจ (The Business TOPIK) เป็นการสอบเพื่อวัดระดับความสามารถในการใช้ภาษาเกาหลี เพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันและที่จำเป็นต่อการทำงานในสถานประกอบการเกาหลี ซึ่งจัดทำขึ้นสำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะทำงานในประเทศเกาหลี การสอบ TOPIK ประเภทนี้ไม่มีการให้เกรดว่ามีความสามารถทางภาษาอยู่ในระดับใด หรือการประเมินผลว่าสอบตก – สอบผ่านใดๆทั้งสิ้น มีเพียงแต่การตรวจให้คะแนน และให้ผู้สอบนำผลคะแนนไปใช้ในการสมัครงานเท่านั้น โดยคะแนนเต็มของการสอบ TOPIK ประเภทนี้ คือ 400 คะแนน

ใครบ้างที่ต้องสอบ?
TOPIK มีผลระดับน่าเชื่อถือสูงสุดในการสอบเพื่อเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย น้องๆ ที่ต้องการไปเรียนต่อในประเทศเกาหลี จึงจำเป็นต้องสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาเกาหลี
 




ขอบคุณข้อมูลจาก : www.aims.co.th
                              www.adviceforyou.co.th
                              www.idp.com
                              www.devserv.phuket.psu.ac.th
                              education.thaiembassy.jp
                              www.edupac-lemonde.com
                              www.aims.co.th (sat)
                              www.aims.co.th (act)