สอบเข้ามหาวิทยาลัย

สอศ.-มูลนิธิข้าวไทย พัฒนาหลักสูตรเกษตร สร้างชาวนารุ่นใหม่

UploadImage

            สอศ.จับมือมูลนิธิข้าวไทยฯ ร่วมพัฒนานักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีให้เป็นชาวนารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ มีองค์ความรู้เรื่องข้าวที่ทันสมัย "ดร.สุเมธ" ชี้อาชีพชาวนาน่าห่วง จำเป็นต้องปรับตัว เหตุพื้นที่ปลูกข้าวลดลง อากาศเปลี่ยนแปลง ภัยธรรมชาติมากขึ้น

            ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวตอนหนึ่งในพิธีลงนามความร่วมมือเรื่อง "การส่งเสริมการผลิตและพัฒนาชาวนาไทยรุ่นใหม่" ระยะที่ 3 ร่วมกับ สอศ. ว่า อาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่น่าห่วง เพราะระบบธรรมชาติและสภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องเร่งสร้างเครือข่ายอนุชนชาวนาไทยขึ้นมาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนาข้าว และชาวนาจะได้รับความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับข้าวซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ รู้วิธีการบริหารจัดการน้ำ ขั้นตอนการผลิตข้าวแบบพอเพียง และสามารถนำความรู้กลับไปใช้กับตนเอง และนำความรู้เรื่องข้าวไปบอกต่อ เผยแพร่ให้กับเพื่อนๆ คนในชุมชนเดียวกันและสังคมเครือข่าย

         "เวลานี้พื้นที่โลกกำลังลดลง เสื่อมลง เกิดจากภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง กลับกันจำนวนประชากรโลกกลับเพิ่มขึ้น แต่ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุก คนต้องกินข้าว ดังนั้นอาชีพทำนามีความความสำคัญยิ่ง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ หากเรายึดหลักพอเพียง นอกจากจะเลี้ยงตัวเองได้แล้วยังสามารถหล่อเลี้ยงเพื่อนมนุษยชาติได้ เพราะฉะนั้น การร่วมกันส่งเสริมและสร้างกลุ่มอนุชนรุ่นใหม่จะทำให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือปัญญา ชาวนาจะต้องศึกษาหาความรู้จากผู้รู้ ทุกขั้นตอนจะต้องผ่านกระบวนการคิด กระบวนการทำ เพื่อเติมคุณค่าของข้าวที่ผลิตให้มีคุณภาพ และขอให้ภูมิใจ พอใจในอาชีพเกษตรกรรม อาชีพทำนา ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ" ดร.สุเมธกล่าว

            ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวดำเนินการต่อมาสู่ระยะที่ 3 แล้ว มีกรอบความร่วมมือคราวละ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2559-2563 เพื่อส่งเสริมพัฒนาให้ชาวนาไทยรุ่นใหม่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในเรื่องข้าวอย่างเข้มแข็ง โดยพัฒนาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสังกัด สอศ.เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องข้าว รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้แก่เยาวชนไทยได้รู้ซึ้งถึงความสำคัญของข้าวและวิถีของการทำนายุคใหม่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในการสร้างชาวนารุ่นใหม่ที่มีความรู้เรื่องข้าวอย่างแท้จริง และให้เกิดองค์ความรู้เรื่องข้าวให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจะจัดกิจกรรมค่ายข้าวอนุชนชาวนาไทย (Young Farmers Rice Camps) ใน 4 ภูมิภาค ดังนี้ ภาคกลาง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี ภาคเหลือ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร และภาคใต้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง.


ที่มา  : ไทยโพสต์