สอบเข้ามหาวิทยาลัย

นิสิตใช้กับมหาวิทยาลัยไหนบ้างคะ?

UploadImage

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รักและคิดถึง ช่วงนี้เห็นข่าวดารานักแสดงหลายคนสอบติดมหาวิทยาลัยแล้วชื่นอกชื่นใจแทนนะคะ ที่วัยรุ่นไทยแม้จะทำงานอยู่ในวงการบันเทิง ทั้ง นักร้อง นักแสดง ที่อาจจะต้องเหน็ดเหนื่อยกับการทำงาน หรือมีภารกิจยุ่งยากวุ่นวายในแต่ละวัน เรียกว่า ยุ่งยากลำบากกว่านักเรียนทั่วๆ ไป แต่ก็ยังรักเรียนสามารถสอบติดมหาวิทยาลัยได้อย่างสมภาคภูมิ คุณครูลิลลี่ก็ขอชื่นชม และยินดีด้วยกับทุกๆ คนนะคะ

มาถึงเรื่องของเรากันดีกว่า ปัญหาก็ตามมาจากเรื่องของการสอบติดมหาวิทยาลัยนี่แหละค่ะ พอมีเพื่อนสอบติด เราก็มักจะเข้าไปแสดงความยินดี มีลูกศิษย์อยู่คนหนึ่งค่ะมาโวยวายกับคุณครูว่า “คุณครูขา คุณครูขา หนูไปส่งข้อความถึงเพื่อนที่สอบติดเกษตรศาสตร์ว่า ขอแสดงความยินดีด้วยนะจ๊ะ นักศึกษาใหม่คนเก่งแห่งเกษตรศาสตร์ หน้าแตกเลยค่ะครู เขาตอบกลับมาว่า นิสิตครับ ไม่ใช่นักศึกษา 55555 แถมพิมพ์เลขห้ามาหัวเราะหนูอีก คุณครูบอกหน่อยได้ไหมคะว่า มหาวิทยาลัยไหนเรียกนักศึกษา มหาวิทยาลัยไหนเรียกนิสิต หนูไม่อยากหน้าแตกซ้ำสองค่ะ” ได้ค่ะได้ ถ้าอย่างนั้นมาฟังทางนี้ค่ะ

จริงๆ แล้วคำว่า นิสิต ในอดีตมีเพียง 3 มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ใช้คำนี้ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งมี 8 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตปทุมวัน วิทยาเขตบางแสน วิทยาเขตพิษณุโลก วิทยาเขตพลศึกษา วิทยาเขตมหาสารคาม วิทยาเขตบางเขน วิทยาเขตสงขลา โดยที่ต่อมาทั้ง 7 วิทยาเขต ได้ยุบรวมกับ วิทยาเขตประสานมิตร แล้วบางแห่งก็แยกตัวเป็นเอกเทศ ได้แก่ วิทยาเขตบางแสน ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยบูรพา / วิทยาเขตพิษณุโลก ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยนเรศวร / วิทยาเขตมหาสารคาม ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และวิทยาเขตสงขลา ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยทักษิณ เพราะฉะนั้น คำว่า นิสิต จึงใช้เรียกผู้ที่ศึกษาใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยที่แยกตัวออกมาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็คือ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยทักษิณ ค่ะ โดยข้อมูลล่าสุด ทราบว่า มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ก็ใช้คำว่า นิสิต เรียกผู้เรียนเช่นเดียวกันค่ะ

เพิ่มเติมให้อีกนิดนะคะ สำหรับคำว่า นิสิต ถ้าเปิดจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะพบว่าเป็นคำนาม แปลว่า ผู้ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากนั้น ยังมีความหมายถึง ศิษย์ที่เล่าเรียนอยู่ในสำนัก หรือหมายถึง ผู้อาศัย ก็ได้ค่ะ ว่ากันว่า ที่คำว่า นิสิต มีความหมายว่า "ผู้อยู่อาศัย" สืบเนื่องมาจากในช่วงที่เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับการสถาปนาเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยถือว่าอยู่นอกเมือง การคมนาคมเพื่อมาศึกษาเป็นการยากลำบาก ดังนั้น ผู้ที่มาเรียนส่วนใหญ่จำเป็นต้องพักภายในหอพักของมหาวิทยาลัย จึงเรียกบุคคลที่อาศัยในห้องปฏิบัติการว่านิสิต เช่นเดียวกันด้วยค่ะ

ซึ่งในภายหลัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เปิดอยู่นอกเมือง และผู้ที่มาศึกษาก็ต้องอยู่หอพักเช่นเดียวกัน จึงได้ใช้คำว่า "นิสิต" เหมือนกัน แต่มาถึงยุคสมัยปัจจุบัน แม้ว่าผู้ที่มาเรียนจะไม่ได้พักในหอพักเหมือนในสมัยก่อนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังนิยมเรียกว่า "นิสิต" สำหรับมหาวิทยาลัยดังกล่าวอยู่เช่นเดิมค่ะ ส่วนความเชื่อแบบมั่วๆ ว่า มหาวิทยาลัยใดอยากใช้คำว่า นิสิต ก็ต้องขอพระราชทานเอา หรือความเชื่อผิดๆ ที่ว่ามหาวิทยาลัยใดเคยมีเจ้าฟ้าเข้าเรียนก็จะเปลี่ยนไปใช้คำว่า นิสิต อันนี้ก็ผิดค่ะ

แม้ว่าจริงอยู่ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยทรงศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต อักษรศาสตรมหาบัณฑิต และเคยทรงศึกษาระดับปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้องสำหรับการใช้คำว่า นิสิต นะคะ อันนี้ทำความเข้าใจตามที่คุณครูอธิบายข้างต้นด้วยนะคะ สวัสดีค่ะ

instagram : kru_lilly, facebook : ครูลิลลี่


ขอขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์