สอบเข้ามหาวิทยาลัย

          พี่จ๋า Adnmissionpremium  หาข้อมูลด้านอาชีพก็ไปสะดุด คำว่า "Zookeeper" ชวนสงสัยเสียจริงว่าเขาคือใคร ทำอาชีพอะไร และต้องจบสาขาอะไรมา จนพี่ไปได้คำตอบว่า  Zookeeper หรือ พนักงานบำรุงสัตว์ ภาษาราชการ เรียกว่า สัตวบาล ฟังดูเหมือนการทำงานจะดูง่ายนะคะ แต่เท่าที่พี่ศึกษาข้อมูลมาจะ ต้องจบทางด้าน สัตวศาสตร์ สัตวบาล เทคโนโลยีผลิตสัตว์ วิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์ เกษตรศึกษา หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง  หรือจบหลักสูตรเทียบเท่า ทางเกษตรกรรม บทความด้านล่างได้กล่าวถึงลักษณะงานของ Zookeeper ได้ค่อนข้างสนุกและเข้าใจง่าย ขอบคุณข้อมูลจาก  adaymagazine มาในครั้งนี้ด้วยนะคะ ติดตามต่อกันค่ะ สำหรับใครที่สนใจและมุีบุคลิกภาพ รักสัตว์

---------------------------------------------

         สวนสัตว์ยังเป็นสถานที่ยอดฮิตสำหรับคนทุกเพศทุกวัยเสมอ อะไรจะสนุกไปกว่าเดินเล่นไปพลางชี้นกเจอไก่ ชี้ไม้เจอลิมชิมแปนซี นี่ยังไม่รวมสัตว์แปลกๆ หรือสัตว์ดุร้ายที่เราคงไม่มีโอกาสได้ใกล้มันแค่กระจกใสกั้น แต่ถึงสวนสัตว์จะอนุญาตให้เราป้อนอาหารสัตว์กับมือหรือยืนจ้องตางูเหลือมได้นานๆ ก็คงไม่มีใครรู้จักและรู้ใจเหล่าสัตว์ได้ดีไปกว่าพนักงานบำรุงสัตว์ หรือ Zookeeper ที่ใช้เวลาอยู่กับสัตว์เหล่านี้มากกว่าลูกเมียตัวเองซะอีกแล้วล่ะ

UploadImage

ว่าแต่ Zookeeper คือใครกัน?

1. มีสัตว์ป่าเป็นลูกเป็นหลาน
หน้าที่ของคีปเปอร์ไม่ใช่แค่คนป้อนอาหาร แต่ยังครอบคลุมตั้งแต่เช็กจำนวนสัตว์ว่าอยู่ครบดีหรือไม่ จดจำชื่อและอุปนิสัยของสัตว์ให้ได้ทุกตัวแม้จะเป็นนกฟลามิงโกที่เรามองยังไงก็หน้าตาเหมือนกัน หมั่นสังเกตและตรวจเช็กสุขภาพเบื้องต้นว่าตัวไหนเศร้าซึม แยกตัวออกจากฝูงรึเปล่า ถ้าเจอก็ต้องรีบแจ้งให้สัตวแพทย์มาดูอาการต่อ พูดง่ายๆ คีปเปอร์ก็เหมือนเจ้าของสัตว์ที่ต้องเลี้ยงพวกมันให้กินดีอยู่สบาย เจ็บไข้ก็พาไปหาหมอนั่นแหละ

2. ห้ามแพ้ตั้งแต่หน้ากรง
คนเป็นคีปเปอร์ต้องมาพร้อมนิสัยรักสัตว์ ชอบอยู่กับธรรมชาติเป็นทุนเดิม แต่แค่พกคุณสมบัติสองข้อนี้มากรอกใบสมัครนั้นยังไม่พอ ตามระเบียบก็ต้องสอบทั้งข้อเขียนเรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสัตว์และสวนสัตว์นั้นๆ ส่วนภาคปฎิบัติ คีปเปอร์ทุกคนต้องจับงูให้ถูกวิธี ปีนต้นไม้ไล่ลิงได้ ว่ายน้ำพายเรือในบึงให้คล่อง ตอนสอบคณะกรรมการรวมไปถึงรุ่นพี่คีปเปอร์เก่าๆ จะเช็กละเอียดตั้งแต่วิธีเดินเข้าออกกรง เพราะถ้าเดินผิดวิธี สัตว์ก็จะวิ่งตามหลังและอาจหลุดรอดไปได้

3. สัตว์เลือกนาย
คีปเปอร์ไม่ได้เป็นคนเลือกสัตว์ที่ต้องดูแล แต่นิสัยส่วนตัว สกิลที่จำเป็นต่อการเลี้ยงสัตว์นั้นๆ จะเป็นตัวบอกความเหมาะสมเอง ถ้าพื้นฐานเป็นคนละเอียดใจเย็น ให้ไปดูแลนกหรือสัตว์ปีกขนาดเล็กที่มีจำนวนเกินร้อยและใช้เวลาในการฝึกนานกว่าจะออกโชว์ได้น่าจะเข้าท่า ส่วนสัตว์ดุร้ายอย่างเสือ สิงโต ฮิปโปโปเตมัส ความกล้าและใจถึงเป็นคุณสมบัติจำเป็น เพราะหน้าที่ของคีปเปอร์คือใกล้ชิดสัตว์ให้มากที่สุดเพื่อจะได้สังเกตพฤติกรรมว่าช่วงนี้ติดสัด หรือหงุดหงิดรึเปล่า

4. หนีให้ได้ถ้านายแน่จริง
แผลนกจิก รอยจระเข้กัด เป็นหลักฐานยืนยันการทำงานเกินร้อยที่คีปเปอร์แทบทุกคนมีติดตัว เพราะถึงจะคุ้นเคยเลี้ยงดูกันนานนับ 10 ปี แต่สัตว์ก็ยังมีสัญชาตญาณสัตว์ป่าและไม่ใช่ว่ามันจะอารมณ์ดีได้ทุกวัน (นึกถึงผู้หญิงในวันนั้นของเดือนสิ) สกิลอีกอย่างที่คีปเปอร์ควรมีติดตัวไว้อุ่นใจดีคือฟุตเวิร์กที่คล่องตัวและรู้ทางหนีทีไล่ของส่วนจัดแสดงสัตว์ว่าต้องหลบเข้าช่องไหนถึงจะปลอดภัย เพราะสัตว์เฉื่อยชาอย่างฮิปโปโปเตมัสเวลามันเคลื่อนตัวนี่ กะพริบตาทีเดียวก็มาอยู่ตรงหน้าแล้วนะ

5. เรียกเหมียวเหมียว นกชื่อเหมียวก็มา
นอกจากจะตั้งชื่อฮิปโปว่าแม่มะลิ เจ้านกเงือกบุ้งกี๋ หรือพี่หมีหมาชื่อมึน เพิ่มความคิวท์ให้นักท่องเที่ยวเรียกได้ถูกต้องแล้ว ชื่อของสัตว์ทุกตัวยังเป็นสิ่งที่คีปเปอร์ สัตวแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์สวนสัตว์ ใช้สื่อสารให้ตรงกัน ชื่อยังเอาไว้ช่วยคีปเปอร์ตอนนับจำนวนสัตว์ด้วย เพราะแค่ลองเรียกชื่อแป๊บเดียวเดี๋ยวพวกมันก็มา คีปเปอร์บางคนเลยเอาชื่อแฟนเก่ามาตั้งเป็นชื่อนกให้ชื่นใจเวลาเรียกหาซะเลย

6. ถ่ายทอดวิชาจากศิษย์พี่
เสือแต่ละชนิดชอบกินอะไร นกยูงต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน เรื่องพวกนี้หาอ่านได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องเรียนจบทางสัตววิทยา แต่เทคนิคการเข้าใกล้จระเข้ไม่ให้โดนฟาดหางว่าต้องเข้าตรงกลางลำตัวมันนะ ถ้าไม่อยากโดนงูเหลือมฉกต้องอยู่ให้ห่างครึ่งหนึ่งของความยาวงู การรู้ใจสัตว์แต่ละตัวที่อุปนิสัยไม่เหมือนกันเลยนี่แหละที่ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนเปิดสอน คีปเปอร์รุ่นน้องเลยต้องเก็บเกี่ยววิชาจากรุ่นพี่ให้ได้มากที่สุดเพื่อ ‘เข้าสัตว์’ ให้ได้ คีปเปอร์รุ่นเก๋าบางคนมาขอฝึกงานที่สวนสัตว์ 9 ปีถึงจะเป็นพนักงานจริงๆ ก็มี

7. อยู่บ้านสัตว์อย่านิ่งดูดาย
ห้องทำงานที่คีปเปอร์ใช้พักผ่อนและจัดเตรียมอาหารตามไดเอทการ์ดจะอยู่หลังส่วนจัดแสดง แต่ส่วนที่ต้องดูแลให้สะอาดทุกวันจริงๆ กลับเป็นบ้านของสัตว์ และยังต้องตัดแต่งต้นไม้ โขดหิน พื้นดิน ให้ใกล้เคียงกับสภาพธรรมชาติที่สัตว์คุ้นเคยที่สุดด้วย หากสังเกตว่าเสือขูดเล็บจนเปลือกไม้กร่อนก็ต้องยกขอนไม้ใหม่เข้ามาแทน แถมงานของคีปเปอร์ยังต้องดูแลไม่ให้นักท่องเที่ยวโยนอาหารแปลกๆ ให้สัตว์กินอีกด้วยนะ

8. เหนื่อย แต่ก็ยอม
ที่ว่ามาอาจรู้สึกว่างานของคีปเปอร์ทั้งเหนื่อยแถมยังเสี่ยงอันตราย แต่คีปเปอร์ทุกคนก็ยืนยันว่าเขาตื่นเช้ามืดมานับจำนวนค้างคาวที่หลับปุ๋ย โชว์ป้อนอาหารหมี และแวะพูดคุยกับสัตว์ทุกตัวในสวนสัตว์ได้ไม่รู้เบื่อ “ถ้าวันไหนมันป่วยสิ วันนั้นเราถึงจะเครียด ไม่มีความสุขทันที”

UploadImage