สอบเข้ามหาวิทยาลัย

"ดีไซเนอร์" ผู้อยู่เบื้องหลังของความงามบนเวทีระดับโลก

     UploadImage

เด็ก ม.6 พัทลุง คว้าชัยออกแบบชุดราตรี "ราชินีแห่งสายน้ำ" ส่งชิงมิสเวิลด์ 2016


      เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ อาคารมาลีนนท์ ชั้น 21 กองประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ จัดให้มีการประกวดรอบตัดสิน พร้อมกับประกาศผลชุดราตรี "ท็อป โมเดล ดีไซเนอร์ 2016" ที่ชนะเลิศการประกวดออกแบบชุดราตรี ให้ "ไดร์" จิณณ์ณิตา บุดดี มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2016 สวมใส่ประกวดในรอบ "ท็อป โมเดล" การประกวดเวทีระดับโลก "มิสเวิลด์ 2016" ซึ่งจะจัดขึ้นที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงปลายปีนี้

    ทั้งนี้หลังจากกองประกวดฯ เปิดโครงการประกวดชุดราตรี ท็อป โมเดล ดีไซเนอร์ 2016 มีผู้สนใจส่งแบบร่างชุดราตรีร่วม 100 ผลงาน โดยกองประกวดฯ รวมถึง ไดร์-จิณณ์ณิตา ได้คัดเลือกแบบร่างเข้าสู่รอบตัดสินจำนวน 15 ผลงาน ได้นำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการ โดยมี "เมญ่า" นนธวรรณ ฌรรวนธร มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2014 และเข้าของตำแหน่ง มิสพีเพิล ชอยส์ อวอร์ด ในการประกวดมิสเวิลด์ 2014 เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

    บรรยากาศการประกวดและตัดสินเป็นไปอย่างเข้มข้น เจ้าของผลงานทั้ง 15 ผลงานต่างนำเสนอถึงแนวคิด และแรงบันดาลใจ รวมถึงการใช้วัสดุตัดเย็บอย่างสุดความสามารถ สำหรับผลงานที่ถูกใจคณะกรรมการได้แก่ ชุด "ราชินีแห่งสายน้ำ" ของ นายภาวิต ประวัติ หรือ "ภูมิ" อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสตรีพัทลุง จ.พัทลุง  รับเงินรางวัล 30,000 บาท สนับสนุนการตัดเย็บโดยห้องเสื้อเมอเรียด แกรนด์ มอนด์ นายอยุทธการ จันทโชติ ผู้บริหาร และดีไซเนอร์ มอบรางวัล

    นายภาวิต กล่าวว่า ตนชื่นชอบการออกแบบเสื้อผ้า และชอบเรื่องแฟชั่นมาตั้งแต่เรียนชั้น ม.3 รู้สึกดีใจมากที่ประสบความสำเร็จกับการออกแบบชุดราตรีในครั้งนี้ ชุดของตนออกแบบโดยมีแรงบันดาลใจความเป็นไทยผสมผสานความเป็นไทย และแนวความคิดจากสายน้ำพลิ้วไหว ดูมีพลังเปรียบเสมือนหญิงสาวที่มีความอ่อนหวานแต่แฝงด้วยความเข้มแข็งสง่างาม ใช้ผ้าลายดอกมีลักษณะเด่น คือ ในผืนผ้าจะมีลวดลายในตัว โดยผิวสัมผัส ผ้ายกดอก จะมีความนุ่มของผืนผ้า แต่ละชั้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลวดลายแต่ละลายส่วนใหญ่ลายจะใช้ฝ้ายหรือไหมสีเดียวกันตลอดทั้งผืน สีน้ำไหลเข้ารูปหางปลาที่มีความสง่างาม ตัดเย็บด้วยเทคนิคจับจีบระบายเป็นคลื่น ปักตกแต่งด้วยวัสดุที่มีความแวววาว ดั่งแสงแดดที่กระทบลงบนผืนผิวน้ำ ด้วยลวดลายที่อ่อนช้อยลงบนผ้าไหม แต่แฝงไปด้วยพลังเข้มแข็ง ตกแต่งด้วยเลื่อมลวดลายการปักด้วยเลื่อมโลหะ และปีกแมลงทับ ด้านหน้าบริเวณสะดือลงไป ทิ้งระบายจีบหน้านางแบบชุดไทย บนสุดจีบปักแบบระบายคล้ายหัวเข็มขัดหญิงชั้นสูงสมัยก่อน จีบหลังพับจีบปักตกแต่งด้วยเลื่อมและแมลงทับ นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับข้อมือ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากลายผ้าไหมยกดอก ต่างหูเป็นมรกตปีกแมลงทับ ล้อมด้วยโลหะบริเวณคอเป็นห่วงผ้าตกแต่งด้วยเลื่อมโลหะ

    ด้าน เมญ่า หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า ตนและคณะกรรมการสะดุดชุดนี้ตรงที่มีความเป็นสากล แต่คงความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าเมื่อน้องไดร์ใส่ไปประชันความงามเวทีโลก ต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากคณะกรรมการ และผู้เข้าประกวดจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างแน่นอน จึงตัดสินใจเลือกชุดนี้



UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  สยามดารา


แล้วถ้าน้องๆ ที่มีความชอบเหมือนน้องภูมิ ต้องสาขานี้เลยค่ะ "สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายหรือออกแบบแฟชั่น" เป็นสาขาโดยตรงเลยค่ะ 

เรียนเกี่ยวกับ
- การออกแบบสิ่งทอ
- ออกแบบเครื่องแต่งกาย
- การสร้างแพตเทิร์น
- เทคนิคการตัดเย็บ
- ประวัติศาสตร์ศิลปะเครื่องแต่งกาย
- คอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบเครื่องแต่งกาย
- วัสดุในงานออกแบบเครื่องแต่งกาย
- การออกแบบเครื่องแต่งกายลักษณะไทย
- การตลาดและการจัดการธุรกิจแฟชั่น
- การออกแบบสิ่งประดับ
- แฟชั่นระบบอุตสาหกรรม
- การประสานงานและนำเสนอผลงานแฟชั่น
- แฟชั่นสไตล์ลิ่ง

แล้วนอกจากเป็นดีไซเนอร์แล้ว สามารถทำอะไรได้อีกบ้าง ? 


- นักวาดภาพประกอบแฟชั่น
- นักออกแบบสร้างสรรค์งานเครื่องประดับตกแต่งกาย เช่น หมวก กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด ฯลฯ
- นักออกแบบลายผ้า
- ศิลปินสร้างสรรค์งานผ้า
- ผู้สอน ทางด้านเครื่องแต่งกาย
- นักวิจัย ทางด้านงานเครื่องแต่งกาย
- ผู้ประกอบการและ/หรือผู้จัดการโรงงานผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
- ช่างภาพแฟชั่น
- นักออกแบบอิสระ
- สไตล์ลิสต์


คณะที่เปิดสอนสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายหรือออกแบบแฟชั่น

1.  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  ภาควิชาการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น

2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ วิชาเอกออกแบบแฟชั่น

3. มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบออกแบบเครื่องแต่งกาย

4. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศิลปกรรมศาสตร์ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบทัศนศิลป์-การออกแบบแฟชั่น

5. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบพัสตราภรณ์

6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม


7. มหาวิทยาลัยกรุงเทพคณะศิลปกรรมศาสตร์ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ

8. มหาวิทยาลัยรังสิต คณะศิลปะและการออกแบบ สาขาแฟชั่นดีไซน์ 

9. Raffles International College หลักสูตร FASHION DESIGN

10. สถาบันอาคาเดเมีย อิตาลี สาขากรุงเทพฯ หลักสูตร FASHION DESIGN