สอบเข้ามหาวิทยาลัย

‘โอบามา’พบผู้นำเยาวชนอาเซียน ย้ำความสำคัญการศึกษา

เมื่อวันที่ 7 กันยายน นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เดินทางเยือนมหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ที่หลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อกล่าวปราศรัยต่อศิษย์เก่าโครงการผู้นำเยาวชนสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Young South East Asian Leadership Initiative) หรือวายซีลี เน้นย้ำความสำคัญการศึกษาพร้อมเปิดโครงการใหม่กระตุ้นการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และผลักดันการศึกษาสำหรับผู้หญิง
 
 
UploadImage
 

ประธานาธิบดีโอบามาเปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่ผู้คนใช้ภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ วิทยาศาสตร์ และสร้างเครือข่ายทั่วโลก การศึกษาภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งสำคัญ เหตุนี้นำมาสู่โครงการ “อังกฤษสำหรับทุกคน” หรือ English for All ที่จะส่งครูสอนภาษาอังกฤษไปยังประเทศต่างๆ และนำครูจากหลากหลายประเทศมาเข้าร่วมการฝึกฝนภาษาอังกฤษ พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ Englishforall.state.gov เพื่อมอบโอกาสให้ทั่วโลกได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วย

นายโอบามากล่าวขยายถึงประเด็นการศึกษาต่อไปว่า เนื่องด้วยในหลายประเทศผู้หญิงไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมผู้ชาย และผลวิจัยชี้ให้ว่า การศึกษาอย่างเท่าเทียมไม่เพียงส่งผลเชิงบวกต่อผู้หญิงแต่ยังส่งผลต่อไปถึงรุ่นลูกและขยายต่อไปถึงประชาคมด้วย โดยตนจะขยายโครงการ Let Girls Learn หรือ ”ให้เด็กผู้หญิงเรียนหนังสือ” ลงในประเทศลาวและเนปาล

นอกจากนี้ ว่าที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐได้เพิ่มสาขาใหม่อย่าง “ผู้นำหญิงอาเซียน” เข้าในโครงการวายซีลี เพื่อช่วยสนับสนุนผู้หญิงในอาเซียนให้มีบทบาทสำคัญในสังคมในอนาคตมากขึ้น



ภายในการปราศรัย นายโอบามาได้กล่าวยกย่องอมีมา แซ่จู หรือมีมี่ ผู้ก่อตั้งศูนย์มรดกชาติพันธุ์ลีซู อดีตผู้เข้าร่วมโครงการวายซีลีในปีที่ผ่านมา ถึงบทบาทของเธอในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมชาวลีซู
 
UploadImage

อมีมา แซ่จู ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการศูนย์มรดกชาติพันธุ์ลีซู อดีตผู้เข้าร่วมโครงการ Young South East Asian Leadership Initiative (Matichon/ Phuriphat Sangkhapat)

“มีมี่เติบโตขึ้นที่หมู่บ้านลีซู ทางตอนเหนือของประเทศไทย เธอเข้าร่วมโครงกรายวายซีลีที่มหาวิทยาลัยมอนทานา และได้พบชนพื้นเมืองอเมริกัน ประสบการณ์นี้ทำให้เธอนึกถึงชาวลีซูของเธอ” นายโอบามากล่าว “เธอก่อตั้งศูนย์มรดกชาติพันธุ์ลีซีขึ้นที่เชียงใหม่ เพื่อช่วยสนับสนุนและอนุรักษ์ประวัติศาสตร์พื้นเมืองลีซู พร้อมทั้งขายสินค้าทำมือของชาวลีซู ช่วยให้พวกเขามรายได้ และสืบสานวัฒนธรรมลีซูในรุ่นต่อๆ ไป”
 
 
UploadImage
พุทธิศักดิ์ พนมสารนรินทร์ หรือฟิลลิป นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้เข้าร่วมโครงการ Young South East Asian Leadership Initiative (Matichon/ Phuriphat Sangkhapat)
 

ระหว่างเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่าผู้เข้าร่วมโครงการวายซีลีถามคำถามประธานาธิบดีสหรัฐ นายพุทธิศักดิ์ พนมสารนรินทร์ หรือฟิลลิป นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในตัวแทน ด้วยคำถามว่า “ใน 10 ปีข้างหน้า คุณคาดหวังต่อชาวอาเซียนให้มีมุมมองต่อสหรัฐอเมริกาอย่างไร และทำไม” ขณะที่นายโอบามาระบุว่า ตนต้องการให้ประธานาธิบดีคนใหม่เดินหน้านโยบายพบปะผู้นำอาเซียนของตนต่อไป โดยย้ำถึงความหวังของตนว่า ในสิบปีต่อจากนี้ ประชาชนอาเซียนจะมองย้อนกลับมาถึงโครงการที่เราสร้างไว้ได้พัฒนาขึ้นแล้ว เนื่องจากหลายโครงการต้องใช้เวลานานถึงจะเห็นผล และแสดงให้เห็นว่าเรามีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งและยาวนานในภาคส่วน


นายโอบามากล่าวอีกว่า “อาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่เจริญเติบโตเร็วที่สุดในโลก มีประชากรอายุน้อยที่สุด รวมถึงเศรษฐกิจที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็วกว่าที่อื่น หากเราไม่สานปฏิสัมพันธ์ เรียนรู้ และเข้าใจวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ เราก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และนั้นเป็นสิ่งที่ผมไม่ต้องการให้เกิดขึ้น”

ภายในช่วงมกราคมที่จะถึงนี้ นายโอบามาจะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ส่งต่ออำนาจบริหารให้แก่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ว่าที่อดีตประธานาธิบดีให้คำมั่นถึงการทำงานหลังหมดวาระว่า จะเดินหน้ามีส่วนเกี่ยวข้องต่อเยาวชนรุ่นใหม่และโครงการวายซีลีต่อไป ผ่านการควบคุมขอกระทรวงต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ว่าที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวถึงบทบาทของนางมิเชล โอบามาหลังสิ้นสุดวาระในทำเนียบขาวว่า เธอจะขยายโครงการด้านการศึกษาและโภชนาการต่อไป

ประธานาธิบดีโอบามากล่าวในฐานะที่ตนเป็นผู้นำสหรัฐอเมริการายแรกที่เดินทางเยือนลาวระหว่างดำรงตำแหน่ง คาดหวังว่าประธานาธิบดีคนต่อไปจะยินดีที่เดินทางเยือนลาวด้วยเช่นกัน และย้ำว่าตนจะกลับมาที่ประเทศลาวอีกหลังออกจากทำเนียบขาว

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโอบามาก่อตั้งโครงการวายซีลีขึ้นในปี 2556 มุ่งให้ความสนใจต่อประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การศึกษา และการมีส่วนร่วมของประชาสังคม ผู้ที่สนใจเข้าร่วมจะผ่านการรับสมัครและคัดเลือกจากสถานเอกอัครราชทูตประจำแต่ละประเทศ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มติชน