สอบเข้ามหาวิทยาลัย

หมดยุคการศึกษาแบบเหมาโหล เตรียมพร้อมพลเมืองสู่ศตวรรษที่ 22

UploadImage



“ความศิวิไลซ์เป็นการแข่งขันระหว่างการศึกษากับความหายนะ หากปรารถนาให้การศึกษาชนะ เราต้องเร่งเปลี่ยนแปลงโรงเรียนของเราอย่างเร่งด่วน”

 



H. G. wells นักเขียนชาวอังกฤษกล่าวไว้ว่า ความศิวิไลซ์เป็นการแข่งขันระหว่างการศึกษากับความหายนะ หากปรารถนาให้การศึกษาชนะ เราต้องเร่งเปลี่ยนแปลงโรงเรียนของเราอย่างเร่งด่วน ระบบการศึกษาส่วนใหญ่ทั่วโลกกำลังถูกปฏิรูป แต่มันยังไม่เพียงพอ อันที่จริงแล้วเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหลักการและกระบวนการการศึกษาสาธารณะอย่างสิ้นเชิง
 

เซอร์เคน โรบินสัน นักการศึกษาชาวอังกฤษอธิบายประเด็นนี้ไว้ว่า มนุษย์และโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ อันเนื่องมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากรและความบีบคั้นจากทรัพยากรที่มีจำกัด และความสัมพันธ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ระหว่างมนุษย์และความก้าวล้ำด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความท้าทายมากมายที่เป็นผลโดยตรงจากความโกลาหลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งยังคงสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก “ณ วันนี้ ชนรุ่นเราและรุ่นที่เราให้การศึกษาต้องรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น ปัญหาก็คือระบบการศึกษาได้หยั่งรากลงในคุณค่าและวิถีทางของลัทธิอุตสาหกรรมนิยม ซึ่งเราไม่สามารถจะพัฒนาให้ระบบนี้มีประสิทธิภาพไปกว่านี้ ทางออกที่เหมาะสมก็คือเราต้องการกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการศึกษา”


ระบบอุตสาหกรรมการศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญกับความต้องการของแต่ละบุคคล หากแต่มุ่งเน้นมาตรฐานที่เหมือนๆ กันในหลักสูตร วิธีการสอน และการวัดประเมินผล ประเทศชาติมักมองนักเรียนเป็นเสมือนวัตถุดิบและผลลัพธ์ทางสถิติ กระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษาที่เห็นคุณค่าในพรสวรรค์ของนักเรียนมิได้เป็นเพียงเรื่องทฤษฎีในอุดมคติ แต่ได้เกิดขึ้นแล้วเป็นรูปธรรมที่โรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งหนึ่งของอังกฤษ จากการพัฒนาและพิสูจน์แนวคิดของริชาร์ด เกอร์เวอร์ (Richard Gerver) ซึ่งเป็นทั้งนักคิด นักพูด และนักการศึกษา



ปฏิรูปการศึกษา เพื่อพลเมืองของศตวรรษที่ 22
 UploadImage
เกอร์เวอร์ กล่าวว่า “การศึกษาที่พวกเราคุ้นเคยมาตลอดนั้นถูกผลักดันด้วยวิธีคิดแบบอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ ระบบ และนโยบายระยะสั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อนาคตที่ลูกหลานเราจะใช้ชีวิต เราต้องไม่ลืมว่าเด็กที่เกิดขึ้นมาในวันนี้ไม่ใช่เป็นแค่พลเมืองของศตวรรษที่ 21 แต่เขาจะกลายเป็นคนของศตวรรษที่ 22 ด้วย ดังนั้น คำถามแรกที่ควรถามก็คือ เด็กของเราจำเป็นต้องเติบโตไปเป็นคนแบบไหน ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อให้พวกเขามีชีวิตอยู่รอด แต่เพื่อให้พวกเขาเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็งในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งแบบทวีคูณ เราควรตั้งคำถามนี้กับบรรดานักการศึกษา ผู้นำธุรกิจ องค์กรการกุศลหรือองค์กรทางสังคม ชุมชนด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ กลุ่มกีฬา ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในสังคม และควรถามกลับมายังตัวเองด้วยว่าแล้วเรากำลังทำอะไรเพื่อช่วยตอบคำถามนี้”
 

เขายังวิพากษ์ระบบการทดสอบนานาชาติอย่างเช่น PISA (Programme for International Student Assessment) ว่าไม่ใช่เครื่องมือวัดผลที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม แต่เป็นการวัดผลสถานภาพของสิ่งซึ่งเป็นอยู่ สิ่งที่ตามมาหลังจากการนำผลประเมินไปใช้จึงเป็นเพียงแค่มาตรการระยะสั้นที่มุ่งสร้างระบบที่สมบูรณ์แบบแต่มักจะล้าสมัย รายงานของ OECD ประจำปี 2013 บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าประเทศซึ่งมีค่านิยมฝังหัวอยู่กับใบปริญญาหรือคุณวุฒิทางการศึกษามักจะเป็นประเทศซึ่งคนหนุ่มสาวมีชีวิตอยู่ในสถานที่ทำงานที่มีบรรยากาศทันสมัยแต่กลับมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ไม่เหมาะสมไปจนถึงย่ำแย่ที่สุดในการใช้งาน
 UploadImage
เกอร์เวอร์ เชื่อว่า เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองตั้งแต่เกิด พวกเขาเรียนรู้ที่จะมอง ฟังเสียง ดมกลิ่น รับรู้ประสาทสัมผัส หัดพูด และรู้จักเลียนแบบพฤติกรรม ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยมีใครสอนพวกเขาว่าการเรียนรู้คืออะไร และการเรียนรู้ต้องทำอย่างไร มันเป็นโลกที่น่าอัศจรรย์ แต่เมื่อเขาเข้าโรงเรียน ครูกลับบอกให้พวกเขาละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยสนใจเอาไว้หลังบานประตู แล้วบอกว่า “ครูจะสอนสิ่งที่สำคัญมากกว่า” ครูได้กำหนดเอาไว้หมดสิ้นว่าเด็กควรจะเรียนอะไรและถูกทดสอบเรื่องอะไร การศึกษาในระบบโรงเรียนได้กำจัดธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ออกไป และทำให้นักเรียนสูญสิ้นความสามารถในการควบคุมชีวิตตนเองและเดินออกจากระบบการศึกษาไปสู่โลกแห่งการงานด้วยความทุกข์ มีผลการวิจัยว่ากระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์กว่า 70 - 75% เกิดขึ้นนอกห้องเรียน ดังนั้นการศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องของการควบคุมแต่เป็นเรื่องการเสริมพลัง และงานของครูก็คือการเป็นผู้สร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่เหมาะสม




เปลี่ยนโรงเรียนยอดแย่ เป็นโรงเรียนยอดเยี่ยมของอังกฤษภายใน 4 ปี
 UploadImage
แนวคิดของเกอร์เวอร์ตกผลึกมาจากการศึกษาค้นคว้าและประสบการณ์โดยตรงจากการทำงานในฐานะครูใหญ่ บทพิสูจน์ที่สำคัญของเขาอยู่ที่โรงเรียนประถมศึกษาเกรนจ์ (Grange School) มณฑลดาร์บิเชียร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยตกอยู่ในสภาวะจวนเจียนที่จะล้มเหลว เด็กนักเรียน ครู และผู้ปกครองต่างก็หมดความเชื่อมั่นต่อการเรียนการสอน แต่ในฤดูร้อนปี 2001 โรงเรียนได้เริ่มต้นเดินทางสู่การปฏิรูปตัวเองโดยมี เกอร์เวอร์ ครูใหญ่คนใหม่นำพาให้โรงเรียนเกรนจ์ฟันฝ่าอุปสรรคตามทฤษฎีที่เขาพัฒนาขึ้น กระบวนการเรียนการสอนแบบใหม่ยึดเอาการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นหัวใจในการเปลี่ยนแปลง จนเมื่อถึงปี 2005 ความงอกงามก็บังเกิดขึ้น โรงเรียนประถมศึกษาเกรนจ์ได้รับการยอมรับว่า เป็นโรงเรียนที่มีความสร้างสรรค์และนวัตกรรมเยี่ยมยอดที่สุดแห่งหนึ่งในอังกฤษ วิกฤตการณ์อันเลวร้ายได้ผ่านพ้นไปด้วยคำ 3 คำ นั่นก็คือ การมีชีวิต “living” การเรียนรู้ “learning” และ เสียงหัวเราะ “laughing”
 

โรงเรียนเกรนจ์จึงสร้างสรรค์นโยบายการเรียนรู้รายบุคคลขึ้น เป็นการพัฒนาแนวทางที่เปิดโอกาสให้ครูได้วิเคราะห์นักเรียนทีละคนอย่างเป็นระบบ เกี่ยวกับพัฒนาการในการเรียนรู้และความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ต่อไปในอนาคต จุดเริ่มต้นนี้ทำให้โรงเรียนสามารถยึดเอานักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยพยายามหาจุดสมดุลระหว่างการเรียนรู้ทักษะกับการเรียนรู้เนื้อหาวิชา และสร้างเมืองจำลอง “เกรนจ์ตัน” ขึ้นในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดประสบการณ์ชีวิตที่กว้างขึ้น มีโอกาสนำทักษะที่ได้จากห้องเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งเกิดความเข้าใจเรื่องการเป็นพลเมือง เกรนจ์ตันถูกออกแบบให้เด็กๆ ต้องใช้ทักษะและการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา รู้จักวางกลยุทธ์ และสามารถใช้เทคโนโลยีอย่างคล่องแคล่ว เพื่อทำให้กิจการของพวกเขาเจริญก้าวหน้า
 

เมืองจำลองบริหารงานโดยสภานักเรียน สมาชิกสภาได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งของทุกๆ ห้องเรียน ส่วนประธานสภามาจากกระบวนการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งนักเรียนทุกคนจะออกเสียงเลือกหนึ่งในผู้ลงสมัครทั้ง 4 คน ในเมืองเกรนจ์ตันมีกิจการที่หลากหลายซึ่งเด็กๆ เป็นผู้ดำเนินการ ได้แก่ ร้านขายของ  ห้องสมุด คณะสำรวจสิ่งแวดล้อม คาเฟ่ภาษา พิพิธภัณฑ์ มีเดียเซ็นเตอร์ นักเรียนแต่ละกลุ่มได้รับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาซึ่งมีความร่วมมือกับโรงเรียน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สถานีโทรทัศน์และวิทยุบีบีซี หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ร้านค้า ASDA พิพิธภัณฑ์อีราวอช และบริษัทบัตรเครดิต EGG
 UploadImage
ในอังกฤษมีการถกเถียงครั้งใหญ่เกี่ยวกับความสมดุลระหว่างความรู้และทักษะ และหาคำตอบว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องสำหรับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและการเรียนรู้ คำตอบก็คือ ระบบการศึกษาต้องพัฒนาปัจเจกบุคคลที่มีความมั่นใจในตัวเอง มีความสร้างสรรค์ และรู้จักแก้ไขปัญหา เพื่อให้พลเมืองในอนาคตสามารถเอาตัวรอดได้บนโลกซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยเป็นมา โลกซึ่งเทคโนโลยีตกรุ่นตั้งแต่ยังไม่ถูกผลิต และโลกซึ่งโครงสร้างของการจ้างงานและการประกอบอาชีพเปลี่ยนไปเกินกว่าที่จะคาดถึง ด้วยเหตุนี้โรงเรียนจึงต้องสร้างบรรยากาศซึ่งเยาวชนสามารถปรับตัว แก้ไขปัญหา และตอบสนองอย่างสร้างสรรค์ต่อความท้าทายและประเด็นที่กว้างขวาง เพื่อไม่ให้เด็กๆ ถูกกักขังไว้ในกรอบเดิมๆ





ข้อมูลอ้างอิง



GRANGE PRIMARY SCHOOL
TK park อุทยานการเรียนรู้