สอบเข้ามหาวิทยาลัย

จากพี่ถึงน้อง 5 เรื่องต้องรู้ ก่อนก้าวเข้าสู่ชีวิตเด็กมหา’ลัย

ก่อนอื่นก็ขอแสดงความยินดีด้วยจ้า สำหรับน้องๆ ว่าที่นักศึกษาปี 1 ทุกคนและทุกสถาบัน ที่สู้อุตส่าห์ฟันฝ่าการอ่านหนังสือและการสอบสุดโหดของชีวิตวัยรุ่นม.ปลาย จนมาถึงฝั่งฝันแห่งมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้

แน่นอนว่าหลังจากดีใจและโล่งใจกันไปแล้ว จากนี้ต่อไปก็มีเรื่องมากมายรอน้องๆ อยู่เช่นกัน ซึ่งหลายคนก็อาจจะงงๆ และสงสัยว่า ชีวิตการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของเรานั้นจะแตกต่างกับตอนม.ปลาย แค่ไหน? แล้วมีเรื่องอะไรที่ต้องเจออีกบ้าง? และเราจะต้องเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมรับมือกับมันยังไงดี?

เอาล่ะ ตั้งสติให้ดี บทความนี้ พี่ๆ ได้รวบรวม ข้อคิดและคำแนะนำที่น่าจะเป็นประโยชน์มาไว้ให้น้องๆ ใช้เตรียมรับมือ และพร้อมก้าวไปเป็นเดอะเฟซ เอ๊ยยย เป็นเฟรชชี่ปี 1 ที่แสนสดใสและสตรองไปจนถึงรอบไฟนอลวอร์คได้ ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ!


1. เครื่องแบบและการแต่งกาย
เรื่องแรกที่ต้องเตรียมตัวเปลี่ยนก่อนเลยก็คือ เครื่องแบบนักศึกษา ชุดยูนิฟอร์มถูกระเบียบของหลายสถาบันก็อาจจะดูไม่แตกต่างจากชุดนักเรียนมัธยมมากนัก แต่ประเด็นคือ น้องปี 1 ต้องใส่ให้ถูกระเบียบมหาวิทยาลัยเพื่อความเรียบร้อยสวยงามอะไรก็ว่ากันไป

โดยน้องๆ สามารถหาซื้อชุดได้ที่ร้านค้ารอบมหาวิทยาลัย และถ้าจะให้ถูกระเบียบเนี้ยบแน่ๆ ก็ซื้อที่สหกรณ์หรือร้านค้าของมหาวิทยาลัยเลยดีที่สุด ซึ่งพี่ขอแอบกระซิบแนะนำน้องๆ ไว้นิดนึงว่า อย่าเพิ่งเบื่อเครื่องแบบมหาวิทยาลัยกันซะก่อน ขอให้ดื่มด่ำกับความสดใสและถูกระเบียบของปี 1 กันให้เต็มที่ เพราะมันมีแค่ปีเดียวและความสดใสนั้นมันจะผ่านน้องๆ ไปเร็วมากจนคาดไม่ถึง พอรู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นปีแก่และใกล้เรียนจบกันแล้ว จะไม่มีโอกาสได้ใส่มันอีกนะ (ยกเว้นว่าน้องจะเรียนหรือซิ่วใหม่อีกรอบ)


2. กิจกรรมดี กิจกรรมเด่น เน้นกิจกรรม
กิจกรรมดี กิจกรรมเด่น เป็นภารกิจหลักของน้องใหม่! คือเรื่องจริงค่ะ เพราะเมื่อน้องๆ ย่างก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันแรก ก็จะเจอกับสารพัดกิจกรรมทั้งนันทนาการและพิธีการ น้องจะต้องเตรียมร่างและตั้งสติให้พร้อมรับกิจกรรมที่เยอะขึ้นสิบเท่าของมัธยม

โดยเฉพาะน้องเฟรชชี่ปี 1 ที่จะต้องทำกิจกรรมรับน้องคณะ รับน้องสาขา กีฬาฯ น้องใหม่ กิจกรรมชมรม กิจกรรมพิธีการตามวันสำคัญ และอีกสารพัดสารพันรายการ จนอดคิดไม่ได้เลยว่า “นี่เราเข้ามาเรียนต่อนะไม่ได้มาเข้าค่าย” 

แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ถือเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับชีวิตนักศึกษาของน้องๆ ได้เป็นอย่างดี ถ้าเรารู้จักการแบ่งเวลาและลำดับความสำคัญของแต่ละกิจกรรมไม่ให้กระทบการเรียน มันก็จะเป็นความทรงจำที่หาที่ไหนไม่ได้อีก กิจกรรมหลายอย่างจะทำให้น้องๆ มีทักษะการเข้า(ใจ) สังคม และช่วยให้รู้จักการบริหารจัดการตัวเองได้อย่างดี เอาล่ะ อย่าไปกลัว แค่สนุกไปกับมัน!!


3. การเรียนการสอน
อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่น้องๆ ต้องเจอและแน่นอนมันจะแตกต่างจากการเรียนในระดับมัธยมไปตลอดกาล เพราะรูปแบบการเรียนของมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่แค่การนั่งรอฟังครูประจำชั้นหรือครูรายวิชามาสอนในห้องเท่านั้น

น้องๆ ปี 1 จะได้จัดตารางเวลาเรียนเอง และวันหนึ่งจะต้องเรียนวันละหลายชั่วโมง อย่างต่ำก็วิชาละชั่วโมงครึ่ง ซึ่งการเรียนก็มีทั้ง แบบเลคเชอร์ (นั่งฟังอาจารย์บรรยายหรือ Talk Show แลกเปลี่ยนความคิดกันในห้องใหญ่กับเพื่อนอีกร้อยคน หรือห้องเล็กๆ กับเพื่อนสาขา) เรียนแลป (เรียนในห้องทดลอง อุปกรณ์ครบครัน มันส์ครบรส) รวมถึงออกฟิลด์หรือปฏิบัติภาคสนาม ก็เป็นรูปแบบการเรียนที่เมื่อก้าวเข้ามหาวิทยาลัยมาแล้ว น้องๆ ต้องรีบปรับตัวกันให้เร็ว

และอีกหนึ่งสิ่งที่จะทำให้น้องๆ มึนและหัวร้อนไม่แพ้กันคือ การเดินหาห้องเรียน เพราะน้องจะไม่ได้เรียนที่ตึกคณะอย่างเดียว บางวิชาจะต้องเรียนรวมกับเพื่อนคณะอื่น ก็ต้องวิ่งไปเรียนที่อีกตึกหนึ่งสลับไปมา นอยู่กับวิชาที่เราลงเรียนนั่นเอง นอกจากต้องเผื่อเวลาเดินหาห้องเรียนเเล้ว อย่าลืมฟิตแรงขาไว้เดินหาห้องและตึกเรียนด้วยนะ


4. การสอบ สอบ และ สอบ
พูดถึงการเรียนไปแล้ว จะไม่ให้พูดถึง "การสอบ" ได้อย่างไร กาสอบคือสิ่งที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เริ่มเรียนหัดเขียนหนังสือ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันคือเครื่องชี้วัดความเข้าใจในการเรียนของเรา โดยวิธีการสอบที่น้องๆ จะได้เจอในระดับมหาวิทยาลัยก็มีหลายหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความสามารถและกลวิธีของอาจารย์แต่ละท่าน (รับรองว่าไม่หมูแน่ๆ) ทั้งข้อสอบปรนัย อัตนัย และการปฏิบัติ

แต่ส่วนใหญ่ข้อสอบที่น้องๆ ต้องเจอคือ ข้อสอบอัตนัยหรือข้อเขียน ไม่ใช่เขียน 2-3 บรรทัดนะ เรียกกันเป็น 2-3 หน้ากระดาษอย่างต่ำเลยจ้าาา ความรู้อะไรมีในหัวก็คัดกรองมันออกมาให้หมด เขียนพรรณนาให้อาจารย์อ่านเข้าใจและเก๊ทว่า เออ เรามีเหตุมีผล มีความรู้ตามที่เขียนจริงๆ (ถึงจะไม่ค่อยแม่นแต่ก็ประมาณนั้นนะอาจารย์) ขอเตือนเลยว่า สำหรับน้องๆ คนไหนที่ไม่ชอบการเขียนบรรยาย หรือไม่ถนัดการเขียนสรุปความเรียง ก็เตรียมฝึกเขียนกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เลย จะช่วยชีวิตน้องได้มากกกกกก


5. ปรับทัศนคติ(ตัวเอง) แม้จะมีชีวิตอิสระ แต่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น
เมื่อเริ่มเข้าสู่ชีวิตเด็กมหา’ลัย ก็เท่ากับน้องๆ ได้กำลังก้าวไปสู่วัยผู้ใหญ่ ดังนั้น น้องจะต้องตั้งสติและรับผิดชอบตัวเองให้ดี ต้องมีสติและปรับทัศนคติให้กว้างไกล รู้ตัวว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควรทำ ไม่ควรทำ คิดถึงอนาคตและสิ่งที่จะตามมา จงคิดเสมอว่า ทุกอย่างเราเลือกเองได้ ไม่ควรทำในสิ่งที่ต้องมาเสียใจในภายหลัง

เพราะน้องๆ หลายคนใฝ่ฝันที่จะโบยบินและใช้ชีวิตอย่างอิสระตามเส้นทางของตัวเองหลังเรียนจบมัธยม แต่ก็อย่าลืมว่าความอิสระเหล่านั้นมาพร้อมกับการจากบ้านอันแสนสุขมาใช้ชีวิตในอีกสถานที่หนึ่ง ต้องย้ายมาอยู่หอ ไม่มีใครคอยคอยดูแลเหมือนเคย ต้องพึ่งพาและทำอะไรหลายอย่างด้วยตัวเองมากขึ้น เช่น ตื่นไปเรียน หาร้านอาหารทานเอง จัดการเรื่องส่วนตัวและธุรกรรมต่างๆ ด้วยตัวเองแทบจะทุกอย่างก็ว่าได้ น้องๆ อาจเจอแก๊งค์เพื่อนๆ พาไปเที่ยวเล่น ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนั้น การเรียนการสอนของอาจารย์ส่วนใหญ่จะเป็นการแนะแนวให้น้องๆ ไปศึกษาค้นคว้าหาความรู้พิ่มเติมด้วยตัวเอง จะไม่มีใครมาเคี่ยวเข็ญให้เราอ่านหนังสือหรือส่งงานอีกต่อไป เราจึงมีชีวิตที่อิสระมากกกก แต่ก็อย่าเผลอให้ตัวขี้เกียจมาครอบงำเราได้ ช่วงปี 1 นี้ อาจทำให้หลายๆ คนเกรดน้อยเพราะบริหารเวลาไม่ถูก ก็ต้องระวังกันไว้ให้ดี


จากทั้ง 5 ข้อที่ผ่านมา แน่นอนว่า การก้าวเข้าสู่ชีวิต “เด็กมหา’ลัย” จะเปลี่ยนชีวิตน้องๆ ไปอย่างสิ้นเชิงในทุกๆ ด้าน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเตรียมสติให้พร้อม อย่าลืมจัดระเบียบชีวิตตัวเอง และจัดลำดับความสำคัญให้ดีว่าเรื่องไหนควรทำก่อน เรื่องไหนควรละไว้

เพราะชีวิตมหา'ลัย ไม่มีใครมาคอยสั่งหรือคอยบอกทางให้เราทุกขั้นที่เดิน ฉะนั้น จงตั้งสติและอย่าเผลอไผลปล่อยใจจนเกินเลยไปนะจ๊ะ สุดท้ายก็หวังว่าน้องๆ จะเอาข้อคิดต่างๆ ข้างบน นำไปปรับตัวและใช้ตั้งหลักรับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุขตามที่หวังนะ โชค A จ้า