สอบเข้ามหาวิทยาลัย

9 เทคนิค จดโน้ตยังไงให้สนุกและใช้สอบได้ผลปังๆ!


การจดโน้ตหรือจดเลคเชอร์ คือหลักการสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัยในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งก็มีน้องๆ หลายคนที่ยังไม่รู้วิธีการจดโน้ตที่ดี จดแบบรีบๆ ทำให้พอกลับมาอ่านทบทวนก็ดันมีแต่น้ำไม่มีเนื้อหาใจความสำคัญที่เป็นประโยชน์ซักเท่าไหร่ หรือบางครั้งโน้ตที่จดมาก็อ่านแทบไม่รู้เรื่อง ทั้งๆ ที่เราเป็นคนจดเอง

แต่อย่ากังวล ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปแน่นอน ถ้าน้องๆ ได้อ่าน 9 เทคนิคการจดโน๊ตและเลคเชอร์ยังไงให้สนุกและใช้ได้ผลจริง ที่เราจะมาแนะนำต่อไปนี้ รับรองว่าน้องๆ จะได้โน๊ตเลคเชอร์ที่สวยงาม และสามารถนำไปใช้อ่านทบทวนเพื่อเตรียมสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ เอาล่ะ มาเริ่มเลคเชอร์กันเลย! 


1. ตั้งใจฟังให้ดีก่อนจด
ถึงแม้คาบเรียนวิชานั้นจะน่าเบื่อแค่ไหนก็ตาม ขอให้น้องๆ อดทนและพยายามตั้งใจฟังให้ชัดเจนที่สุด เพราะเลคเชอร์ที่ได้จากการบรรยายสดๆ ย่อมดีกว่าโน๊ตที่ได้จากการขอดูของเพื่อนทีหลังผ่านสื่ออื่นๆ เวลาที่เบื่อหรือเริ่มไม่มีสมาธิ ให้น้องๆ คิดไว้เสมอว่า ยิ่งเราตั้งใจฟังมากเท่าไหร่ ก็ไม่ต้องเสียเวลาทบทวนตามหลังมากเท่านั้น



2. อย่าจดทุกคำ เน้นแค่ Keyword
เชื่อว่ามีน้องๆ หลายคนชอบจดตามคำพูดของอาจารย์แทบทุกคำทุกประโยค แต่อยากจะบอกน้องๆ เหลือเกินว่า การจดตามทุกคำพูดนั้น นอกจากจะเสียเวลามากๆ แล้ว ยังทำให้พลาดใจความสำคัญที่เป็นประโยชน์ไป ดังนั้น สิ่งที่น้องควรทำคือ จดเฉพาะบางประโยคที่เป็น Keyword หรือ หัวใจสำคัญของเนื้อหาที่อาจารย์บรรยายก็พอ เช่น อาจารย์กำลังพูดถึงเรื่องอะไร เขียนไว้ตัวใหญ่ๆ เรื่องเริ่มต้นจากไหน มีลำดับที่มาที่ไปต่อจากนั้นอย่างไร และสรุปใจความเป็นอย่างไร เป็นต้น



3. ใช้องค์ประกอบ Hilight - ตัวอักษรเล็ก/ใหญ่ - ขีดเส้นใต้ - ตัวย่อ. - ภาพ/สัญลักษณ์
การจดเลคเชอร์เป็นเรื่องของความเร็วและการทำความเข้าใจ ดังนั้น อย่าลืมว่าเวลาที่น้องๆ จดโน๊ตส่วนใหญ่จะจดตามคำพูด ประโยคหรือคำไหนใช้ตัวย่อหรือสัญลักษณ์ได้ก็ควรใช้เพราะจะช่วยเราประหยัดเวลาได้มาก และการทำเครื่องหมาย การใช้รูปภาพ หรือใช้สัญลักษณ์แทนคำต่างๆ ลงในโน้ตนอกจากจะช่วยประหยัดเวลาแล้ว ยังช่วยกระตุ้นความทรงจำของเราได้ง่ายเมื่อเรากลับมาอ่านโน๊ตอีกครั้ง นอกจากนี้ การใช้องค์ประกอบดังกล่าวยังช่วยแยกลำดับของประเด็นต่างๆ ได้ดีอีกด้วย



4. ถ้าจดไม่ทัน ให้เว้นที่ว่างเอาไว้
ปัญหานี้เชื่อว่าทุกคนต้องเจอแน่นอน เวลาต้องฟังครูอธิบายเรื่องไหนเร็วๆ หรือซับซ้อน วิธีแก้ก็ง่ายๆ คือ หากมีช่วงไหนหรือจุดไหนของเลคเชอร์ที่น้องฟังหรือจดตามไม่ทัน หรืออาจยังไม่เข้าใจเนื้อหาเรื่องนั้นเท่าไหร่ ให้เว้นที่ว่างตรงช่วงนั้นเอาไว้ เพื่อมาเติมรายละเอียดในภายหลัง แทนที่จะมัวเสียเวลาหาคำตอบเดียวนั้นจนทำให้พลาดการจดเลคเชอร์ในส่วนอื่นๆ



5. กำจัดสิ่งรบกวนสมาธิ
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้น้องๆ จดเลคเชอร์ไม่รู้เรื่อง ขาดตอน หรือประเด็นต่างๆ ไม่เรียงลำดับ ก็คือการเสียสมาธิจากสิ่งรอบข้าง ดังนั้น ก่อนเข้าเรียนเราควรกำจัดสิ่งรบกวนเหล่านั้นออกไป เช่น ปิดเสียงมือถือเพื่อไม่ให้เสียงการแจ้งเตือนจากแอพฯ ต่างๆ มารบกวน หรือการที่เพื่อนชวนคุยขัดจังหวะ หรือแม้แต่เราไปขัดจังหวะเพื่อนเอง ก็เป็นอีกเรื่องที่เราควรบอกกันเอาไว้ก่อนเข้าเรียน เป็นต้น 



6. ทบทวนและพิมพ์เลคเชอร์เก็บไว้ทันทีเมื่อมีเวลา
หลังจากเลิกเรียนวิชานั้นหรือมีช่วงเวลาพัก ให้น้องๆ อ่านทบทวนเลคเชอร์ที่จดไว้ทันที หลังจากนั้นก็พิมพ์โน๊ตเก็บเอาไว้เป็นการทบทวนไปในตัว เพราะการอ่านเลคเชอร์ขณะที่เรายังมีความเข้าใจหรือความทรงจำในคาบเรียนนั้นใหม่ๆ จะทำให้เลคเชอร์ของเรามีเนื้อหาสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเลคเชอร์ที่พิมพ์เก็บไว้ก็ทำให้อ่านง่ายเวลากลับมาอ่านอีกรอบ แถมยังถือเป็นการสำรองข้อมูลไปในตัวหากสมุดที่เราจดเปื้อนหรือขาดหายไป



7. แชร์โน๊ตหรือเลคเชอร์กับเพื่อน
แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถจดทันทุกเรื่องทุกประเด็น โดยเฉพาะเมื่อเป็นคลาสถามตอบ ดังนั้น การแลกเลคเชอร์หรือแบ่งปันเลคเชอร์กับเพื่อนร่วมชั้น จะทำให้น้องๆ ได้เนื้อหาสมบูรณ์ขึ้นในส่วนที่เราจดไม่ทัน และอาจช่วยให้เราเข้าใจในเนื้อหามากขึ้นจากเลคเชอร์ของเพื่อนที่ถนัดวิชานี้ หรือคนที่อาจจดเนื้อหาใจความสำคัญมาได้ครบกว่านั่นเอง



8. หาสไตล์การจดที่ใช่สำหรับเรา
แม้ว่าจะมีวิธีการจดโน้ตหรือเลคเชอร์ดีๆ มากมาย แต่ไม่มีเทคนิคไหนที่จะเหมาะกับเราทุกคนเหมือนกัน ดังนั้น น้องๆ ต้องหาสไตล์หรือรูปแบบการจดที่ตัวเองชอบและทำออกมาได้ดี เช่น เราอาจจะเป็นคนที่ถนัดการจดเลคเชอร์ด้วยการมีภาพวาดประกอบในโน๊ต หรือถนัดใช้อักษรย่อมากกว่าการเขียนประโยคสั้นๆ ดังนั้น การค้นหาสไตล์การจดที่เราถนัดจะเป็นตัวช่วยให้เราทำความเข้าใจและสนุกกับการจดเลคเชอร์ได้มากทีเดียว



9. ใช้ตัวช่วยบันทึกเสียง
สุดท้าย ถ้าหากน้องๆ เป็นคนที่เขียนช้า ก็อาจต้องใช้ตัวช่วยเพื่อกันพลาดด้วยการใช้มือถือหรือเครื่องบันทึกเสียงเอาไว้ แต่อย่าคิดว่าจะใช้การบันทึกเสียงเป็นข้ออ้างในการไม่ตั้งใจเรียนนะ เพราะการบันทึกเสียงนั้นเป็นเพียงตัวช่วยในกรณีที่เราอาจพลาดรายละเอียดบางอย่างไปขณะเรียน แต่ใจความสำคัญหรือประเด็นของเนื้อหาที่เราต้องฟังและทำความเข้าใจเองจากการเข้าเรียนยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด 



ข้อมูลจาก :
How To Memorize Things Quicker Than Other People
www.ohlor.com